ดึงบิ๊กค้าปลีก-ปั๊มน้ำมันลงทุนจุดพักรถมอเตอร์เวย์-

กรมทางหลวงเผยความคืบหน้ามอเตอร์เวย์ใหม่ 3 สาย พัทยา-มาบตาพุดรุดหน้า 62% เม.ย.นี้ลงเข็มสร้างด่านเก็บเงิน 3 แห่ง วงเงิน 1,900 ล้านบาท ปีหน้าทดลองเปิดใช้ฟรี ดึงเอกชนทั่วโลกติดตั้งระบบสายบางปะอิน-โคราชและบางใหญ่-กาญจน์ เฟ้นเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ลุยต่อประมูลพัฒนาที่พักริมทาง วงในเผย ปตท.-บางจากสนใจ

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า การก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สายทางมีความก้าวหน้าไปด้วยดี โดยสายพัทยา- มาบตาพุดระยะทาง 32 กม. ใช้เงินลงทุน 20,200 ล้านบาท ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้า 62% สิ้นเดือน ม.ค.นี้จะประมูลก่อสร้างด่านเก็บเงิน จำนวน 3 ด่าน วงเงิน 1,900 ล้านบาท ได้แก่ ด่านห้วยใหญ่ เขาชีโอน และอู่ตะเภา

คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในเดือน เม.ย. 2561 ใช้เวลาดำเนินการ 750 วัน หรือประมาณ 2 ปี เปิดบริการเต็มรูปแบบกลางปี 2563 แต่จะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้ก่อนในปี 2562 หลังงานโยธาแล้วเสร็จ

“สายนี้กรมจะเป็นผู้ดำเนินการเก็บค่าผ่านทางเอง จะไม่มีค่าแรกเข้า เพราะเป็นส่วนต่อเชื่อมกับสายกรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา คิดค่าผ่านทางตามระยะทางอัตรา 1 บาท/กม.” นายธานินทร์กล่าวและว่า

เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา กรมได้เปิดทดลองใช้มอเตอร์เวย์ช่วงชลบุรี-พัทยา ระยะทาง 42 กม. เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้ทางเกิดความคุ้นเคย ก่อนที่กรมจะเริ่มเก็บค่าบริการวันที่ 19 เม.ย.นี้ ส่วนที่มีข้อร้องเรียนหลังเปิดใช้แล้วทำให้เกิดปัญหารถติดทางกรมอยู่ระหว่างปรับปรุงเพื่อบรรเทาปัญหา

สำหรับสายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงินก่อสร้าง 57,471 ล้านบาท ความคืบหน้าการก่อสร้างอยู่ที่ 24% อยู่ระหว่างจัดหาเอกชนลงทุนงานระบบเก็บค่าผ่านทาง และซ่อมบำรุงรักษาโครงการ จะเริ่มงานในต้นปี 2562 แล้วเสร็จและเปิดบริการได้ภายในปี 2563

ขณะที่สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงินก่อสร้าง 49,120 ล้านบาท เซ็นสัญญางานก่อสร้างแล้ว 24 ตอน อีก 1 ตอนที่เหลือจะเซ็นปลายเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งผู้รับเหมาทยอยเริ่มงานก่อสร้างตามพื้นที่มีความพร้อม เนื่องจากยังติดเรื่องการเวนคืนที่ดินจึงยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ครบทั้งโครงการ ขณะนี้ความคืบหน้าก่อสร้างอยู่ที่ 5% อยู่ระหว่างจะจัดหาเอกชนลงทุนงานระบบเก็บค่าผ่านทางและซ่อมบำรุงรักษาโครงการเช่นกัน คาดว่าจะเปิดบริการได้ปลายปี 2563 ล่าช้าจากแผนเดิมเล็กน้อย

