แลนด์มาร์กใหม่ “สะพานเลียบทะเลชลบุรี” ขยาย “อ่างศิลา-คลองตำหรุ บูมท่องเที่ยว-

จากถนนตามผังเมืองรวมจังหวัดชลบุรี “สาย ฉ” ที่ขีดแนวโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อแก้ปัญหารถติด

ปัจจุบันกลายเป็น “สะพานเลียบชายฝั่งทะเลชลบุรี” แลนด์มาร์กใหม่ที่ลือชื่อ หลังเปิดใช้ปลายปี 2559 เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีสะพานเลียบชายทะเล

ทั้งโครงการมีระยะทางรวม 17 กม. แนวเส้นทางจะสร้างคู่ขนานไปกับถนนสุขุมวิท แต่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) เมื่อปี 2556 ให้ก่อสร้างได้ 7 กม.

โครงการถูกออกแบบก่อสร้างมีทั้งงานถนนและสะพาน ขนาด 4 ช่องจราจร แบ่งสร้าง 5 ช่วง ค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท ก่อสร้างโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานท้องถิ่น

ปัจจุบันสร้างเสร็จเปิดใช้แล้วมีช่วงที่ 1 จากศาลารวมใจชลไปถึงโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำ อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี ยาว 1,880 เมตร เปิดใช้วันที่ 14 ก.ย. 2560

ช่วงที่ 3 งานสะพานเลียบชายทะเล จากเทศบาล ต.บางทราย ถึงบางทรายซอย 83 ยาว 980 เมตร เปิดใช้วันที่ 16 พ.ย. 2559 ช่วงที่ 4 และ 5 จากศาลารวมใจชล ถึงถนนคลองสังเขป ยาว 2,400 เมตร

เหลือช่วงที่ 2 จากโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำ อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี ถึงถนนหน้าองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ยาว 1,600 เมตร ค่าก่อสร้างกว่า 400 ล้านบาท ตามแผนกรมโยธาฯจะเริ่มก่อสร้างในเดือน เม.ย. 2561 แล้วเสร็จ 2563

ปัจจุบันทางจังหวัดตั้งชื่ออย่างเป็นทางการให้สะพานแห่งนี้ว่า “สะพานชลมารควิถี” ล่าสุดยังได้เสนอคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จันทบุรี จะต่อขยายเส้นทางช่วงหัว-ท้ายออกไปอีก 11.5 กม.เพื่อให้โครงข่ายสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

โดยจะต่อขยายจากช่วงบางกรวย-ถนนสุขุมวิท บริเวณคลองตำหรุ 9 กม. และต่อจากช่วงที่ 2 ไปถึงทางหลวง 3134 เป็นถนนเข้าอ่างศิลา 2.5 กม. หลังจากนี้จะจ้างที่ปรึกษาและทำรายงานอีไอเอ คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปีกว่าจะได้รับอนุมัติและเริ่มก่อสร้างได้

เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะเป็นเส้นทางลัดเลี่ยงรถติดในเมือง ช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางเหลือไม่ถึง 1 ชั่วโมง

อีกทั้งเป็นโครงข่ายใหม่ให้กับจังหวัดชลบุรี อยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เนื่องจากเป็นเมืองสำคัญด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ในระดับนานาชาติ มีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว และเกิดปัญหารถติด ถนนสายนี้จะเป็นทางเลือกหนึ่งในการเดินทาง ไปท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ของจังหวัดชลบุรี

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้