“สามารถ” ปั้นรายได้ใหม่ปักธง 2 หมื่น ล.-

“กลุ่มสามารถ” ตั้งหลักใหม่ หลังจัดทัพเขย่าโครงสร้างองค์กร และปรับบทบาทบริษัทแม่เป็น “โอเปอเรติ้งคอมปะนี” ลุยลงทุนในสตาร์ตอัพ-แสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ พร้อมดัน 3 สายธุรกิจ “แซมเทล-ยูทรานส์-เอสดีซี” ปั๊มรายได้เพิ่มเติมสตรีม ตั้งเป้าทะลุ 2 หมื่นล้านบาท

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.สามารถคอร์เปอเรชั่น กล่าวว่า ปีที่แล้วเป็นปีที่บริษัทได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ส่งผลให้รายได้ไม่เป็นไปตามเป้า คือต่ำกว่าปี 2559 ที่มีรายได้กว่า 13,000 ล้านบาท แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ว่าจะอยู่ที่เท่าไร ดังนั้นปีนี้ได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ เปลี่ยนจาก holding company ที่มีรายได้จากการถือหุ้นในบริษัทอื่นมาเป็น operating company หาโอกาสสร้างธุรกิจใหม่สร้างรายได้ที่ยั่งยืนภายใต้โครงการ SAMART Next Forum ผ่านความรู้ และคอนเน็กชั่น รวมทั้งการลงทุนในสตาร์ตอัพ และตั้งเป้าสิ้นปีรายได้รวม 20,000 ล้านบาท

“เราตัดธุรกิจมือถือออกไป เพื่อวางรากฐานให้ธุรกิจใหม่ และสร้างความแข็งแกร่งในอนาคต ปีที่ผ่านมาเน้นการปรับปรุงองค์กร และการแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่ จนเกิดธุรกิจดิจิทัลทรังก์เรดิโอ และธุรกิจให้เช่าเสาสัญญาณในกรมอุทยานฯ ซึ่งจะเริ่มรับรู้รายได้ปีนี้”

โอกาสสร้างรายได้ในปีนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจไอซีทีโซลูชั่นภายใต้การบริหารของสามารถเทเลคอม (แซมเทล) เป็นหลัก จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐ และการตื่นตัวของภาคเอกชน ที่คาดว่าภายใน 3 ปีจะลงทุนด้านไอทีถึง 5 แสนล้านบาท โดยแซมเทลตั้งเป้ารายได้ 1 หมื่นล้านบาท หรือ 50% ของรายได้รวม ปัจจุบันเซ็นสัญญาแล้ว 80 โครงการ รวมมูลค่า 6 พันล้านบาท เช่น โครงการจัดซื้อและว่าจ้างบํารุงรักษา core banking ธนาคารอาคารสงเคราะห์, โครงการซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบเครือข่ายโทรคมนาคม กองบัญชาการกองทัพไทย และเปิดบริษัทด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ในไตรมาส 2

ถัดมาเป็นสายธุรกิจ U-trans ได้ขยายอายุสัมปทานการให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศในกัมพูชา โดยบริษัท แคมโบเดีย แอร์ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) โดยต่อสัญญาเพิ่มอีก 7 ปี จากเดิม 32 ปี เป็น 39 ปี คือถึงปี 2583 ขณะที่บริษัทเทด้า สร้างรายได้จากการบริหารงานก่อสร้างโครงการสายส่งสถานีไฟฟ้าแรงสูง มีงานในมือกว่า 2 พันล้านบาท และอีกธุรกิจในสายนี้ที่เติบโต คือ ธุรกิจกล้องวงจรปิด ของบริษัทวิชั่น แอนด์ ซีเคียวริตี้ ซิสเต็ม

สุดท้ายเป็นกลุ่มธุรกิจ SAMART Digital หรือ SDC ปีนี้จะเห็นความคืบหน้าของธุรกิจใหม่ เช่น ดิจิทัลทรังก์เรดิโอ จากการจำหน่ายเครื่องลูกข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิทัล และรายได้จากค่าใช้บริการรายเดือน โดยปีนี้จะติดตั้งโครงข่ายสถานีฐานได้ 1,000 แห่ง และตั้งเป้าจำหน่ายเครื่องลูกข่าย5 หมื่น-1 แสนเครื่อง รวมถึงการเริ่มต้นธุรกิจ Co Tower โดยได้สัมปทานติดตั้งเสาโทรคมนาคมในกรมอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้ค่ายมือถือเช่าใช้ 10 ปี โดยคาดว่าจะติดตั้งเสาให้ได้ 250-300 ต้น ส่วนธุรกิจคอนเทนต์ภายใต้บริการ BUG และ EDT ได้ยกเครื่องบริการข้อมูลด้วยการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น มุ่งไปที่ตลาดท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตไม่จำกัด ทั้งจะเปิดตัวบริการใหม่ภายใต้ความร่วมมือกับภาครัฐในเร็ว ๆ นี้

“รายได้ของกลุ่มสามารถดิจิทัลขึ้นอยู่กับการเซ็นสัญญาแต่คงไม่ขาดทุนแล้ว มีโอกาส 70-80% ที่ปีนี้จะทำกำไรได้ ธุรกิจดิจิทัลทรังก์เรดิโอ และโคทาวเวอร์เริ่มต้นอาจยาก แต่ต่อไปจะอยู่ได้ในระยะยาว”

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”