ลุยรถไฟฟ้าเชียงใหม่ 3 สาย เปิดทำเลทองบูมสมาร์ทซิตี้-

เวทีสัมมนา “เชียงใหม่ 2019 Smart Economy Smart City ก้าวใหม่สู่อนาคตที่มั่นคง” คึกคัก ปลัดคมนาคมดันระบบรางแก้วิกฤตจราจร เปิดแผนลงทุนรถไฟฟ้า 3 สาย จุดพลุทำเลทองเมืองเชียงใหม่ แนะรัฐบูมครีเอทีฟอีโคโนมี ปั้นอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มนำร่องให้ไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานสัมมนา “เชียงใหม่ 2019 Smart Economy Smart City ก้าวใหม่สู่อนาคตที่มั่นคง” ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สภาอุตสหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และหนังสือพิมพ์ประชาชาชาติธุรกิจ ร่วมกันจัดขึ้น ณ ลานนา บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 มีผู้เข้าร่วมรับฟังการสัมมนาจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก ส่วนใหญ่ต้องการทราบทิศทางในอนาคตของเมืองเชียงใหม่ สถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งเทคโนโลยีที่กำลังปรับเปลี่ยนโลกสู่ยุคดิจิทัล

ดันเชียงใหม่เมือง ศก.ยั่งยืน

นายมนัส ขันใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีความสมบูรณ์หลายด้าน นับเป็นจังหวัดศูนย์กลางของภาคเหนือ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ และมีศักยภาพในความเป็น “ฮับ” ด้านต่าง ๆ ทั้งการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การรรักษาพยาบาล การขนส่ง การบริการ เป็นต้น ซึ่งแนวโน้มธุรกิจเหล่านี้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ เช่น แผนการลงทุนสร้างสนามบินแห่งที่ 2 เนื่องจากสนามบินเชียงใหม่ในปัจจุบัน จำนวนผู้โดยสารถือว่าเต็มจำนวนที่รองรับได้แล้ว จากที่ประมาณการไว้ 8 ล้านคนต่อปี แต่ขณะนี้ตัวเลขผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่สูงถึง 10 ล้านคน และตามแผนแม่บทของการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ระยะที่ 2 จะรองรับผู้โดยสารได้เต็มศักยภาพ 20 ล้านคนในปี 2568 จึงจำเป็นต้อง
เตรียมพื้นที่สนามบินแห่งใหม่รองรับ

นอกจากนี้ ยังได้รับการผลักดันให้มีการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (light rail transit) 3 เส้นทาง เพื่อรองรับการเดินทาง และแก้ปัญหาการจราจร รวมถึงยกระดับการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่สู่เมืองอัจฉริยะ (smart city) และพัฒนาให้เป็นเมืองสุขภาพ wellness city และ medical health hub ซึ่งจะทำให้เชียงใหม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่เศรษฐกิจที่อย่างยั่งยืน (smart economy)

ชูระบบรางตอบโจทย์เดินทาง

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม บรรยายพิเศษเรื่อง Mass Transit พัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาเมือง…รถไฟฟ้ามาหานะเชียงใหม่ ว่า สมัยก่อนกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษฯ คิดแต่การสร้างทาง กรมเจ้าท่าก็ทำท่าเรือ เราวางกันไว้ 4 เรื่องกรีนแอนด์เซฟ เราเอาความปลอดภัยการคมนาคมทั้งหมด ให้คนใช้รู้สึกปลอดภัย เราอยากจะปรับเป็นรถไฟฟ้า ต้องหาระบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเรื่องอินคลูซีฟทรานสปอร์ต ทำยังไงให้คนทุกกลุ่มต้องสามารถเข้าถึงระบบคมนาคมได้ และเรื่องคมนาคมมีประสิทธิภาพ เมืองใดที่ไม่มีประสิทธิภาพสร้างปัญหาเยอะมาก เช่น พลังงานที่สูญเสีย มลพิษ ดังนั้น เราอยากพัฒนาระบบที่มีคุณภาพ เน้นเรื่องระบบการขนส่งสาธารณะ และเรื่องเทคโนโลยีอินโนเวชั่น ซึ่งต้องมี
นวัตกรรม อยากปฏิรูปองค์กรให้มีความกระชับ

จากยุทธศาสตร์ในแผนการพัฒนาคมนาคม ไทยเปลี่ยนวิธีคิดใหม่แล้ว ต้องใช้ระบบรางแทนการร้องขอมอเตอร์เวย์ โดยจะพัฒนาระบบราง 3 ราง คือ 1.รางเดิม ซึ่งจะปฏิวัติเป็นรางคู่ เช่น เชียงใหม่จะมีรางคู่ เน้นการขนส่งสินค้า 2.รถไฟความเร็วสูง ที่เน้นขนส่งคน และ 3.รางที่เป็นพวกรถไฟฟ้าที่อยู่ในเมือง ดังนั้น ปริมาณความต้องการในการเดินทางสูงมาก โดยมีการวางแผน 8 ปี ระยะทางประมาณ 3,150 กิโลเมตร 5.5 แสนล้านบาท และทำแผนแม่บทรถไฟความเร็วสูง 2,506 กิโลเมตร 1.6 ล้านบ้านบาท เป็นโครงข่ายที่เชื่อมพัฒนาเมือง

