หุ้นดิ่ง บล.คุมเข้มพอร์ตมาร์จิ้น จับพฤติกรรมเทรด-สั่งเพิ่มหลักประกัน-

โบรกเกอร์คุมเข้มลูกค้ามาร์จิ้นช่วงตลาดหุ้นผันผวนลง สั่ง “เพิ่มหลักประกัน-ระงับวงเงินกู้” เร่งตรวจสอบพฤติกรรมลูกค้าที่ลงทุนหุ้นตัวเดียว หวังสกัด “ปั่นราคา” 3 ค่าย บล.ยันไม่มีลูกค้าถูกบังคับขายหุ้นทิ้ง

เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรงเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ (5-6 ก.พ.) ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลกที่นำโดยตลาดหุ้นดาวโจนส์ สหรัฐ โดยดัชนี SET index ไหลลงจาก 1,827.35 จุด มาสู่ 1,788.43 จุด ปรับลง 38.92 จุด หรือ 2.19% ทำให้มูลค่าราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) อยู่ที่ 17.95 ล้านล้านบาท ซึ่งหายไปราว 5 หมื่นล้านบาท นับจากมาร์เก็ตแคปที่เคยสูงสุดเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่อยู่ระดับ 18.45 ล้านล้านบาท ที่ี่ดัชนีขึ้นไปสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,838.96 จุด ขณะที่ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ดัชนีปรับตัวร้อนแรงเพิ่มขึ้นราว 4.17% นับจากสิ้นปี 2560

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับลงแรง ซึ่งอาจส่งกระทบต่อกลุ่มนักลงทุนที่ใช้บัญชีมาร์จิ้น (กู้เพื่อซื้อหุ้น) และอาจจะมีบางส่วนที่ถูกโบรกเกอร์เรียกหลักประกันเพิ่มเติม หากลูกค้ามาร์จิ้นไม่สามารถเพิ่มได้ ก็อาจจะเข้าข่ายถูกบังคับขายหุ้นดังกล่าว (ฟอร์ซเซล)

สำหรับปัจจุบัน บัญชีมาร์จิ้น (พอร์ตมาร์จิ้น) ของทั้งระบบอยู่ที่กว่า 7 หมื่นล้านบาท ยังต่ำเมื่อเทียบกับในอดีตที่เคยสูงถึง 1 แสนกว่าล้านบาท ส่วนสถานการณ์ในรอบนี้ยังไม่ถึงระดับที่น่ากังวลมาก เพราะแต่ละโบรกเกอร์มีมาตรการรองรับความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละรายอยู่แล้ว

ในส่วนของ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ปัจจุบันมีลูกค้าที่บัญชีมาร์จิ้นวงเงินรวมประมาณกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งอาจจะถูกเรียกให้เพิ่มหลักประกันบ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้นฟอร์ซเซล

“ปัจจุบันสมาคมโบรกฯยังไม่มีการเรียกสมาชิกเข้ามาหารือจากตลาดที่อาจผันผวนรุนแรง เพราะตอนนี้ทุกคนยังรับมือได้ และการปรับฐานรอบนี้มาจากปัจจัยภายนอก ไม่ได้มาจากภายในประเทศ ดังนั้นเมื่อลงถึงระดับหนึ่งก็อาจมีแรงซื้อคืนกลับเข้ามา” นางภัทธีรากล่าว

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET กล่าวว่า ตลาดหุ้นที่ปรับตัวผันผวนขึ้นลงแรง ๆ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ลูกค้ามาร์จิ้น บางส่วนของบริษัทได้ถูกเรียกหลักประกันเพิ่มเช่นกัน แต่ยังไม่มีรายใดถูกบังคับขายหุ้น ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงปัจจุบัน บริษัทมีการปล่อยมาร์จิ้นให้ลูกค้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 1-2 พันล้านบาท จากช่วงต้นปีที่อยู่ 1.1 หมื่นล้านบาท และถือว่ามีพอร์ตมาร์จิ้นมากที่สุดในอุตสาหกรรม

“ท่ามกลางภาวะตลาดหุ้นที่ผันผวนรุนแรง เราก็ได้สั่งให้ลูกค้าเพิ่มหลักประกันในกรณีที่หุ้นตัวนั้น ๆ ปรับลงแรง หรือการตรวจสอบพฤติกรรมการซื้อขายหุ้นของลูกค้าที่เข้าข่ายปั่นราคา และหากพบว่าลูกค้าเอามาร์จิ้นไปซื้อหุ้นเพียงตัวเดียว หรือทยอยสะสมหุ้น โดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีรองรับ และซื้อหุ้นตัวเดียวในสัดส่วนเกินครึ่งของวงเงินที่บริษัทให้ ก็อาจมีการสั่งระงับวงเงินมาร์จิ้นได้” นายมนตรีกล่าว

นายธนพิศาล คูหาเปรมกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยรอบนี้พักฐานลงราว 1-2% เท่านั้น ถือว่าลงไม่มากนักจากดัชนีที่ปรับตัวขึ้นสูงในช่วงต้นปีนี้ ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมียอดปล่อยมาร์จิ้นบัญชีราว 400-500 ล้านบาท ซึ่งมีบางรายที่ถูกให้เพิ่มหลักประกันบ้าง แต่บริษัทหลักทรัพย์ก็ยังไม่ได้มีความกังวลเกี่ยวกับพอร์ตมาร์จิ้นดังกล่าว

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”