กรุงเทพฯ…เปลี่ยนไป-

แฟ้มภาพประกอบข่าว

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พัฒนพันธ์ วงษ์พันธุ์

วิถีชีวิตคนกรุงเทพฯกำลังเปลี่ยนไป และไม่มีวันจะกลับมาเหมือนเดิมอีก โดยมีมูลเหตุจากราคาที่ดินแพงขึ้นมหาศาล ชนิดนึกไม่ถึงว่าสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ

ล่าสุด ที่ดินย่านหลังสวน มีการตกลงซื้อขายกันสูงถึงตารางวาละ 3 ล้านกว่าบาท ต้องมีเงิน 1,200 ล้านบาท ถึงจะซื้อที่ดินในย่านนี้ได้ 1 ไร่

เมื่อซื้อมาแพง พอมาก่อสร้างเป็นคอนโดมิเนียม อาคารชุด ราคาขายจึงสูงลิบลิ่ว ราคาอาจสูงถึงตารางเมตรละ 5-6 แสนบาท ห้องเล็ก ๆ ประมาณ 40 ตารางเมตร ต้องจ่ายเงิน 20 ล้านบาท

แต่ถ้าอยากได้พื้นที่เพิ่มเป็น 150 ตารางเมตร เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต ต้องมีเงินในกระเป๋าถึง 75 ล้านบาท

โอ้ววววว !!!

นักพัฒนาที่ดินรายใหญ่วิเคราะห์ให้ฟังว่า จากนี้ไปมนุษย์ออฟฟิศแทบจะไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมกลางเมืองได้อีกต่อไป

เพราะคงไม่มีใครสู้ราคาไหว

ลำพังทำเลดี ๆ ที่พอจะใช้ระบบขนส่งมวลชนในการเดินทาง ราคายังพุ่งขึ้นไปร่วม ๆ 8 หมื่นบาทต่อตารางเมตร

หนำซ้ำราคาระดับนี้จะห่างออกจากตัวเมืองมากขึ้นทุกที

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ซึ่งออกสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล บอกว่า ราคาที่ดินในเมืองเวลานี้แพงลิบลิ่ว โดยมีรถไฟฟ้าเป็นปัจจัยหนุน และเป็นตัวกดดันให้บริษัทพัฒนาที่ดินหันไปมองทำเลชานเมืองเป็นการทดแทน

โดยเฉพาะส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีเขียว “แบริ่ง-สมุทรปราการ” ซึ่งจะเปิดให้บริการปลายปี 2561 และ “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” ในปี 2563 เป็นที่หมายตามากกว่ารถไฟฟ้าเส้นอื่น ๆ

สอดคล้องกับข้อมูลของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เจ้าตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งระบุว่า ในจำนวน 17 สถานีของสายสีเขียวส่วนต่อขยาย มีทำเลฮอต ๆ 4-5 สถานี คือ ม.เกษตรฯ หลักสี่ สะพานใหม่

ขณะที่ทำเลซึ่งบริษัทพัฒนาที่ดินให้ความสนใจอีกพื้นที่หนึ่งน่าจะเป็นฝั่งธนฯ โดยมีสถานีบางหว้าเป็นจุดตัดของสายสีเขียว กับสายสีน้ำเงิน และสถานีตลาดพลูเป็นตัวเลือกต้น ๆ เกิดเป็น “ดงคอนโดฯ” ขนาดใหญ่

คล้ายกับที่เกิดขึ้นรอบ ๆ สถานีแบริ่ง สำโรง รัชโยธิน สะพานใหม่

มองในเชิงพฤติกรรมการใช้ชีวิต มองไม่ยากว่าคนที่อยู่อาศัยตามคอนโดมิเนียมซึ่งรายล้อมอยู่ตามสถานีหลัก ๆ ย่อมใช้บริการรถไฟฟ้าในการเดินทาง เพื่อย่นระยะเวลาการเดินทางให้สั้นที่สุด

อีกทั้งทำเลที่ตั้งของสำนักงาน โดยส่วนใหญ่ล้วนเกาะอยู่บนเส้นทางรถไฟฟ้าเช่นกัน โดยเฉพาะย่านถนนพระราม 4 ไล่มาตั้งแต่สีลม ไปถึงคลองเตย กำลังมีอาคารสำนักงานพื้นที่เป็นล้าน ๆ ตารางเมตร เกิดขึ้น 3 โครงการยักษ์ ๆ

ทั้งดุสิตธานีที่กำลังทุบโรงแรมเดิมทิ้ง และสร้างโครงการมิกซ์ยูส มีทั้งโรงแรม ที่พักอาศัย และพื้นที่ค้าปลีกขึ้นมาแทนที่ เช่นเดียวกับโครงการ One Bangkok ของกลุ่มบริษัททีซีซี ในกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี บริเวณสวนลุมไนท์บาซาร์เดิม ซึ่งมีพื้นที่ร่วมร้อยไร่ และโครงการขนาดใหญ่แถว ๆ แยกคลองเตย ซึ่งเป็นของกลุ่มนายเจริญอีกเช่นกัน

ประเมินกันว่า แต่ละวันจะมีมนุษย์ออฟฟิศเดินเข้าออกสำนักงานเหล่านี้เป็นแสน ๆ คนต่อวัน

เช่นเดียวกับจำนวนรถยนต์ที่ย่อมหมุนเวียนเข้าออกสำนักงานเหล่านี้อีกมหาศาล

ความเจริญจากการขยายตัวของตัวเมืองยังมาพร้อมกับผลกระทบด้านอื่น ๆ ส่งผลกระทุบถึงการดำเนินชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาขยะล้นเมือง การจราจรติดขัด รวมถึงที่กำลังเป็นปัญหาสร้างความปวดหัวให้กรุงเทพมหานครอย่างหนักก็คือ ปัญหาท่ออุดตัน ไม่สามารถระบายน้ำฝนได้ทัน จนเกิดน้ำท่วมถนนอยู่บ่อย ๆ

ไม่รวมถึงเรื่องพื้น ๆ อย่างปัญหาแย่งกันกินแย่งกันใช้ และอีกสารพัด

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้่มีโอกาสเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในห้วงเวลานับจากนี้ไป

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”