ยาต้านมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม เพิ่มอัตรารอดชีวิต 2 เท่า-

มะเร็งเต้านม เป็นประเภทมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลก ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นทุกปี ด้วยระยะเริ่มต้นของมะเร็งเต้านมมักไม่มีสัญญาณหรืออาการที่แสดงออกอย่างชัดเจนนัก กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวอีกทีมะเร็งก็แพร่กระจายลุกลามไปถึงระยะที่สามถึงสี่แล้ว

การรักษามะเร็งเต้านม ก่อนหน้านี้มีการผ่าตัด การฉายแสง เคมีบำบัด การให้ยาต้านฮอร์โมน แต่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีอีกทางเลือกในการรักษา หลังจากที่บริษัท ไฟเซอร์ อิงก์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้คิดค้นนวัตกรรมยาทานสำหรับรักษามะเร็งเต้านมในระยะลุกลามและแพร่กระจาย ซึ่งในประเทศไทยยานี้ได้รับอนุมัติตำรับยาจาก อย.ในปีที่ผ่านมา จากนั้น บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย ได้บริจาคยานี้ให้มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายจำนวน 50 คน

รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อดีตนายกสมาคมมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยาตัวนี้เป็นยาต้านมะเร็งชนิดที่ยับยั้งการทำงานของโปรตีนซีดีเค 4/6 ซึ่งยานี้ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้เป็นยาอันดับแรก (first line) ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามหรือแพร่กระจายชนิด ER+/HER 2-วัยหมดประจำเดือน

รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ให้ข้อมูลว่า ยาตัวนี้มี 2 สูตร ซึ่งจะใช้ต่างกัน สูตรแรกใช้กับผู้ป่วยที่ไม่เคยรับยาต้านฮอร์โมนใด ๆ มาก่อน ส่วนสูตรที่สองใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านฮอร์โมนแล้วดื้อยา ข้อจำกัดการใช้ยาคือต้องใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะแพร่กระจาย และมีตัวตอบรับฮอร์โมนอยู่ในเซลล์มะเร็งเท่านั้น เพราะจะสามารถยับยั้งฮอร์โมนที่มีส่วนช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้

สำหรับประสิทธิผลของการใช้ยานี้ รศ.ดร.นพ.วิโรจน์บอกว่า เมื่อใช้ร่วมกับยาเลโทรโซล (Letrozole) ซึ่งเป็นยาต้านฮอร์โมนที่ใช้มาก่อนหน้านี้ จะสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้เกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับการรักษาเลโทรโซล (Letrozole) เพียงอย่างเดียว โดยคนไข้ที่รักษาตัวด้วยยาต้านฮอร์โมนเพียงอย่างเดียวจะสามารถควบคุมเซลล์มะเร็งได้ประมาณ 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี แต่สำหรับยาตัวนี้สามารถยืดอายุได้ถึง 3 ปีขึ้นไป จึงถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาเพื่อยืดอายุ และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ส่วนผลข้างเคียงจากการใช้ยาชนิดนี้น้อยกว่าผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด ซึ่งผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการเม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้มีไข้ ติดเชื้อ และเกิดผลกระทบกับระบบทางเดินอาหาร แต่อาการเหล่านี้พบในปริมาณที่น้อยกว่าการใช้ยาบำบัดอื่น ๆ คือไม่เกิน 5% ของผู้ป่วยทั้งหมดที่ใช้ยานี้

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”