ค่ายเพาเวอร์กรีน ปีที่ 13 หนุนเยาวชนเรียนรู้สิ่งแวดล้อม-

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือ “ค่ายเพาเวอร์กรีน” ปีที่ 13 ภายใต้หัวข้อ “การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพกับการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” คัดเลือกเยาวชนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 สายวิทยาศาสตร์จำนวน 70 คน จากผู้สมัครทั่วประเทศรวม 389 คน เข้าค่ายที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล

“อุดมลักษณ์ โอฬาร” ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บมจ.บ้านปู กล่าวถึงค่ายเพาเวอร์กรีนของปีนี้ว่า ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ แต่เน้นส่งเสริมให้เยาวชนพัฒนาทักษะด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ควบคู่การเรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการอนุรักษ์ และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากความหลากหลายทางชีวภาพ

“เราหวังว่า น้อง ๆ จะนำประสบการณ์ที่ได้รับจากค่ายไปต่อยอด เพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติ ทั้งในเชิงการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และในเชิงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน”

สำหรับกิจกรรมพิเศษในปีนี้ เยาวชนได้เรียนรู้วิถีของชุมชนต้นแบบที่นำความหลากหลายทางชีวภาพมาใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจได้อย่างสมดุลไปพร้อมกับการอนุรักษ์ โดยมี จ.นครปฐม ที่เยาวชนได้เรียนรู้แนวทางการประยุกต์ใช้ทรัพยากรทางชีวภาพในเชิงพาณิชย์ผ่านแนวคิด “สามพรานโมเดล” และเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวสวนที่รวมกลุ่มจัดตั้ง “โรงเรียนชาวสวนคลองจินดา”

อีกแห่งคือ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเยาวชนได้เรียนรู้ขั้นตอนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ เพื่อนำมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ ณ ป่าชุมชน ต.ลุ่มสุ่ม หนึ่งในชุมชนต้นแบบที่นำแนวคิดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของชุมชน

“รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์” รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล ในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน 13 กล่าวเสริมว่า จากกิจกรรมที่จัดขึ้น ทำให้เยาวชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลให้พวกเขาสามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่า รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“หลังจากเยาวชนได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแล้ว พวกเขาจะนำความรู้ที่ได้จากตลอดกิจกรรมค่ายมาตกผลึกและสร้างสรรค์เป็นโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมนำเสนอแก่สาธารณชน และคณะกรรมการค่าย โดยหัวข้อโครงงานทั้งหมดมีความหลากหลายตามประเด็นที่เยาวชนแต่ละกลุ่มให้ความสนใจ”

สำหรับโครงงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับทุนการศึกษามูลค่า 10,000 บาท คือ โครงงาน “Tannin Banana Peel” ที่สกัดสารแทนนินจากเปลือกกล้วยจนได้เป็นสารแทนนินในรูปแบบผง ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ โดยโครงงานดังกล่าวนำเปลือกกล้วยที่เหลือจากการบริโภคมาเพิ่มมูลค่า และสร้างให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ไปพร้อมกับลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากเปลือกกล้วย ซึ่งสอดคล้องกับหัวข้อของค่ายในปีนี้

“วรรณ์วิสา ผู้ช่วย” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ร.ร.เคียนซาพิทยาคม จ.สุราษฎร์ธานี ตัวแทนทีมชนะเลิศ บอกว่า ค่ายนี้ช่วยให้ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์รูปแบบใหม่ ผ่านวิทยากรที่ให้ความรู้ด้านศิลปะควบคู่กับการนำวิทยาศาสตร์ไปใช้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถนำการเรียนรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ และนอกเหนือจากความรู้แล้ว ค่ายนี้ยังทำให้ได้เจอเพื่อน ๆ จากทั่วประเทศที่ชอบวิทยาศาสตร์เหมือนกันอีกด้วย

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”