อัด “งบฯกลางปี” โด๊ปรากหญ้า 4 ปี รัฐบาล “บิ๊กตู่” ขาดดุล 1.5 ล้าน ล.-

ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นที่ทราบกันดีว่า หากประมาณการว่าจะเก็บรายได้ “ไม่เพียงพอ” ต่อรายจ่าย รัฐบาลก็มักจะทำ “งบประมาณขาดดุล”

ซึ่งทุก ๆ รัฐบาล ก็จัดทำงบฯขาดดุลกันมาโดยตลอด ด้วยสารพัดเหตุผลความจำเป็น

ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาล “บิ๊กตู่” ที่ประกาศเข้ามา “ปฏิรูปประเทศ” โดยเข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2557 และมีบทบาทจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 เป็นปีแรก

ซึ่งรัฐบาล “บิ๊กตู่” ทำงบฯขาดดุลมาทุกปี และ “ขาดดุลเพิ่ม” มากขึ้นทุกปีอีกด้วย

ที่น่าสนใจก็คือ รัฐบาล “บิ๊กตู่” ใช้การจัดทำ “งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม” หรือ “งบฯกลางปี” มาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 ที่ทำงบฯกลางปีเพิ่ม 56,000 ล้านบาท เนื่องจากมี “รายได้พิเศษ” จากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1,800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ เข้ามา ส่งผลให้วงเงินขาดดุลงบประมาณปีนั้นจึงยังคงอยู่ที่ 390,000 ล้านบาท

โดยตอนนั้น รัฐบาลระบุถึงความจำเป็นต้องอัดฉีดงบประมาณเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากปัญหาการเมือง

ต่อมาในปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลทำงบฯกลางปีเพิ่ม 190,000 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเพิ่ม 162,921.7 ล้านบาท ส่วนวงเงินอีก 27,078.3 ล้านบาท มาจากภาษีและรายได้อื่น ๆ ที่จัดเก็บได้เพิ่มเติม ส่งผลให้ขาดดุลงบประมาณรวมเพิ่มเป็น 552,921.7 ล้านบาท

โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้จ่ายในโครงการพัฒนากลุ่มจังหวัดถึง 100,000 ล้านบาท และงบฯอีกราว 60,000 ล้านบาทได้จัดสรรให้กับกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 500,000 บาท

และล่าสุด ในปีงบประมาณ 2561 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งมีมติเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2561 เห็นชอบหลักการให้มีการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมอีก 150,000 ล้านบาท โดยสำนักงบประมาณคาดว่าจะมีรายได้ที่มาจากภาษีและรัฐพาณิชย์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีก ประมาณ 50,000 ล้านบาท

ดังนั้นจึงเป็นการกู้เพิ่ม หรือขาดดุลเพิ่มจำนวน 100,000 ล้านบาท ส่งผลให้เบ็ดเสร็จแล้วในปีงบประมาณ 2561 นี้ รัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุลรวมทั้งสิ้น 550,000 ล้านบาท

“อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.คลัง บอกว่า งบฯเพิ่มเติมถูกจัดสรรใน 3 ส่วนสำคัญ โดยส่วนแรก ใช้สำหรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (สวัสดิการคนจน เฟส 2) จำนวน 35,000 ล้านบาท ส่วนที่ 2 ใช้ผ่านกลไกกระทรวงมหาดไทย ในระดับตำบล และกองทุนหมู่บ้าน เน้นให้ทำโครงการที่เป็นการปฏิรูปประเทศ จำนวน 35,358.1 ล้านบาท และส่วนที่ 3 ใช้ปฏิรูปภาคการเกษตร มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิตอีก 30,000 ล้านบาท

(ที่เหลือเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 49,641.9 ล้านบาท)

“หลักใหญ่ที่ทำงบฯกลางปี คือ 3.5 หมื่นล้านบาท จะใช้ช่วยคนจน เฟส 2 ซึ่งจะต้องมีการจ่ายเงินเข้าบัตรสวัสดิการ มีการพัฒนา อบรมอาชีพให้เขา แล้วก็การปฏิรูปภาคเกษตรที่เป็นเรื่องใหญ่อีกราว 3 หมื่นล้านบาท โดยเราอยากเห็นการปรับเปลี่ยนการผลิตในบิ๊กสเกล นอกจากนั้นก็จะมีเรื่องการทำโครงสร้างพื้นฐานด้านเกษตร เช่น ทำโกดัง ทำไซโล เป็นต้น อีกส่วนก็เป็นงบฯที่ลงไปกองทุนหมู่บ้านกับระดับตำบล ที่เป็นของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต้องเน้นโครงการปฏิรูปประเทศ ทั้งหมดนี้เราต้องการให้ทำให้เสร็จใน 6 เดือน” นายอภิศักดิ์กล่าว

จะเห็นได้ว่าตลอดช่วงเวลาเกือบ 4 ปี (ตั้งแต่ พ.ค. 2557 ถึงปัจจุบัน) ในการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาล “บิ๊กตู่” มีการตั้งงบฯกลางปี หรือทำงบฯเพิ่มเติม รวมแล้ว 396,000 ล้านบาท โดยเป็นการจัดทำงบฯขาดดุลตลอด 4 ปี รวมทั้งสิ้น 1,517,921.7 ล้านบาท

ซึ่งการตั้งงบฯเพิ่มเติม ส่วนใหญ่ล้วนเป็นการผลักดันเม็ดเงินไปสู่กลุ่มเศรษฐกิจฐานรากเป็นหลัก จนหลายฝ่ายติงว่า อาจจะเข้าลักษณะ “ประชานิยม” ไม่ต่างจากบางรัฐบาลที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สำนักงบประมาณได้มีการชี้แจงว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในครั้งนี้ วัตถุประสงค์หลัก “ไม่ใช่เป็นการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ” แต่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และมุ่งเน้นในการส่งเสริม พัฒนาศักยภาพและสร้างโอกาสในอาชีพ ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย

ทั้งยังเน้นไปที่ภาคการเกษตร ให้มีการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตทั้งระบบ มีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร ส่งเสริมการตลาดสมัยใหม่

สำนักงบประมาณย้ำด้วยว่า “แนวทางในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมครั้งนี้ จึงไม่ใช่การทำประชานิยม หรือแจกเงิน แต่เป็นการวางรากฐานและปรับโครงสร้างของภาคการผลิต เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศในอนาคต”

สุดท้ายแล้ว การอัดฉีดงบฯตลอด 3-4 ปีมานี้ ของรัฐบาล “บิ๊กตู่” จะนำไปสู่ “การปฏิรูป” อย่างแท้จริงหรือไม่ คงต้องรอดูว่า ผลสัมฤทธิ์ของแต่ละโครงการที่ทำไปเป็นอย่างไร

นั่นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีที่สุดว่า “ประชารัฐ” กับ “ประชานิยม” เหมือนหรือต่างกัน

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”