โออิชิกรุ๊ปสปีดรายได้ไทย-เทศ ต่อยอด “อาหาร-เครื่องดื่ม” ดันธุรกิจโต-

โออิชิเร่งสปีดโต เล็งแตกแคทิกอรี่ใหม่ ขยายตลาดไทยเทศรอบทิศ ย้ำภาพเบอร์หนึ่งอาหาร-เครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่น โฟกัสตลาดพรีเมี่ยมเจาะกลุ่มพร้อมจ่าย รุกหนักเครื่องดื่มซีแอลเอ็มวี

เข้าใกล้ปี 2563 ที่เป็นหมุดหมายตามวิสัยทัศน์ 2020 ของเครือไทยเบฟเวอเรจ เข้ามาทุกที “โออิชิ กรุ๊ป” เป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญของกลุ่มธุรกิจน็อนแอลกอฮอล์ จึงต้องหาสารพัดกลยุทธ์ เพื่อสร้างการเติบโต ทั้งเซ็กเมนต์-แคทิกอรี่ใหม่ ๆ เพิ่มสปีดการขยายธุรกิจในต่างประเทศ

เร่งสปีดรอบทิศ

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โออิชิเป็นแรงสำคัญของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่จะช่วยให้เครือไทยเบฟมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจน็อนแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายในปี 2563 ตามวิสัยทัศน์ 2020

โดยบริษัทจะเร่งสร้างการเติบโตทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของภูมิภาคอาเซียนภายใน 3 ปี และมีแผนบาลานซ์พอร์ตโฟลิโอด้วยการเพิ่มขาธุรกิจในกลุ่มของโออิชิมากขึ้น โดยเน้นอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่นเป็นหลัก

สำหรับยอดขายในปีบัญชี 2560 ที่ผ่านมา (ต.ค. 59-ก.ย. 60) ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย โดยธุรกิจเครื่องดื่ม ยอดขาย 7,054 ล้านบาท ลดลง 0.4% ขณะที่ร้านอาหาร 6,497 ล้านบาท ลดลง 0.8% จากบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยที่ชะลอตัว แต่กำไรยังเติบโตดีจากการบริหารต้นทุนภายใน ปีนี้มองการเติบโตอย่างมั่นคงด้วยการรักษาคุณภาพสินค้า-บริการ หาโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคในรูปแบบใหม่ ๆ เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้คนมากขึ้น

โฟกัสเซ็กเมนต์พรีเมี่ยม

ขณะที่นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้ดการ สายงานธุรกิจอาหาร โออิชิกรุ๊ป กล่าวว่า ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยมูลค่ากว่า 21,000-22,000 ล้านบาท ปีที่ผ่านมาเติบโตไม่ถึง 10% แต่ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เมื่อเทียบกับอาหารต่างชาติประเภทอื่น ๆ ซึ่งวันนี้ผู้บริโภคคุ้นเคยกับรสชาติและประสบการณ์แบบญี่ปุ่นมากขึ้น ร้านอาหารญี่ปุ่นของโออิชิจึงให้ความสำคัญกับเมนูและบริการแบบญี่ปุ่นมากขึ้น

นอกจากนี้จะโฟกัสร้านอาหารญี่ปุ่นเซ็กเมนต์พรีเมี่ยม โดยเฉพาะร้านในรูปแบบอะลาคาร์ต ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยกว่าพันบาทต่อคน เจาะผู้บริโภคที่พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อความคุ้มค่า สนใจภาพลักษณ์ที่ดี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนผ่านเรื่องมิชลินสตาร์ ที่คนไทยมีความรู้ความเข้าใจกับกลุ่มอาหารพรีเมี่ยมมากขึ้น ซึ่งแบรนด์ใหม่ ๆ มองทั้งพัฒนาเองและนำเข้ามาจากต่างประเทศ คาดว่าจะได้เห็นสาขาแรกภายในครึ่งปีแรกนี้

“ร้านระดับพรีเมี่ยมไม่เน้นการมีสาขามาก แต่ต้องมีความต่าง และพรีเมี่ยมจริง ๆ เพื่อดึงกลุ่มเป้าหมาย”

พร้อมกันนี้ยังเตรียมเปิดสาขาในต่างประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มซีแอลเอ็มวี จากปัจจุบันมี 2 สาขาในย่างกุ้ง อยู่ระหว่างพูดคุยกับที่ลาว กัมพูชา และกำลังศึกษาตลาดในเวียดนาม มีโอกาสเห็นทั้งในรูปแบบแฟรนไชส์หรือร่วมทุน

