“พรรคประชาชาติ” ในเงาเพื่อไทย ? เปิดพื้นที่มิตรภาพ-นักสร้างสันติภาพ-

ผลพวงจากการออกเสียงประชามติไม่รับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำมาสู่การรวมตัวกันของอดีต ส.ส.-ส.ว. อดีตข้าราชการที่พรางตัวใน “พื้นที่ความรุนแรง” ในนาม “พรรคประชาชาติ”

ผลการนับคะแนนประชามติคว่ำรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 1 ล้านเสียง ประกอบกับการทำโพลอย่างลับ ๆ ทำให้ความเป็นไปได้ของการทำพรรคการเมืองของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจริงจนได้

พรรคประชาชาติ (ปช.) ที่นำโดย “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” อดีตประธานรัฐสภา-แกนนำกลุ่มวาดะห์ และ
“พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) โดยได้รับเลือกจากที่ประชุมเป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคตามลำดับ

“พ.ต.อ.ทวี” เพลย์เมกเกอร์ของพรรคประชาชาติ ตั้งเป้าหมายการทำพรรคการเมืองในครั้งนี้ไว้ “สูงลิ่ว” คือ การเข้าไปมีส่วนในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ทว่าไม่ใช่เฉพาะความขัดแย้ง-ความรุนแรงในภาคใต้

“เป้าหมายใหญ่ คือ การสร้างมิตรภาพของคนในประเทศ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต้องมีพื้นที่เพื่อสร้างมิตรภาพให้เกิดขึ้น”

ในอดีตที่ผ่านมามี 2 วิกฤตทางการเมืองสำคัญ หนึ่ง ความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อ และสอง ความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้

“เราเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต้องใช้ความยุติธรรมตามความเป็นจริง หรือกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์”

ยกตัวอย่าง ความยุติธรรมในเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ และตากใบ ซึ่งกระบวนการยุติธรรมถึงที่สุดในศาลฎีกาแล้ว แต่ประชาชนยังไม่รู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม

“ประชาชนจึงต้องได้รับการฟื้นฟู เยียวยา ทำความจริงให้ปรากฏ และต้องไม่ให้คนผิดลอยนวล ปัญหาภาคใต้ก็เช่นกัน และลดความหวาดระแวง”

“ดังนั้นการแก้ปัญหาภาคใต้ต้องจริงจัง การสร้างสันติภาพต้องเปลี่ยนจาก…เป็นนักสร้างสันติภาพให้ได้”

ดังนั้น 2 วิกฤตความขัดแย้ง จึงเป็นเป้าหมายหลักของการทำพรรคประชาชาติเพื่อสร้าง “มิตรภาพ” ให้เกิดขึ้น คือ มิตรภาพระหว่างความเห็นต่างทางการเมือง มิตรภาพในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

อีก 1 ภารกิจของพรรคประชาชาติ คือ การนำสังคมไปสู่ “พหุวัฒนธรรม” โดยเสนอร่าง พ.ร.บ.พหุวัฒนธรรม คือ การไม่ยุยง ใส่ร้าย สร้างให้คนเกลียดชังข้ามวัฒนธรรม หรือมีมาตรการไม่ให้เกิดการใส่ร้าย ยุยง หรือทำให้เกลียดชังข้ามวัฒนธรรม

ขณะที่นโยบายการกระจายอำนาจเพื่อให้ทะลุออกจากกำแพงใหญ่ คือ กำแพงที่ 1 รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขยาก กำแพงที่ 2 พูดถึงเรื่องกระจายอำนาจไว้น้อยกว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2550

“ภาคใต้เราจะให้ความสำคัญของพหุวัฒนธรรม ไม่เฉพาะมุสลิม ความเป็นพหุวัฒนธรรม คือ ให้คนพุทธอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างพุทธ มุสลิมอยู่ในสังคมไทยได้อย่างมุสลิม”

เพื่อไม่ให้พรรคประชาชาติถูกตีทะเบียนเป็น “พรรคมุสลิม” นโยบายการกระจายอำนาจจึงมีหลายรูปแบบ-หลายระดับ ไม่ใช่เฉพาะในภาคใต้เท่านั้น เช่น กรุงเทพมหานคร ต้องเลือกตั้งทุกตำแหน่งที่สำคัญ การกระจายงบประมาณ การกระจายการอนุมัติในพื้นที่

การเปิดตัวอย่างอลังการของพรรคประชาชาติ-ประกาศกร้าวกวาดเก้าอี้ 20 ที่นั่ง โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ “เจะอาหมิง โต๊ะตาหยง” อดีต ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกมาแฉเบื้องหลังโปรดักชั่นฟอร์มยักษ์ ว่า ประชาชนรู้ว่าพรรคประชาชาติเป็น “พรรคนอมินี” ของใคร

เพราะตั้งแต่ยังไม่เปิดตัว-มีข่าวสะพัดว่า “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” และอดีต ส.ส.กลุ่มวาดะห์ในพรรคเพื่อไทยจะยกขบวนออกจากอ้อมกอดนายทักษิณ พร้อมกับ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” อดีตเลขา ศอ.บต.-คีย์แมนพูดคุยเพื่อสันติภาพในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาตั้งพรรคการเมือง พรรคประชาชาติก็ถูกตีตราว่า เป็นพรรคพันธมิตรเพื่อไทย-ทักษิณหรือไม่

ขณะที่แหล่งข่าวอดีต ส.ส.ภาคใต้หลายสมัยออกมาสำทับ ว่า เป็นไปตามการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา-พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จะออกมาตั้งพรรค โดยได้รับการสนับสนุนทางอ้อมจากเครือข่ายเก่าค่ายทักษิณ

ก่อนที่จะวิเคราะห์ในเชิงกลยุทธ์ว่า “พรรคประชาชาติอาจเป็นเพียงพรรคสาขาของเพื่อไทยหวังชิงคะแนนพื้นที่เป้าหมายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และภาคใต้บางส่วน รวมถึงจังหวัดสงขลาเพราะพี่น้องมุสลิมอยู่”

“พรรคประชาชาติคงไม่คาดหวังว่าจะได้ ส.ส.เขตเยอะ แต่หวังได้คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ”

เมื่อการเมืองเดินเข้าใกล้จุดคลายล็อก บรรยากาศนักเลือกตั้งที่ถูกแช่แข็งมา 7 ปีคึกคักทั่วกระดานการเมือง

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”