ชูคมนาคมตัวนำพัฒนาเมือง

ปัญหาระบบคมนาคมในภูมิภาค ถูกพัฒนาในรูปแบบสังคมเมือง แต่ปัจจุบันเป็นสังคมเมืองสมัยใหม่ ดังนั้น วิธีคิดแบบเดิมตอบโจทย์ไม่ได้ ถนนที่เหมาะสมกับพื้นที่เมืองอยู่ที่ 20-25% ประเทศพัฒนาแล้วมีถนน 40 กว่า% แต่ของกรุงเทพฯมี 7% บางคนบอกว่าถึงทำให้รถติด แต่จะเอาเงินที่ไหนมาสร้าง ไม่มีทางสร้างได้ ระบบพื้นที่ทั้งหมดถูกพัฒนาหมดแล้ว แค่เวนคืนที่ดินยังทำไม่ได้เลย แค่คิดก็ไม่มีเงินแล้ว มาคิดวิธีอื่นดีกว่า มาทำระบบขนส่งสาธารณะดีกว่าไหม เราแพ้ระบบขนส่งสาธารณะ หรือการเดิน จักรยาน ตอนนี้สังคมเริ่มวนกลับมาที่เดิมแล้ว เราอยากส่งเสริมการเดินการใช้จักรยาน วันนี้บ้านเมืองจะน่าอยู่ขึ้น

สำหรับเชียงใหม่ ปี 2543-2553 เชียงใหม่เหมือนถูกฉีดยากระตุ้น โตเร็วมากเชียงใหม่มีรัศมีถนนโตไป 6 แฉก เมืองพัฒนาหรือโตขึ้นไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุม เราลงทุนถนนทำให้เมืองโต มีการพัฒนา แต่เกิดการจราจร ความเร็วเฉลี่ย 5-6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่าการจัดการล้มเหลวแล้ว ดังนั้นจะต้องพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะขึ้นมา ต้องมาแก้ปัญหาจราจร รวมถึงสิ่งแวดล้อม พลังงานของประเทศประมาณ 42%ถูกใช้ในภาคคมนาคม ซึ่งน่ากลัวมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราอยากให้ระบบคมนาคมเป็นตัวนำในการพัฒนาเมือง

พัฒนาโครงข่ายสายรองหนุน

สถานีรถไฟฟ้าถือเป็นเป็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดการเดินทาง สามารถทำกิจกรรม รถไฟฟ้าจะไม่ใช่แค่รถไฟฟ้า แต่จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมือง สำหรับเชียงใหม่มีการวางแผนการจัดทำศักยภาพในการพัฒนารอบสถานี หรือ TOD ไว้แล้ว ดังนี้ ตอนนี้เรากำลังทำแผนแม่บทระยะที่ 2 น่าจะอีก 5 ปี จะต้องคิดว่าจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะรอบรัศมี 2 กม. ใน กทม.มีคนกลุ่ม A คือ MRT และ BTS และ ARL กลุ่ม B คือ BRT และกลุ่ม C คือ รถประจำทาง เช่น แท็กซี่ 2 แถว แต่เชียงใหม่มีกลุ่ม C เพราะปริมาณผู้โดยสารไม่มาก และกำลังจะทำ B แต่ไปไม่ถึง A ต้องทำโครงข่ายขนส่งสาธารณะ หากรถไฟฟ้าเสร็จ จำเป็นต้องมีระบบก้างปลา โครงข่ายรองมาสนับสนุน เชียงใหม่เราต้องศึกษาระบบรถเดิมที่มาสนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะ คนต้องคิดใช้แค่ 2 อย่างคือ ขนส่งสาธารณะและรถส่วนตัว อนาคตบัตรแมงมุงจาก กทม.จะสามารถใช้ที่เชียงใหม่ได้ด้วย

ปักหมุดสายสีแดงปี 2563

หากทำได้จะเกิดประโยชน์ รถไฟฟ้าจะกลายมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมือง กระทรวงคมนาคมได้ทำแผนแม่บทรถไฟขึ้นมาแล้ว และเสนอ ครม.แล้ว แบ่งเป็น 3 สาย สายสีแดง 12 สถานี น้ำเงิน 13 และเขียว 10 และระบบฟีดเดอระบบรอง 7 เส้นทาง เสริม 7 เส้นทาง ในส่วนสายสีแดงนั้นกำลังออกแบบ น่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2563 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า และเสร็จสิ้นปี 2567 ซึ่งหลายท่านอยากให้ลงดิน ทำให้มีราคาแพงกว่า 3 เท่า แต่จะมีข้อดีด้านการไม่บดบังทิวทัศน์ของเชียงใหม่ ส่วนเส้นที่ 2 สีน้ำเงิน และสายสีเขียว โดยมีวงเงินรวม 80,320 ล้านบาท ระบบฟีดเดอร์ 6,336 ล้านบาท และพื้นที่พัฒนารอบสถานี หรือ TOD ประกอบด้วย 1.สถานีศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ (ศูนย์กลางการประชุมและแสดงสินค้า) 2.สถานีตลาดมีโชค (ธุรกิจ ศูนย์กลางเมืองใหม่) 3.สถานีขนส่งอาเขต (ธุรกิจ ศูนย์กลางเมืองใหม่) 4.สถานีไร่ฟอร์ด (การศึกษา) 5.สถานีขนส่งช้างเผือก (การอนุรักษ์ย่านเมืองเก่า) 6.สถานีไนท์บาซาร์ (ธุรกิจ และการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่า) 7.สถานีรถไฟ (ธุรกิจ ศูนย์กลางเมืองใหม่) 8.สถานีท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ธุรกิจ ศูนย์กลางเมืองใหม่) 9.สถานีศรีบัวเงินพัฒนา (ที่พักอาศัยชานเมือง) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือท้องถิ่นและภาคประชาชนถึงจะพัฒนาพื้นที่ได้

“สำหรับเชียงใหม่การทำเรื่องสมาร์ทซิตี้มีสมาร์ทโมบิลิตี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีเงินลงทุนและความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับอนาคตของเมือง และเป็นเมืองที่ยั่งยืนต่อไป” ปลัดคมนาคมกล่าว

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือสแกน QR Code