ดึงญี่ปุ่นประมูลไฮสปีดยกลอต ขาย TOR กรุงเทพ-ระยอง มี.ค.นี้-

แฟ้มภาพ

“สมคิด” จีบนักลงทุนญี่ปุ่นร่วมพลิกประเทศไทย เจรจาทุนยักษ์ลงทุนรถไฟความเร็วสูง ร่วมประมูลทุกสายภายในปีนี้ ประเดิมขาย TOR กรุงเทพฯ-ระยองเดือนหน้า ดึงฟูกุโอกะเชื่อมเส้นทางการค้าโลกสายใหม่ silicon sea belt เน้นอุตสาหกรรรมไฮเทค

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการโรดโชว์ประเทศไทย ที่เมืองฟูกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่นว่า ได้เจรจากับนาย Toshihiki Aoya ประธานบริษัท JR Kyushu ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจรถไฟทุกระบบ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ให้ไปร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง กรุงเทพฯ-ระยอง และรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวในหลายเส้นทาง ซึ่งรัฐบาลไทยจะประกาศ TOR โครงการรถไฟความเร็วสูงภายในเดือนมีนาคมนี้ และจะเปิดประมูลในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า และจะประมูลให้ได้ทุกสายภายในปีนี้

ปั้น silicon sea belt

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวกับนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 900 คนว่า ไทยเห็นโอกาสที่จะร่วมเป็นพันธมิตรการลงทุนกับญี่ปุ่น จึงได้เดินทางมาเปิดสถานกงสุลใหญ่ และเปิดสำนักงานการท่องเที่ยวไปพร้อมกันในปีนี้ เพราะฟูกุโอกะ เป็นแหล่งที่ตั้งอุตสาหกรรมที่ทันสมัย เหมาะที่จะเชื่อมโยงกับเส้นทางการค้าไฮเทคสายใหม่ หรือที่เรียกว่า silicon sea belt เชื่อมโยงจากสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางที่เป็นแหล่งการเกษตร การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเอสเอ็มอี หุ่นยนต์ และสตาร์ตอัพ

3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น เพื่อพร้อมรับโอกาสที่ความเจริญเติบโตของโลกกำลังมุ่งสู่ แต่นักลงทุนญี่ปุ่นที่เป็นมหามิตรยังคง ลงทุนสูงสุดในประเทศไทย มีจำนวนธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทยอย่างน้อย 8,000 ราย และมีชาวญี่ปุ่นอาศัยในไทยกว่า 6 หมื่นราย

นายสมคิดกล่าวเชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นว่า นี่จะเป็นโอกาสสำคัญของเอเชีย เพราะศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกกำลังเคลื่อนจากตะวันตกสู่ตะวันออก อาเซียนกำลังเป็นข้อต่อที่สำคัญทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์ด้านความมั่นคง ในขณะที่จีนกำลังขยายความสัมพันธ์ล้านช้างและลำนํ้าโขง ในนโยบาย One Belt One Road ผ่านทั้งลาว ไทย สู่มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เช่นเดียวกันก็มีการผลักดันนโยบายความร่วมมือ Indo Pacific โดยอินเดีย อาเซียน ญี่ปุ่น อเมริกา และออสเตรเลีย ขึ้นมาอีกเส้นทาง

ลงทุน 2 ล้าน ล.ขนส่งทุกระบบ

นายสมคิดบอกว่า ประเทศไทยกำลังจะเริ่มโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มูลค่า 2 ล้านบาท ใน 8 ปีข้างหน้า ทั้งถนน รถไฟ รถไฟความเร็วสูง สนามบินพาณิชย์แห่งใหม่ ขยายท่าเรือ วางระบบ IT และเครือข่ายดิจิทัล

“บางโครงการได้เริ่มแล้ว และทุกโครงการที่สำคัญจะต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณ และเรียกประกวดราคาในกรณีร่วมทุนกับเอกชนในลักษณะ PPP ภายในปีนี้และปีหน้า พร้อมกับเร่งลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ news curve

รัฐบาลได้ผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของไทย เร่งสร้างความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ สนามบินพาณิชย์แห่งใหม่ ขยายท่าเรือและระบบขนส่งสินค้าในลักษณะของ