เพิ่มโอกาสการขาย

นางกชกร อรรถรังสรรค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สายงานธุรกิจอาหาร โออิชิกรุ๊ป กล่าวว่า กลยุทธ์หลักของกลุ่มธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน หรือแพ็กเกจฟู้ด คือสินค้าใหม่ที่เพิ่มความพรีเมี่ยมมากขึ้น เช่น ใช้ชีสฮอกไกโดแทนชีสธรรมดาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า รวมทั้งการมีรสชาติหลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค พร้อมกับเจาะเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้นผ่านการกระจายไปตามช่องทางขายต่าง ๆ ทำสินค้าที่สามารถบริโภคได้หลากหลายโอกาสเพื่อเพิ่มโอกาสขาย และให้ความสำคัญกับการส่งออกจากความพร้อมของโรงงานที่ได้รับมาตรฐานต่าง ๆ รองรับการส่งออกไปได้ในหลายพื้นที่ ซึ่งกำลังจะส่งออกไปที่ลาว และอังกฤษ เพิ่มจากปัจจุบันที่มีการส่งออกไปแล้วที่เยอรมนี ฝรั่งเศส เมียนมา กัมพูชา ฯลฯ

“ยอดขายของแพ็กเกจฟู้ดยังเล็กอยู่ แต่เป็นอีกโอกาสโตของโออิชิ กรุ๊ป เพราะตลาดอาหารแช่แข็ง แช่เย็น โตทุกปี จากครอบครัวขนาดเล็กที่มีมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการอาหารที่กินง่าย รวดเร็ว ที่มีประโยชน์ครบถ้วน ตอนนี้ในไทยการบริโภคแพ็กเกจฟู้ดต่อคนต่อปียังไม่สูง แต่พฤติกรรมเริ่มเปลี่ยน ตลาดยังโตได้อีกมาก”

บุกหนักต่างประเทศ

ด้านนางเจษฎากร โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม โออิชิ กรุ๊ป ระบุว่า ตลาดชาเขียวมูลค่ากว่า 16,000 ล้านบาท ปีที่ผ่านมาหดตัวกว่า 6% ซึ่งคาดว่าสภาพตลาดรวมในปีนี้จะทรงตัวจากปีก่อน หรืออาจลดลงจากเดิม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเรื่องภาษีสรรพสามิตที่ทำให้ราคาขายชาเขียวในตลาดปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี และทำให้การบริโภคในตลาดชะลอตัวไป

ดังนั้น โออิชิจึงมีแผนรับมือด้วยการออกสินค้าใหม่ที่มีนวัตกรรม เน้นกลุ่มชาเขียววุ้นมะพร้าวที่ได้รับการตอบรับที่ดี พร้อมทั้งออกแคมเปญมาดึงความสนใจไปจากเรื่องราคา กิจกรรมต้องพิเศษมากขึ้น จูงใจยิ่งขึ้น เช่น ลุ้นทริปท่องเที่ยวในรูปแบบพิเศษ แต่ไม่จัดถี่ หรือจัดชิงโชคที่จะสร้างดีมานด์เทียมขึ้นมา รวมทั้งเร่งทำแคมเปญหน้าร้อนไวขึ้น เริ่มทำตั้งแต่กลางกุมภาพันธ์ ปลุกตลาดรับโอกาสขายซัมเมอร์ที่เป็นอีกช่วงสำคัญของธุรกิจเครื่องดื่ม

“ภาษีความหวานยังไม่ได้มีผลกับราคาชาเขียวตอนนี้ แต่การพัฒนาสินค้าที่มีน้ำตาลน้อยลงก็ต้องมีออกมารองรับ สูตรเดิมก็ยังต้องมีอยู่ แต่ต้องหาอะไรใหม่ ๆ มาเป็นทางเลือกด้วย”

ขณะนี้โออิชิมีส่วนแบ่งตลาดชาเขียวกว่า 46% เป็นผู้นำในทุกช่องทางขาย โต 5% ต่อจากนี้จะยังรุกหนักเพื่อรักษาตลาดในประเทศในฐานะผู้นำ

เน้นเรื่องนวัตกรรมสินค้าที่จะดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาบริโภค พร้อมกับมุ่งบุกต่างประเทศมากขึ้น ฟอร์มทีมเข้าไปทำตลาดอย่างจริงจัง


โดยจะเริ่มเข้าไปทำตลาดในเมียนมา จากก่อนหน้านี้เข้าไปในลาว กัมพูชา และได้รับการตอบรับที่ดี ส่วนเวียดนามอยู่ระหว่างศึกษาตลาด