ทิศทาง HR ปี 2018 จ้างวัยเกษียณ-AI แทนแรงงานคน-

ในแต่ละปี ทุกอย่างที่เกี่ยวกับองค์กรจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องของทรัพยากรบุคคล (HR-human resource) ที่เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินกลยุทธ์ วางแผนการทำงานให้แต่ละส่วนขององค์กรทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ดังนั้น เรื่องของแนวโน้ม HR ในแต่ละปี ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการจ้างงาน, การฝึกอบรม และเทคโนโลยี จึงเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรต้องเฝ้าติดตาม เพราะส่งผลต่อการบรรลุวัตถุประสงค์การดำเนินธุรกิจในวันที่โลกเปลี่ยนแปลง อันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานทางด้าน HR ประจำปี 2018

เรียนรู้การทำงานด้วยตัวเอง

การทำงานในอดีต คนมักจะประยุกต์ความรู้ และทักษะที่ได้จากการเรียนในสถาบันการศึกษา และจากการปฏิบัติงานมาใช้ตลอดช่วงชีวิตการทำงาน แต่ปัจจุบันวิวัฒนาการในที่ทำงานเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความรู้ และทักษะที่เคยใช้ได้กลายเป็นเรื่องล้าสมัย จนมีวลีที่บอกว่า “The half-life a learned skill is 5-years” อันหมายถึง สิ่งที่คนเราเรียนรู้มาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จะกลายเป็นเรื่องล้าสมัย และเราสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ได้เรียนรู้เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาเพียงครึ่งเดียว

ในขณะที่ช่วงชีวิตการทำงานของคนเรามักอยู่ที่ 50-60 ปี ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้จำเป็นต้องทำต่อเนื่องอยู่เสมอ

ทั้งนั้น แต่ละองค์กรจึงต้องเพิ่มการเทรนนิ่งพนักงานเพื่อให้มีความรู้และทักษะใหม่ ๆ ที่เหมาะกับการทำงานตามสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนจากการนั่งเรียนในห้องแบบเดิม ๆ มาเป็นการผสมผสานกับแพลตฟอร์มออนไลน์มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่จากรายงานเรื่องการเรียนรู้ในสถานที่ทำงานปี 2017 ของ LinkedIn เปิดเผยว่า การอบรมแบบมีผู้บรรยายหน้าห้อง ยังคงเป็นรูปแบบที่ใช้กันสูงเป็นอันดับที่ 1 ในปีที่ผ่านมา

ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาบุคลากรจำนวน 78% บอกว่า พวกเขายังคงใช้รูปแบบห้องเรียนอยู่ แต่ขณะเดียวกัน ทางเลือกการฝึกอบรมบนมือถือกำลังจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ เพราะเป็นรูปแบบฝึกอบรมที่สะดวกกว่า พนักงานสามารถหาข้อมูล และเรียนรู้ได้ทุกที่ และตามเวลาที่ต้องการ ซึ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนพันธุ์มิลเลนเนียล

ที่สำคัญ ยังส่งผลให้การฝึกอบรมแบบบริการตัวเอง (self-service training) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2018 ด้วย เพราะเป็นเรื่องง่ายสำหรับพนักงานเพียงแค่คลิกเมาส์เท่านั้น เขาก็จะพัฒนาตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพได้

ดังนั้น บทบาทของ HR จะต้องเปลี่ยนจากการโฟกัสระบบการจัดการเรียนรู้ในบ้าน (in-house training) มาเป็นการผสมทั้งภายใน และภายนอกที่สามารถติดตามผลลัพธ์ได้ ซึ่งแหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการทำงานแบบบริการตัวเองทางออนไลน์ในปัจจุบันมีหลากหลาย เช่น YouTube, สื่อการเรียนออนไลน์ฟรีระดับโลก เช่น Khan Academy, Udacity, Udemy, Coursera, NovoEd, edX

นอกจากนั้น ระยะเวลาของสื่อในรูปแบบวิดีโอที่ใช้เพื่อการอบรมจะเป็นแบบ microlearning คือสั้นลงเหลือเพียง 30-120 วินาที ประกอบกับ แผนภูมิภาพต่าง ๆ, ไฟล์เสียง ทั้งยังต้องง่ายต่อการเรียนรู้บนแท็บเลต หรือสมาร์ทโฟนของพนักงานด้วย

พาร์ตไทม์วัยเกษียณ

กว่า 100 ปีผ่านมา ทุกคนให้ความหมายคำว่า “การจ้างงาน” คือ จ้างคนให้ทำงานแบบเต็มเวลา หรือนอกเวลา แต่ตอนนี้คำว่าพนักงานไม่ได้หมายถึงการว่าจ้างลูกจ้างอีกต่อไป เพราะหมายถึงการหาส่วนผสมที่เหมาะสมของทักษะมาจับคู่กับความต้องการทางธุรกิจ จึงส่งผลให้ขนาดขององค์กรหดตัว และแผนก HR ต้องเรียนรู้เรื่องกฎหมายว่าจ้างที่ไม่เหมือนเดิม

นอกจากนั้น ปี 2018 จะเป็นปีที่ส่งผลไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการว่าจ้างพนักงานรุ่น baby boomer เพราะการเกษียณอายุเริ่มเป็นหัวข้อที่ต้องพูดคุยจริงจังมากขึ้น ประกอบกับโลก

