CEO SC “ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์” โรดแมป Reinvention 6 หมื่นล้าน-

สัมภาษณ์

เป็นเจ้าของสถิติซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการแพงที่สุดใน พ.ศ.นี้ ขนาดเนื้อที่ 808 ตารางวา หรือ 2-0-8 ไร่ เฉลี่ยตารางวาละ 3.1 ล้านบาท ล่าสุด “ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เดินหน้าสร้างสีสันใหม่ด้วยการประกาศโรดแมปแผนลงทุน 3 ปีหน้า (2018-2020) ตั้งเป้ายอดพรีเซลรวมกันเกินกว่า 60,000 ล้านบาท

Q : มองราคาที่ดินปีนี้ยังไง

ตอนซื้อที่ดินแปลงหลังสวนไม่ได้มีทาร์เก็ตนิวไฮของตลาด (ยิ้ม) ในด้านราคาไม่ได้ตั้งเป้าหรือกำหนดอะไรไว้ว่าจะต้องราคาเท่าไหร่ แต่จะดูความเป็นไปได้ในการลงทุนเป็นหลัก ซื้อที่ดินมาพัฒนาแล้วขายให้แมตช์กับลูกค้าเราได้ไหม ถ้าได้ก็ตัดสินใจ

ปีนี้การเลือกที่ดิน มองว่าจะมีที่ดินหลากหลายมากขึ้น จะมีที่ดินลีสโฮลด์ปล่อยออกมามากขึ้น ทางเลือกภาษีใหม่ ๆ ที่รัฐเตรียมบังคับใช้ทำให้หลายคนอยากปล่อยที่ดินออกมา

ส่วนการเพิ่มของราคาที่ดิน เชื่อว่าทุกวันนี้ราคาที่ดินวิ่งตามอินฟราสตรักเจอร์ประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่เจริญไปตามหลักเออร์บาไนเซชั่น ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าราคาร้อนแรงมาก เพราะฉะนั้น แนวโน้มสปีดของการเติบโตของราคาอาจชะลอลง

Q : โรดแมปธุรกิจ 3 ปี

ในยุคดิสรัปชั่นแลนด์สเคปในการทำธุรกิจเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม โดยมีดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อมอุตสาหกรรมที่ต่างกัน คำถามแรกตอนนี้ต้องถาม why จากนั้นจึงถาม what

เอสซีฯได้ประกาศโรดแมป 3 ปีไปแล้ว เรามีกลยุทธ์ 4 ข้อ ซึ่งผมร่วมกับทีมงานทุกคนร่วมกันจัดทำขึ้นมา รายละเอียดกลยุทธ์ 1.reinvention ปรับวิธีคิด ปรับวิธีทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์เพื่อส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้า เราปรับสู่การเป็น living solutions provider มองทะลุเข้าไปให้เห็นชีวิตพักอาศัยในบ้าน คนต้องการอะไร พฤติกรรมเป็นยังไง

เราจะทำลิฟวิ่งโซลูชั่นส่งมอบให้กับเขาได้ยังไง โดยบ้านและคอนโดมิเนียมเป็นหนึ่งในลิฟวิ่งโซลูชั่น แนวทางใช้คอนเซ็ปต์ 3 D เริ่มจาก digitize นำดาต้าลูกค้ามาปรับปรุงเพื่อให้การทำงานทำได้แม่นยำยิ่งขึ้น, design ที่ต้องสอดรับกับไลฟ์สไตล์พฤติกรรมลูกค้าให้มากที่สุด และ develop ผสานนวัตกรรมแล้วส่งต่อสินค้าให้ลูกบ้าน

2.กลยุทธ์ cocreation ทำงานร่วมกับพันธมิตรที่หลากหลาย ในที่ประชุมคำถามแรก อะไรคือลิฟวิ่งโซลูชั่น แพลตฟอร์มที่ใช้คุยกับพันธมิตรคือบ้านที่มีคนพักอาศัยอยู่ภายใน จากนั้นมีวงกลมหลายระดับที่แวดล้อมไปด้วยปัจจัยสนับสนุนให้ที่อยู่อาศัยบวกกับสิ่งต่าง ๆ แล้วส่งมอบลูกค้า ผมเรียกว่า “รู้ใจ ลิฟวิ่ง โซลูชั่นแพลตฟอร์ม”

ปีที่ผ่านมา เอสซีฯได้ร่วมลงทุนกับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์สำคัญ เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเทคโนโลยี โดยร่วมกับบริษัท Fire One One โดย “คุณไวท์-ชาคริต ชาญรุ่งสกุล” ร่วมมือกันหาลิฟวิ่งโซลูชั่น นอกจากนี้ยังร่วมกับพันธมิตรหลากหลายซึ่งไม่หยุดเพียงเท่านี้

3.กลยุทธ์ quality first เรื่องที่ไม่เคยล้าสมัย แบ่งเป็น 2 ส่วน คือก่อนโอน กับหลังโอน

