แบงก์รัฐต่อแถวลุย QRcode ธอส.ปูพรมเครื่องชำระเงินกู้-

2 แบงก์รัฐเดินหน้า “คิวอาร์โค้ด” ต่อยอดบริการการเงิน “ฉัตรชัย” เผย ธอส.เตรียมเข้าแซนด์บอกซ์ ก.พ.นี้ในรูปแบบ “ไดนามิกคิวอาร์โค้ด” รับชำระหนี้เงินกู้จากแอปแบงก์อื่นผ่านเครื่อง “คีออสก์” ฟาก “อภิรมย์” คาด 2 เดือน ธ.ก.ส.ได้ออกจากแซนด์บอกซ์

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ในเดือน ก.พ.นี้ ธอส.วางแผนจะเข้าทดสอบการให้บริการ QR code ใน regulatory sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยระบบของธนาคารจะเป็นแบบ dynamic QR code ที่ ธอส.จะทำตัวเสมือนร้านค้า โดยจะเปิดให้ลูกค้าสามารถชำระหนี้เงินกู้ผ่านทางแอปพลิเคชั่นของธนาคารอื่น ๆ ที่สามารถนำมาทำธุรกรรมผ่านเครื่องให้บริการอัตโนมัติ (kiosk) ที่ ธอส.มีแผนจะติดตั้งจำนวน 20 เครื่องในเร็ว ๆ นี้ได้

“เรากำลังพัฒนาระบบการรับชำระหนี้เงินกู้ด้วย dynamic QR code ซึ่งลูกค้าจะไม่จำเป็นต้องเดินเข้าไปชำระหนี้ที่สาขาธนาคารอีกต่อไป โดยสามารถชำระผ่านเครื่อง kiosk ได้ ทั้งนี้ การที่ต้อง dynamic ก็คือ ลูกค้าสามารถเลือกจ่ายบัญชีไหนก็ได้ และจ่ายมากกว่าเงินงวดที่ต้องจ่ายปกติได้ ซึ่งลูกค้าจะใช้แอปพลิเคชั่นของธนาคารใดก็ได้ แต่ละแบงก์ก็พัฒนาแอปของตัวเองไป แต่ต้องเอาเงินมาจ่ายให้เรา” นายฉัตรชัยกล่าว

ทั้งนี้ หาก ธอส.ได้รับอนุญาตออกจาก sandbox ธนาคารก็จะทดสอบการใช้งาน dynamic QR code กับพนักงาน ธอส.เองก่อน ประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นจึงจะเปิดให้บริการลูกค้าทั่วไป ราวช่วงไตรมาส 2 นี้

นายฉัตรชัยกล่าวว่า ธอส.ได้วางแผนพัฒนาระบบชำระหนี้เงินกู้ออกเป็น 2 ช่วง คือ เฟสแรก ยังชำระด้วยเงินสด แต่ทำผ่านเครื่องรับชำระหนี้เงินกู้อิเล็กทรอนิกส์ หรือ LRM จำนวน 90 เครื่องได้ และเฟสที่ 2 จะเป็นการชำระผ่าน dynamic QR code ที่จะติดตั้ง kiosk จำนวน 20 เครื่อง

โดยหลังจากนั้น ภายในไตรมาส 3 หรือประมาณเดือน ก.ย. ธอส.จะขึ้นระบบแอปพลิเคชั่นใหม่ที่จะมีการให้บริการเต็มรูปแบบ ทั้งการยื่นขอสินเชื่อ การชำระหนี้เงินกู้ การเยี่ยมชมและขอซื้อสินทรัพย์รอการขาย (NPA) และการประนอมหนี้กับ ธอส.ซึ่งลูกค้าจะสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่และส่งเอกสารผ่านทางแอปพลิเคชั่นนี้ได้ โดยทั้งหมดนี้เป็นการยกระดับการให้บริการโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นตัวขับเคลื่อน ภายใต้โครงการ Payment Gateway

“เราคิดว่าลูกค้าจะยังคงชำระหนี้ด้วยเงินสด ในระยะ 3-5 ปี แต่ขณะเดียวกันเราก็เริ่มเอาเทคโนโลยีการชำระที่ไม่ใช้เงินสดมาเสริม โดยทิศทางของธนาคาร เราไม่ได้จะเป็น digital banking แต่เราจะเป็น digital service คือเราจะให้บริการด้วยเทคโนโลยี ไม่ได้จะทำให้ทั้งแบงก์เป็นดิจิทัลหมด เพราะต้องลงทุนมหาศาล และที่สำคัญลูกค้าส่วนใหญ่ของ ธอส. เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ดังนั้น ดิจิทัลที่เราเสนอคือ บริการที่รวดเร็ว” นายฉัตรชัยกล่าว

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้เข้าร่วมทดสอบโครงการ QR Payment ใน regulatory sandbox ของ ธปท. โดยทดสอบระบบใน 7 พื้นที่ อาทิ บ้านดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย, ตลาดนางเลิ้ง, ตลาด อ.ต.ก. (องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร), สหกรณ์การเกษตรต่าง ๆ ราว 100 แห่ง เป็นต้น

“เราได้รับอนุญาตให้ทดสอบ QR code ใน 7 พื้นที่นี้ก่อน เมื่อผลการทดสอบผ่านตัวชี้วัดแล้ว ธ.ก.ส.จะนำ QR code ออกให้บริการโดยทั่วไป เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการชำระเงินที่สะดวก รวดเร็ว ลดการใช้เงินสด อย่างเต็มรูปแบบต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าอีกไม่เกิน 2 เดือนน่าจะสามารถออกจาก sandbox ได้ เพราะเราสมัครเข้าไปตั้งแต่เดือน พ.ย. 2560” นายอภิรมย์กล่าว


ก่อนหน้านี้ธนาคารออมสินเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแห่งแรกที่เข้าทดสอบ QR code ใน sandbox ของธปท.โดยเป็น 1 ใน 5 ธนาคารที่ให้บริการ QR code เป็นการทั่วไปได้แล้ว