Maker Community เสริมแกร่งสตาร์ตอัพ 4.0-

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดเสวนา “Maker Community ถอดบทเรียนนักประดิษฐ์สู่ธุรกิจทำเงิน” ฉายภาพความสำคัญ “เมกเกอร์” ในยุคนี้

“ชัยวัฒน์ ลิ้มพรจิตรวิไล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโนเวตีฟ เอ็กเพอริเมนต์ จำกัด (INEX) กล่าวว่า เมกเกอร์คือนักประดิษฐ์หรือ “นักทำ” โดยวัฒนธรรมเมกเกอร์คือเน้นทำเอง ไม่ว่าจะเป็นการดัดแปลง ซ่อมแซม หรือทำใหม่

ที่ผ่านมาในไทยเมกเกอร์ อยู่ในรูปของโรงเรียนสารพัดช่าง ซึ่งมีข้อจำกัดที่ต้องลงทะเบียนและเรียนเวลาทำงาน คนทั่วไปจึงเข้าถึงได้น้อย จนเริ่มจัดงาน Mini Maker Faire ในปี 2558 และจัดต่อเนื่องมาจนได้รับการยอมรับว่าเป็นงานที่ดีที่สุดในโลก และปีหน้าจะเปลี่ยนชื่อเป็น Maker Faire ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ 6 ในเอเชียที่มีงานนี้

“เมกเกอร์ไม่ได้มีแค่เรื่องเทคโนโลยี ยังนำศิลปะมารวมผสมผสานสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งไม่ต้องเป็นมืออาชีพ แค่ใจรัก และอยากทำ เมื่อทำออกมาแล้วมีคนเห็นค่าก็ขายได้ ทุกวันนี้ด้านเกษตร และศิลปะของไทยยังมีน้อย Maker Space จึงจะเป็นตัวช่วยป้อนคนเข้าสู่ Maker Faire และ Maker Faire เป็นพื้นที่ให้คนที่สนใจมาซื้อ ทำให้เมกเกอร์มีรายได้”

ด้าน “นายสัตวแพทย์กษิดิ์เดช ธีรนิตยาธาร” ประธานเจ้าหน้าที่นวัตกรรม บริษัท จี.ไอ.บี. เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า อุตสาหรรมนำโรบอตมาใช้มากขึ้น ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้เกิดจากเมกเกอร์ ถ้าเมกเกอร์ด้านเทคโนโลยีมารวมกับไบโอเทคโนโลยีจะเกิดประโยชน์อีกมาก เป็นความท้าทายใหม่ ๆ

“ในบ้านเรากำลังตั้งสมาคมนวัตกรรมภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วยหลายด้าน ไบโอเทค, ฟู้ดเทค จึงอยากชวนบริษัทใหญ่ให้มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงบริษัทเล็ก”

“เพ็ชร ประภากิตติกุล” นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ไทยมีของดีเยอะแต่ยังไม่เคยทำเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ จึงเติบโตได้กว่า 1,000% ในคอนเซปต์ “ปัญญานำทุน” ที่ใช้คอนเน็กชั่น คอมมิวนิตี้ และความรู้แก้ปัญหา มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ซึ่งคือ จิตวิญญาณของผู้ประกอบการ ถ้ามีเมกเกอร์ สเปซ ด้วย ก็จะเป็นตัวช่วยที่ดี

“ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์” ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมสร้างศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC : Industry transformation center) ทำงาน 4 ด้าน คือ จับคู่นวัตกรรมสร้างอินโนเวชั่น แบ่งปัน (Share) สิ่งของร่วมกันทั้งไอเดีย อุปกรณ์ และการเงิน (Fund) เพื่อปฏิรูป Product และ Process สนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0


“ช่องว่างอุตสาหกรรมไทย คือ ขาดแคลนนักออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่ทำให้เป็นของขายได้ ซึ่งเมกเกอร์อาจช่วยได้ และเมื่อถึงเวลาต้องผลิตจำนวนมาก หน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมคือ รับจ้างผลิต OEM มาช่วยในส่วนนี้”