โดยช่วงก่อนโอน บริษัททำสามเรื่อง ประกอบด้วย ธุรกิจอสังหาฯในช่วงสามปีของโรดแมปเราวางแผนสร้างบ้าน 7,500 ยูนิต 1 ล้านตารางเมตร ตั้งใจจะสร้างให้ดีที่สุด มีซัพพลายเออร์ 100 กว่าราย

สิ่งที่จะทำคือ ไม่เพิ่มซัพพลายเออร์ใหม่ ๆ มากมาย แต่ขยายสเกลให้โตไปกับเรา มีการประเมินผลในรูปเกรด ถ้าเกรดดีมากก็ยิ่งได้รับงานมากขึ้น เพราะหัวใจสำคัญคือทีมเวิร์ก ยิ่งทำงานร่วมกันยิ่งเรียนรู้ ทำงานไหลรลื่น และเกิดคุณภาพงานที่ดี

บริษัทร่วมกับพาร์ตเนอร์ทำเรื่อง TQM เราจะฟังเสียงลูกค้า มองแบบฮิวแมนเซนทริก แก้ปัญหาให้ลูกค้าก่อน เราทำ top quality 5-10 ดีเฟ็กต์ลดลงเรื่อย ๆ

ถัดมา มีการใช้ BIM จากเดิมสถาปนิก วิศวกร ทำไฟลิ่งคนละเวอร์ชั่น ทำให้มีการผิดพลาดข้อมูลบ้าง ต่อไปนี้ทุก ๆ โครงการของเอสซีฯใช้ระบบบิม ซึ่งมีโมเดลสามมิติ บริษัทรับเหมา สถาปนิก วิศวกรทำงานบนไฟล์เดียวกัน สถาปนิกทำเรื่องสามมิติ วิศวกรทำเรื่องโครงสร้าง ผลลัพธ์คือได้คุณภาพกลับมา ผลได้ยังรวมถึงค่าเผื่อความผิดพลาดลดน้อยลง คอสต์ก็ลดลงตามด้วย

ในส่วน “หลังโอน” มีสามส่วนเช่นกัน เริ่มจากร่วมกับพันธมิตรตั้งบริษัท SCABLE โดยร่วมกับเจ้าของสินค้าพัฒนาฝีมือช่าง, มีการลงทุนสตาร์ตอัพ “ฟิกซี่” อันดับหนึ่งประเทศไทย มีช่าง 3,000 คน ซ่อมได้เก่งและซ่อมได้หลากหลาย ทำให้โตในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพไปด้วย เพราะมีโนว์ฮาว มีช่างจำนวนมหาศาลมาช่วยเก็บงาน และมีแอปพลิเคชั่น “บ้านรู้ใจ” รองรับงานบริการหลังการขาย ซึ่งจะถูกพัฒนาให้ฉลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ

สุดท้าย กลยุทธ์ top line growth เป้าหมายในสามปีมียอดพรีเซลรวม 60,000 ล้านบาท สัดส่วนแบ่งเป็นแนวราบ 65% แนวสูง 30% ออฟฟิศอีก 5%

Q : เซ็กเมนต์แนวสูงแนวราบ

สำหรับแนวราบ กลุ่มราคามากกว่า 8 ล้านบาทที่เอสซีฯเป็นผู้นำตลาด จะรักษาสถานะผู้นำไว้ ขณะเดียวกันรุกตลาดต่ำกว่า 8 ล้านบาทมากขึ้น โดยเพิ่มจาก 35% เป็น 50% ภายในปี 2020

คีย์ตัวหนึ่งคือเรื่องโซนนิ่ง ทุก ๆ โซนในกรุงเทพฯมีดีมานด์อยู่ จากทำเลถนัดของบริษัทอยู่กรุงเทพฯโซนตะวันตก จะขยับไปกรุงเทพฯโซนอื่นมากขึ้น

ภาพรวมโครงการอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 90% ต่างจังหวัด 10% โดยปีนี้เป็นปีแรกที่จะบุกตลาดฉะเชิงเทรา

ด้านแนวสูง มีการแตกบริษัทลูก คือ บริษัท สโคป จำกัด โดยเอสซีฯ ถือหุ้น 90% กับพันธมิตรคือคุณยงยุทธ์ ชัยพรหมประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสโคป

จากนี้จะมีคอนโดมิเนียม 2 แบรนด์ มีการซินเนอร์ยี่โดยทีมเอสซีฯ ดูแลเรื่องการก่อสร้าง ทางสโคปดูแลเรื่องบริการหลังการขาย เป้าหมายโครงการร่วมทุน 11 โครงการ มีที่ดินทำแล้ว 4 แปลง ทำเลรถไฟฟ้าบีทีเอสพหลโยธิน อ่อนนุช อโศก ชิดลม

ส่วนรายได้ ในสามปีนี้จะมีรายได้จากการโอนคอนโดฯลักเซอรี่ 3 โครงการหลัก ในขณะที่ยอดพรีเซลบริษัทสโคปเริ่มในปีหน้า และเริ่มมียอดรับรู้รายได้ในปี 2020

ภารกิจของคนเอสซีฯ คือ สร้างทุกเช้าที่ดีที่สุดให้กับลูกบ้านเอสซีฯทุกคน

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”