“งานระบบเก็บค่าผ่านทางจะเลือกเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ส่วนค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สายนี้ กรมจะเป็นผู้กำหนดเอง เก็บค่าแรกเข้าสายบางปะอิน-นครราชสีมาอยู่ที่ 10 บาท และคิดเพิ่ม 1.25 บาท/กม. สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ค่าแรกเข้า 10 บาท และคิดเพิ่ม 1.50 บาท/กม. มีปรับอัตราค่าผ่านทางจะปรับตามดัชนีผู้บริโภค หรือ CPI ทุก 7 ปี”

สำหรับการพัฒนาพื้นที่ริมทางหลวงทั้ง 2 สายอยู่ในระหว่างทำรายละเอียดการประกวดราคาว่าใน 1 เส้นทางจะแยกเป็นหลายสัญญาหรือเป็นสัญญาเดียว คาดว่า 3-4 เดือนนี้ จะได้ข้อสรุป และปลายปีนี้จะประกวดราคาเป็นรูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลา 30 ปี แบบมีเงื่อนไขโดยรัฐจะได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นตามปริมาณการจราจรที่เข้าพักริมทางหลวง คาดว่าเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2562

“ที่พักริมทางหลวงจากนโยบายรองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อยากให้เหมือนต่างประเทศ ภายในมีร้านค้าที่ทุกคนต้องมาแวะ ไม่ใช่ร้านที่มีสาขา เน้นเป็นสินค้าจากท้องถิ่นหรือโอท็อป ซึ่งกรมกำลังพิจารณารายละเอียดอยู่” นายธานินทร์กล่าวและว่า

สำหรับวงเงินลงทุนการก่อสร้างที่พักริมทางในส่วนของสายบางปะอิน-โคราช มี 8 แห่ง วงเงิน 1,500 ล้านบาท เป็นที่พักริมทาง 5 แห่ง ที่วังน้อย หนองแค ทับกวาง ปากช่อง และสูงเนิน, สถานที่บริการทางหลวง 2 แห่ง ที่สระบุรีและสีคิ้ว และศูนย์บริการทางหลวง 1 แห่ง ที่ปากช่อง ส่วนบางใหญ่-กาญจนบุรี มี 6 จุด วงเงิน 700 ล้านบาท ที่ อ.นครชัยศรี 2 จุด อ.เมืองนครปฐม 2 จุด และ อ.ท่ามะกา 2 จุด

รูปแบบการพัฒนามี 3 ประเภท ได้แก่ ที่พักริมทางหลวง (rest area) ขนาด 15 ไร่ สถานที่บริการทางหลวง (service area) ขนาด 20 ไร่ และศูนย์บริการทางหลวง (service center) ขนาด 50 ไร่ ลงทุน 300-400 ล้านบาท/แห่ง

ส่วนสายพัทยา-มาบตาพุด มี 3 แห่ง ที่พร้อมดำเนินการคือบริเวณกิโลเมตรที่ 94 หรือช่วงก่อนถึงสวนเสือศรีราชา จะมีทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก กำลังร่างทีโออาร์ให้เอกชนยื่นลงทุน PPP Net Cost ระยะเวลา 30 ปี ส่วนบริเวณมาบตาพุด พื้นที่ประมาณ 50 ไร่ จะอยู่บริเวณจุดสิ้นสุดโครงการ จะต้องรอให้การก่อสร้างแล้วเสร็จก่อนถึงจะเริ่มดำเนินการได้

“การพัฒนาที่พักริมทาง จะแบ่ง 2 สัญญา คือ ขาเข้า 1 สัญญา และขาออก 1 สัญญา เพื่อให้เอกชนที่สนใจร่วมประมูล โดยเอกชน 1 รายจะได้สิทธิ์พัฒนาพื้นที่ 1 สัญญา กรมจะเชิญผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีก เช่น กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มเดอะมอลล์ และ ปตท.เข้าร่วมลงทุน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการปี 2561”


รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการน้ำมัน เช่น ปตท. และบางจาก ให้ความสนใจจะลงทุนพัฒนาโครงการ