“เพื่อเป็นการจูงใจนักลงทุนญี่ปุ่น บีโอไอได้คิดค้นแพ็กเกจภาษีพิเศษเพื่อการนี้ ทำให้ในปีที่ผ่านมามีผู้เข้ารับการส่งเสริมกว่า 2 แสนล้านบาท หนึ่งในสามของมูลค่าลงทุนทั้งหมด”

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เมืองฟูกุโอกะจะร่วมมือกับไทย ทั้งเรื่องนวัตกรรม อุตสาหกรรม supply chain ในเชิงของตลาดการค้า การลงทุน ไม่ว่าจะเป็นอาหารแปรรูป รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน พลังงาน เคมีภัณฑ์ semiconductor หุ่นยนต์อุตสาหกรรม เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมดิจิทัล และยังเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งชาติของญี่ปุ่นที่เชื่อมโยง silicon sea belt

กอบศักดิ์โชว์ยักษ์ไทยลงทุนตาม

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยจะลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี และเชิญชวนญี่ปุ่นร่วมลงทุนในโอกาสนี้ ด้วยแผนการลงทุนที่เริ่มต้นขึ้นแล้ว ทั้งมอเตอร์เวย์ 5 สายที่เชื่อมจากกรุงเทพฯไปสู่ทุกภาคของประเทศ การลงทุนระบบรางในปีที่ผ่านมา 7 เส้นทาง 1,000 กิโลเมตร และในปีนี้จะลงทุนอีก 1,500 กิโลเมตร ใช้งบฯลงทุนกว่า 4 แสนล้านบาท และจะเห็นการเริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าบนดิน-ใต้ดินอีกหลายสาย

นายกอบศักดิ์นำเสนอต่อนักลงทุนว่า เมื่อรัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทุกเครือข่าย ทำให้ภาคเอกชนรายใหญ่กำลังลงทุน พลิกโฉมกรุงเทพฯและประเทศไทย ทั้งกลุ่มอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ โรงแรม และห้างค้าปลีก เช่น โครงการไอคอนสยาม ซึ่งเป็นการลงทุนศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ, โครงการหอชมเมือง, โครงการ One Bangkok และโครงการร่วมทุนระหว่างดุสิตธานีกับกลุ่มเซ็นทรัล

“ขอเชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นร่วมพลิกโฉมประเทศไทยไปด้วยกัน โดยเฉพาะพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเหมือนแหวนทองคำที่สวยอยู่แล้ว รัฐบาลจะเอาเพชรไปประดับให้สวยงามยิ่งขึ้น เป็นแหล่งลงทุนที่ดีที่สุดในเอเชีย ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางของอินโดไชน่า ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 7% ต่อเนื่อง 15 ปี” นายกอบศักดิ์กล่าว

เพิ่มนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น 10%

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยภายหลังร่วมลงนามในบันทึกแสดงเจตนารมณ์ ระหว่าง ททท.และองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคคิวชู ที่เมืองฟูกุโอกะ ว่า ททท.เตรียมจะกลับมาเปิดสำนักงาน ททท.ประจำเมืองฟูกุโอกะอีกครั้ง หลังจากได้ปิดสำนักงานไปเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เพื่อเชื่อมไทยกับเมืองฟูกุโอกะและภูมิภาคคิวชูใน 7 จังหวัดของญี่ปุ่น

นางสาวรัญจวน ทองรุต ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก ททท. กล่าวว่า การเปิดสำนักงาน ททท.ในฟูกุโอกะอีกครั้งจะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ในปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นไปท่องเที่ยวไทยมากที่สุดถึง 1.54 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 7.28% จากปีก่อน สร้างรายได้กว่า 67,512 ล้านบาท นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นถือเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันที่ 5,353 บาท หรือ 44,000 บาทต่อทริป

ในปี 2561 ททท.ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นให้ได้อีก โดยได้หารือกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เตรียมเพิ่มเที่ยวบินตรงมายังจังหวัดฟูกุโอกะอีก 3 เที่ยวต่อสัปดาห์ เป็น 10 เที่ยวต่อสัปดาห์ จะเริ่มบินในวันที่ 25 มี.ค.นี้

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”