กำลังก้าวสู่ aging society และหลายองค์กรในปัจจุบันยังไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือกับการสูญเสียแหล่งความรู้ทรงคุณค่าจากคนเจเนอเรชั่น baby boomer จำนวนหลายคนที่ทยอยเกษียณออกจากงานในแต่ละวัน

ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ท้าทายให้องค์กรต่าง ๆ ต้องเตรียมหาคนสืบทอดตำแหน่ง แต่กลับหาตัวแทนที่เหมาะสมยังไม่ได้

ดังนั้น จึงมีหลายองค์กรพยายามรักษาคนรุ่นนี้ไว้ในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่จะปรับเปลี่ยนการทำงานแบบเต็มเวลามาเป็นพาร์ตไทม์ หรือรับงานเป็นโปรเจ็กต์ และหลายองค์กรเริ่มมีมุมมองต่อเรื่องการไม่กำหนดเกษียณอายุด้วย

พนักงานต้องอยู่ดีมีสุข

จากการศึกษาเรื่องสิทธิประโยชน์ของพนักงานปี 2017 โดย The Society for Human Resource Management (SHRM) องค์กรด้าน HR ระดับโลกที่มีเครือข่ายในหลายประเทศเปิดเผยว่า ปี 2017 เป็นปีที่หลายองค์กรลงทุนจำนวนมากสำหรับแผนประกันสุขภาพให้พนักงาน โดยบริษัทที่ร่วมตอบแบบสอบถาม 24% มีแผนจะเพิ่มโครงการที่ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดี (wellness program) ให้แก่พนักงานในปี 2018 และ 77% บอกว่า โปรแกรมดูแลพนักงานให้อยู่ดีมีสุข ช่วยลดตุ้นทุนด้านค่ารักษาพยาบาล และ 88% บอกว่า ช่วยเพิ่มคุณภาพงาน และความสุขในการทำงานของพนักงานอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ ความใส่ใจเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานจะมีเพิ่มมากขึ้น เพราะองค์กรแต่ละแห่งมีความกดดันจากการแข่งขัน การแย่งคนเก่ง และความจงรักภักดีของพนักงานสูงขึ้น บวกกับเป็นยุคที่คนรุ่นใหม่สนใจประกอบธุรกิจส่วนตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หลายบริษัทขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ในแบบที่ตนต้องการ

จึงพยายามพัฒนาเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานให้เป็นจุดขาย ด้วยการจัดโปรแกรมออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ การนวดเพื่อสุขภาพ หรือแม้กระทั่งใช้เทคโนโลยีมาช่วยอย่างเช่น นาฬิกาอัจฉริยะ ที่เก็บข้อมูลการเดิน, วัดการเต้นของหัวใจ, วัดกิจกรรมการวิ่งออกกำลังกาย สิ่งเหล่านี้นอกจากจะซื้อใจพนักงาน ยังส่งผลให้พนักงานมีประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นอีกด้วย

นวัตกรรม AI ช่วยลดอคติ

ตลอดปี 2017 ผ่านมา AI (artificial intelligence) เป็นเรื่องที่วงการ HR นำมาเป็นหัวข้อสัมมนาเป็นส่วนใหญ่ โดยเน้นพูดถึงภาพใหญ่ของการใช้ AI มาแทนแรงงานคนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำให้ในปี 2018 เรื่อง AI เป็นเรื่องที่องค์กรต่าง ๆ เข้าใจมากขึ้น และแต่ละองค์กรเริ่มมองหานวัตกรรมด้าน AI ที่มีความเหมาะสมมาใช้ในแผนกต่าง ๆ

เมื่อพูดถึงแผนก HR แล้ว AI จะสามารถเข้ามาช่วยลดเวลางานในการคัดเลือกใบสมัครของคนที่มีทักษะตรงกับตำแหน่งเป็นอย่างดี ทั้งยังลดความอคติในขั้นตอนการคัดเลือก เพราะ AI ทำการคัดเลือกผู้สมัครจากข้อกำหนดทางทักษะ การศึกษา ตามที่องค์กรตั้งใจไว้ โดยไม่มีอารมณ์เหมือนมนุษย์มาเกี่ยวข้อง จึงเป็นการเพิ่มความชัดเจน และความยุติธรรมให้กับคนหางาน

อีกทั้งยังทำให้ทีม HR มีเวลาไปทำงานด้านกลยุทธ์ที่ต้องใช้ความคิดซับซ้อน และส่งเสริมมูลค่าทางธุรกิจได้มากขึ้น

นอกจากนั้น AI ยังช่วยให้กระบวนการบริหารข้อมูลของแผนก HR ง่ายขึ้น เช่น การจัดทำดัชนี, การจัดเก็บบันทึกผู้สมัคร, การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการนำเสนองาน ขณะเดียวกันยังเป็นการบังคับให้บุคลากรในทีม HR เรียนรู้ด้านเทคโนโลยีจากการทำความเข้าใจระบบ AI ไปในตัวอีกด้วย

ดังนั้น แนวโน้มเหล่านี้จะช่วยให้องค์กรเห็นภาพ HR ในปัจจุบัน ทั้งยังสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาประเมินเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่องค์กรกำลังจะลงทุน หรือปรับเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องคนว่าเดินมาถูกทางหรือไม่