Darkest Hour พลิกโลกด้วยวาทศิลป์-

Darkest Hour ชั่วโมงพลิกโลกภาพยนตร์ดราม่า ผลงานผู้กำกับ โจ ไรต์ (Joe Wright) เขียนบทโดย แอนโทนี่ แม็กคาร์เทน (Anthony McCarten) นำแสดงโดย แกรี่ โอลด์แมน (Gary Oldman) ที่เพิ่งคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำ 2018 มาหมาด ๆ

Darkest Hour เป็นเรื่องราวของ วินสตันเชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ นำเสนอช่วงเวลาหนึ่งเดือนแรกที่เชอร์ชิลล์รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาอันมืดมิดของอังกฤษและยุโรป เพราะเกือบทั้งแผ่นทวีปยุโรปเป็นสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังพ่ายแพ้เยอรมนี และกองทัพนาซีของฮิตเลอร์กำลังจะบุกเกาะอังกฤษ

เชอร์ชิลล์เจอทั้งศึกนอกคือสงครามโลก และศึกภายในพรรคของเขาเอง เนื่องจากเขาไม่ใช่คนที่สมาชิกพรรคสนับสนุน แต่ได้ขึ้นมารับตำแหน่งนายกฯ เพราะดันเป็นคนเดียวในพรรคที่ ส.ส.นอกพรรคยอมรับ

ภารกิจแรกของเชอร์ชิลล์คือประกาศว่าจะหาทางออกของวิกฤตสงครามนี้อย่างไร

ปีที่แล้วหนังเรื่อง Dunkirk ของผู้กำกับคริสโตเฟอร์ โนแลน นำเสนอเรื่องราวชีวิตของกองทัพทหารที่ชายหาดดันเคิร์ก ประเทศฝรั่งเศส ส่วน Darkest Hour เป็นการนำเสนออีกด้านหนึ่งของสถานการณ์ที่จะทำให้เห็นว่า บนเกาะอังกฤษในช่วงเวลาอันมืดมิด เชอร์ชิลล์ต้องต่อสู้หนักขนาดไหนเพื่อช่วยชีวิตทหาร 300,000 นาย และหาหนทางให้อังกฤษไม่ต้องเป็นผู้แพ้สงคราม

ขณะที่ทุกคนในคณะรัฐมนตรีสงครามกำลังยอมรับชะตากรรมความพ่ายแพ้ อยากเจรจายุติสงครามกับเยอรมนี เชอร์ชิลล์เป็นคนเดียวที่ยืนกรานว่า “ไม่” เขาจึงใช้คำพูดจุดไฟและหาหนทางต่อสู้ แม้ทุกคนจะบอกว่า เขาหลอกตัวเอง

เราเคยได้ยินกันมาว่า “การกระทำเสียงดังกว่าคำพูด” แต่ Darkest Hour ทำให้เห็นว่า วินสตัน เชอร์ชิลล์ ใช้คำพูดผลักดันให้เกิดการกระทำซึ่งกลายเป็นวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ และการยืนกรานของเขาก็นำมาซึ่งชัยชนะ อย่างที่ถูกเขียนไว้ในประวัติศาสตร์

“เขาใช้คำพูดเป็นอาวุธ แล้วส่งมันออกไปรบ” เนวิลล์ เชมเบอร์เลน อริร่วมพรรคกล่าวและจำใจยอมรับแนวทางของเชอร์ชิลล์

แม้จะเป็นหนังที่มีตัวละครเยอะ แต่ก็พูดได้ว่า Darkest Hour เป็นหนังแบบ “การแสดงเดี่ยว” ของแกรี่ โอลด์แมน เขาถ่ายทอดตัวตนของวินสตัน เชอร์ชิลล์ ออกมาอย่างทรงพลังจนน่าทึ่ง ในหนังหลายเรื่องที่มีตัวละครเพียงตัวเด่นตัวเดียว ที่เหลือเป็นตัวประกอบที่ไม่ค่อยมีบทบาท ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตัวละครนั้นจะโดดเด่นแบบฉายเดี่ยว แต่ในเรื่องนี้แกรี่ โอลด์แมนโดดเด่นท่ามกลางตัวละครอื่น ๆ ที่มีบทบาทในเรื่องพอสมควรและฝีมือการแสดงไม่มีใครด้อย

ด้วยความที่ในชีวิตจริง วินสตัน เชอร์ชิลล์ เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร และเขียนหนังสือ เขียนบทกวี ฉะนั้นเขามีทั้งความเข้มแข็ง

แข็งกร้าว มีความขึงขังดุดันแบบทหาร แต่ก็มีวาทศิลป์แบบนักเขียนที่ดึงดูดให้คนคล้อยตาม

และมีความอารมณ์ดี (เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย) แบบศิลปิน ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ของเชอร์ชิลล์ ทำให้หนังเรื่องนี้มีจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือบทสนทนา

โดยเฉพาะจากตัวละครเชอร์ชิลล์เอง ที่เอ่ยคำพูดชวนคิดและคมคายออกมาแทบทุกฉาก ซึ่งกว่าจะมาเป็นบทและไดอะล็อกที่เห็น

แม็กคาร์เทน ผู้เขียนบทได้ศึกษาค้นคว้าอย่างเข้มข้นจากสุนทรพจน์ของเชอร์ชิลล์ และบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรีสงครามของอังกฤษ

“ทำไมเราไม่เคยจำ จะต้องมีเผด็จการอีกสักกี่คนที่ถูกเอาอกเอาใจจนเคยตัว” คำพูดที่เชอร์ชิลล์ (ในเรื่อง) ใช้อธิบายเหตุผลที่เขายืนกรานไม่ยอมเจรจากับฮิตเลอร์ …เป็นคำถามชวนคิดที่น่าจะยังใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย