มุมคิด “เจ้า ก.แรงงาน” 6 ภารกิจเพื่อคนงานไทยสู่สากล-

หลังจากเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2560 ผ่านมา จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 3 เดือนที่ “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” มาประจำการ มีภารกิจสำคัญต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเร่งขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ทั้งการดูแลพัฒนาฝีมือแรงงานไทย การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้เข้าประเทศอย่างถูกกฎหมาย และภารกิจอื่น ๆ อีกมากมาย

สำหรับวันนี้ “พล.ต.อ.อดุลย์” ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ในการฉายภาพนโยบายอย่างมีความชัดเจนมากขึ้น ตั้งแต่นโยบายเร่งด่วน ไปจนถึงนโยบายระยะยาวที่จะใช้ขับเคลื่อนกระทรวงแรงงาน รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้การกำกับดูแล เพื่อสะท้อนถึงแนวทางการทำงานข้างหน้าอย่างมีพลวัต

“พล.ต.อ.อดุลย์” กล่าวว่าเรื่องเร่งด่วนเรื่องแรกคงหนีไม่พ้นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเรื่องนี้ ตามที่บอกไว้แล้วว่าแนวทางการดำเนินนโยบายหลักคือรัฐบาลจะดูแลทุกกลุ่ม ทั้งผู้ประกอบการ และแรงงาน เพื่อให้ลูกจ้างมีความเป็นอยู่ดีขึ้น นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอย่างมีกำไร ภาพรวมคือเศรษฐกิจประเทศจะต้องขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่อง

“ค่าจ้างแรงงานเราไม่ได้ขึ้นมา 3-4 ปีแล้ว จึงอยากพิจารณาเรื่องนี้เป็นพิเศษ และจะมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2561 ด้วย แต่กระนั้น เราต้องดูแลนายจ้างด้วย เพื่อให้พวกเขาขยายกิจการ และสามารถแข่งขันได้ ดังนั้น เมื่อรัฐบาลขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จึงต้องดูแลทั้งมาตรการเรื่องภาษี และราคาสินค้าในท้องตลาด เพราะการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะมีผู้ใช้แรงงานได้รับอานิสงส์กว่า 4 ล้านคน ส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจในประเทศจะเกิดการหมุนเวียน และขยายตัวดีขึ้น”

ส่วนนโยบายเร่งด่วนเรื่องถัดมาคือการขับเคลื่อนเรื่องการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว โดยกระทรวงแรงงานมีนโยบายชัดเจนในการให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยทุกคนทำงานแบบถูกต้องตามกฎหมาย เราจะดำเนินการออกมาตรการ และกฎหมายใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบ รวมทั้งการอำนวยความสะดวก และสนับสนุนประเทศต้นทางในการพิสูจน์สัญชาติให้แก่แรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติ (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา)

โดยมีการเปิดศูนย์บริการทำงานคนต่างด้าวจำนวน 15 แห่ง (กัมพูชา 3 แห่ง, ลาว 1 แห่ง, เมียนมา 11 แห่ง) เพราะปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว 1,105,398 คน คิดเป็นร้อยละ 55.3 ของจำนวนแรงงานที่ได้รับการผ่อนผันทั้งหมด 1,999,240 คน สำหรับส่วนที่เหลือกระทรวงแรงงานจะพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2561

“ขณะนี้มีแรงงานยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ 8 แสนกว่าราย เราได้ขยายเวลาไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2561 และจะเร่งให้เสร็จโดยเร็ว แต่ต้องบูรณาการกับประเทศต้นทาง อย่างกัมพูชา, ลาว และเมียนมา รวมทั้งบูรณาการกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง โดยมีกระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพ เราจะใช้รูปแบบเดียวกับกระทรวงต่างประเทศ โดยให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ เพื่อให้ขั้นตอนน้อย เร็ว สะดวก มีระบบคิว เพื่อตัดระบบนายหน้าออกไป”

สำหรับเรื่องด่วนที่สาม “พล.ต.อ.อดุลย์” กล่าวว่าการขับเคลื่อนการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ โดยกระทรวงมีการกำหนดความเข้มข้นในการตรวจแรงงาน เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำผิดกฎหมาย โดยผ่านการดำเนินการดังต่อไปนี้

1.การตรวจแรงงานในระบบ

2.การตรวจแรงงานในกิจการกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะในกลุ่มกิจการอ้อย, เครื่องนุ่งห่ม, กุ้ง, ปลา, ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีก, ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งห่วงโซ่การผลิต และกิจการก่อสร้าง

3.การตรวจแรงงานในเรือประมง โดยความผิดส่วนใหญ่ประกอบด้วยการค้างจ่ายค่าจ้าง, การไม่จัดวันหยุด, การไม่จัดทำข้อบังคับในการทำงาน, การไม่จัดทำทะเบียนลูกจ้าง และทะเบียนการจ่ายค่าจ้าง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้อง เปรียบเทียบปรับ และมีการดำเนินคดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ไม่เพียงแต่การดูแลแรงงานที่เข้ามาทำงานในไทย แรงงานไทยที่ออกไปทำงานยังต่างประเทศ นับว่ามีความสำคัญเร่งด่วนไม่แพ้กัน “พล.ต.อ.อดุลย์” กล่าวว่าต้องให้การดูแลทุกขั้นตอน ตั้งแต่เตรียมทักษะก่อนจะไปทำงาน จนถึงการเรียกร้องสิทธิ์จากนายจ้างเมื่อแรงงานเสียชีวิต

“ปัจจุบันแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศมีทั้งหมด 4 แสนกว่าราย พวกนี้ส่งเงินกลับมายังประเทศหลายแสนล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่อยู่ในไต้หวัน, ญี่ปุ่น, อิสราเอล เป็นต้น ต่อไปแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายคือระบบนายหน้าผิดกฎหมายต้องไม่มี เราต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงาน และพวกเขาจะต้องรู้กฎหมาย รู้ภาษา และขณะนี้เรามีทูตแรงงานอยู่ทั้งหมด 14 แห่ง ที่จะช่วยดูแลแรงงานขณะเจ็บป่วย ล้มตาย ดังนั้น หากแรงงานกลุ่มนี้ถูกต้องตามกฎหมาย จะยิ่งสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศมหาศาล”

อีกหนึ่งเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงแรงงานจะดำเนินการคือการแก้ไขปัญหาการว่างงาน จากข้อมูลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 มีผู้ว่างงานจำนวน 435,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 1.1 แนวทางที่กระทรวงใช้ในการแก้ไขปัญหาคือการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน, หาอาชีพเสริมเพื่อให้มีรายได้ช่วงว่างงาน และโครงการจ้างงานเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานในระยะสั้น

โดยจะให้ความสำคัญกับแรงงานที่เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ โดยกฎหมายจ้างงานรายชั่วโมง เพื่อให้สามารถจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้นนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอัตราค่าจ้างจากคณะกรรมการค่าจ้าง สำหรับในส่วนของกฎหมายมีการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว

“ส่วนการส่งเสริมการมีงานทำของนักเรียน นักศึกษา ช่วงปิดเทอม นโยบายนี้เราต้องการสร้างคน เพื่อให้เยาวชนใช้เวลาว่างเกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเราเน้นกลุ่มนักเรียนที่อายุ 15 ปีขึ้นไป พวกนี้จะได้รับค่าแรงวันละ 300 บาท สำหรับการทำงาน 7 ชม. ส่วนการดำเนินการจะเป็นรูปแบบการจัดหางานปกติคือมีผู้ประกอบการทั้งห้างร้านขนาดใหญ่ รวมทั้งนายจ้างในพื้นที่มาเสนอตำแหน่งงานว่าง เราดำเนินการทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งเป้ามีงานทำ 10,000 ตำแหน่ง”

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการส่งเสริมการทำงานในกลุ่มผู้พิการ, ทหารที่กำลังปลดประจำการ ซึ่งมีมากกว่าปีละแสนคน จากทั้ง 3 เหล่าทัพ และกลุ่มผู้ต้องขังที่กำลังจะพ้นโทษ “พล.ต.อ.อดุลย์” บอกว่าบุคคลทั้งหลายเหล่านี้ล้วนต้องได้รับการส่งเสริมการทำงานทั้งที่เป็นลูกจ้าง และงานส่วนตัว

“โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการที่กระทรวงแรงงานจะกวดขันในเรื่องของการดูแล สนับสนุนผู้พิการ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 1.8 ล้านคน เราจะดำเนินการให้นายจ้างต้องดำเนินการจ้างงานผู้พิการอัตรา 1 : 100 หรือแนวทางสนับสนุนอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และลดการว่างงานลงให้ได้มากที่สุด”

“ส่วนเรื่องที่ห้า การนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบหลักประกันสังคม เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างทั่วถึง เช่น รักษาพยาบาล, สงเคราะห์บุตร, เสียชีวิต ทุพพลภาพ เป็นต้น โดยเราจะพัฒนาขีดความสามารถด้านการบริการ ทั้งระบบคอลเซ็นเตอร์เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์สายด่วน 1506 การจัดทำฐานข้อมูลให้เกิดความสะดวกเมื่อไปโรงพยาบาล รวมถึงการบริหารการเงินให้มีความโปร่งใส”

นอกจากการบริหารจัดการในระดับนโยบายเร่งด่วน “พล.ต.อ.อดุลย์” ในฐานะเจ้ากระทรวงยังเน้นย้ำถึงอนาคตแรงงานไทยในยุค 4.0 อันเป็นเรื่องที่หก ที่จะต้องยกระดับทักษะฝีมือแรงงานไทยให้เท่าทันกับเทคโนโลยี เพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงการพัฒนาแรงงานให้รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด และอีอีซี เพื่อพวกเขาจะได้มีงานทำ 100%

โดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นตั้งใจว่าแรงงานไทยต่อไปในอนาคตจะก้าวสู่แรงงานที่มีทักษะสูง ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานโลกต่อไป