ลงทุนใน Green Bond ได้มากกว่าผลตอบแทน-

คอลัมน์ สถานีลงทุน

โดย ศิรินารถ อมรธรรม สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

Green Bond หรือ “ตราสารหนี้สีเขียว” เริ่มเป็นที่รู้จักของนักลงทุนมาระยะหนึ่งแล้ว ในฐานะเป็นตราสารหนี้ประเภทใหม่ในการระดมทุนเพื่อใช้ลงทุนในโครงการที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการพลังงานสะอาด การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การขนส่ง และอาคารสีเขียว เป็นต้น

หลาย ๆ ประเทศในเอเชียให้ความสนใจอย่างมากในการออก Green Bond ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ โดยในปี 2017 จีนมีมูลค่าการออก Green Bond สูงถึง 37.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศญี่ปุ่นก็มีการออก Green Bond เป็นครั้งแรกตั้งแต่ในปี 2014 โดย Development Bank of Japan และประเทศเกาหลีใต้ แม้ Green Bond จะไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนสักเท่าไหร่ แต่ก็มีมูลค่าการออกกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2017

ส่วนในกลุ่มประเทศอาเซียนก็ให้ความสนใจ Green Bond เช่นกัน โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2017 มาเลเซียออกศุกุกสีเขียว (Green Sukuk) เป็นครั้งแรกด้วยมูลค่า 58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการออกตามมาอีก 2 รุ่นในปีเดียวกัน ในอินโดนีเซีย เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีการออกศุกุกสีเขียวมูลค่ากว่า 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และประเทศสิงคโปร์มีมูลค่าการออกกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทย ล่าสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่มีการออกตราสารหนี้สีเขียว อายุ 7 ปี มูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,850 ล้านบาท ขายให้แก่
ไอเอฟซีซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มธนาคารโลก โดยเงินที่ได้จากการขายตราสารหนี้สีเขียวจะถูกนำไปสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ (climate-smart project) และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนว่าเงินทุนจะถูกนำไปใช้ในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมตามความตั้งใจของนักลงทุน ตราสารหนี้สีเขียวเหล่านี้ จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ถูกกำหนดตามมาตรฐานต่าง ๆ เช่น ASEAN Green Bond Principle ที่หลักเกณฑ์ปฏิบัติของการออก Green Bond เป็นไปตาม ICMA’s Green Bond Principles (GBP) สำหรับประเทศไทยเรา สำนักงานก.ล.ต. กำลังร่างหลักเกณฑ์การออกตราสารหนี้สีเขียวเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ออกของไทยได้ใช้เป็นแนวทาง โดยจะมีหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลซึ่งประกอบด้วย 4 ข้อ ดังนี้

1.Use of Proceeds คือ การกำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงินทุนจากการออกตราสารหนี้สำหรับโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

2.Project Evaluation and Selection คือ การประเมินและคัดเลือกโครงการที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมโดยใช้หน่วยงานภายนอกที่ได้รับการยอมรับ (External Review)

3.Management of Proceeds คือ การบริหารจัดการเงินทุนที่ได้รับจากการออกตราสารหนี้อย่างเหมาะสม และโปร่งใส รวมถึงจัดให้มีผู้ตรวจสอบภายนอก (External Review) เพื่อให้ขั้นตอนในการจัดสรรเงินเป็นไปอย่างเหมาะสม

4.Reporting คือ จะต้องจัดทำรายงานให้นักลงทุนทราบความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานจนกว่าจะเสร็จสิ้นโครงกา

รประเด็นความแตกต่างของอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) กับตราสารหนี้ทั่วไป (Conventional Bond) หรือที่เรียกว่า ส่วนเพิ่มสีเขียว (Green premium) ซึ่งเกิดจากการนำอัตราผลตอบแทนของ Green Bond มาหักลบด้วยอัตราผลตอบแทนของ Conventional Bond เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ โดยที่ผ่านมา มีการศึกษาของประเทศในแถบยุโรป พบว่า ผลลัพธ์มีทั้งสองแบบคือ 1) อัตราผลตอบแทน (yield) ของ Green Bond น้อยกว่าอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ทั่วไปราว 8-17 bps และ 2) ผลตอบแทนของตราสารหนี้ทั้งสองประเภทนี้ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ล่าสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาธนาคารพัฒนาเอเชียหรือ ADB (Asian Development Bank) ได้ทำการศึกษาอีกครั้งในหัวข้อเรื่อง The Role of Greenness Indicators in Green Bond Market Development พบว่า อัตราผลตอบแทนของ Green bond ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนของ Conventional Bond

นั่นคือนักลงทุนที่ลงทุนใน Green Bond จะได้รับผลตอบแทนไม่ต่างไปจากตราสารหนี้ทั่วไป (Conventional Bond) หรือสามารถกล่าวได้ว่านักลงทุนใน Green Bond นอกจากจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนแล้วยังได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยสนับสนุนการลดภาวะโลกร้อนให้กับโลกใบนี้ของเรา

ใครว่าทุนนิยมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะไปด้วยกันไม่ได้!

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือสแกน QR Code