สถาบันเทคโนฯไทย-ญี่ปุ่น ทุ่ม 200 ล้าน-รับ นศ.อินเตอร์-

สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (Thai-Nichi Institute ofTechnology : TNI) เปิดดำเนินการมาครบ 10 ปีแล้ว ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของการเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรีและปริญญาโท มีผู้สำเร็จการศึกษาไปแล้วกว่า 4,500 คน และมีอัตราเข้าทำงาน 100% โดย 50% ของบัณฑิตที่จบไปเข้าทำงานในบริษัทของประเทศญี่ปุ่น

“รศ.ดร.บัณฑิต โรจน์อารยานนท์” อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ฉายภาพให้ฟังว่าสถาบันวางแนวทางสำหรับการผลิตนักศึกษาไว้ 3 เสาหลัก คือ ต้องสามารถปฏิบัติงานได้ มีภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษดี และมี Soft Skills โดยสิ่งที่จะพัฒนาต่อคือให้นักศึกษาจบออกไปแล้ว สามารถทำธุรกิจของตัวเองได้ หรือต่อยอดธุรกิจจากงานประจำ และไม่จำเป็นต้องเป็นพนักงานของบริษัทขนาดใหญ่ เพราะปัจจุบันหลายบริษัทจำกัดจำนวนพนักงาน หรือรับพนักงานลดลง

“สถาบันจะผลักดัน และสนับสนุนให้นักศึกษาหาแนวทางของตัวเองให้เจอ เพื่อสามารถทำงานได้จริง และประกอบอาชีพได้ ตลอดจนเป็นบัณฑิตคุณภาพดีที่ออกไปร่วมสร้างสรรค์สังคมให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น”

ทั้งนั้น ด้วยความที่ TNI ก่อตั้งโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. เมื่อเร็ว ๆ นี้จึงมีการร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี เพื่อเป็นทิศทางในการดำเนินงานให้ก้าวทันสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสอดคล้องกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีทั้งหมด5 ด้าน ได้แก่

หนึ่ง พัฒนาแบบจำลองการเรียนรู้โดยใช้ระบบสารสนเทศอย่างเหมาะสม ด้วยการเปิดหลักสูตรออนไลน์โดยใช้แพลตฟอร์ม MOOC : Massive Open Online Course ในการฝึกอบรม และการพัฒนาเนื้อหาหลักสูตร เพื่อให้บริการด้าน HRD (Human Resource Development) สำหรับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับโรงงานที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล

“เราเข้าไปช่วย ส.ส.ท.ทำเนื้อหา และแพลตฟอร์ม รวมถึงเป็นวิทยากร ซึ่ง MOOC ได้รับความสนใจ และตอบรับจากทั้งภาคอุตสาหกรรมของไทยและต่างประเทศ ตอนนี้มีนิคมอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นและกัมพูชาติดต่อเข้ามาแล้ว นอกจากนี้เรามีแผนที่จะนำ MOOC มาใช้สำหรับพัฒนานักศึกษาอีกด้วย”

“สถาบันเล็งเห็นว่าบางวิชามีความยาก และนักศึกษาอาจต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ จึงจะจัดทำรายวิชาบน MOOC เพื่อให้นักศึกษาสามารถทบทวนเนื้อหา ขณะเดียวกัน จะขยายไปถึงการเปิดอบรมด้านภาษาด้วย เพื่อให้นักศึกษาสามารถฝึนฝนได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งการเรียนผ่าน MOOC นั้นถือว่าเป็น Solution อย่างหนึ่งที่จะช่วยให้องค์ความรู้กระจายไปในวงกว้างได้อย่างรวดเร็วและสะดวกมากขึ้น”

สอง สร้างศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ โดยจัดตั้งศูนย์ความเชี่ยวชาญหลายแขนง เช่น TQM (Total quality management), Intelligent System Integration และ Data Science & Analytics

สาม สร้างศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีในสาขาเฉพาะทาง ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต อาทิ ระบบอัตโนมัติ, Robotics, การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมและการบริการ

สี่ จัดตั้งศูนย์การสร้างธุรกิจใหม่สำหรับนักเทคโนโลยี และผู้ประกอบการรายใหม่ ด้วยการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวก และผู้เชี่ยวชาญ และเชื่อมโยงการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น

ห้า ขยายกิจกรรมไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ

“รศ.ดร.บัณฑิต” ขยายความเพิ่มเติมว่า ในปีการศึกษา 2561 จะเปิดหลักสูตรอินเตอร์ในทุกคณะ โดยมี 3 หลักสูตร ได้แก่ Digital Engineering, Data Science & Analytics และ International Business Management ในรุ่นแรกจะเปิดรับหลักสูตรละ 40 คน ค่าเรียนอยู่ที่ปีละ 110,000 บาท โดยทางสถาบันออกไปทำตลาดตามโรงเรียนทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดแล้ว ซึ่งได้ตั้งกลุ่มเป้าหมายผู้เรียนเป็นคนไทย 75% และต่างชาติ 25%

สำหรับนักศึกษาต่างชาติที่มองไว้เป็นกลุ่มจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย รวมถึงประเทศบังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่นที่ถือว่าเป็นเครือข่ายของ TNI อยู่แล้ว โดยจะใช้กลยุทธ์ด้านทุนการศึกษาในการดึงดูดนักศึกษาใหม่

“การขยับมาเปิดหลักสูตรอินเตอร์ เป็นเพราะเราเห็นว่า คนหันมาเรียนหลักสูตรอินเตอร์มากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังพบว่าโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาของรัฐและเอกชนต่างหันมาเปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษเยอะกว่าเดิม รวมถึงการเติบโตของโรงเรียนนานาชาติ ดังนั้น จึงถือว่าโอกาสในตลาดยังมีอีกมาก”

อย่างไรก็ดี ตลาดสถาบันอุดมศึกษาจะต้องมองสภาพความเป็นจริงที่ปัจจุบันประชากรเด็กเกิดลดลง ทำให้จำนวนเด็กที่เข้าสู่ระบบการศึกษาลดลงตามไปด้วย ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาคงไม่อาจหวังยอดนักศึกษาใหม่ว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดเหมือนเมื่อก่อนได้อีกแล้ว โดยสิ่งที่ทำได้คือรักษายอดเดิมเอาไว้ให้ได้ หรือปรับเป้าหมายของจำนวนนักศึกษาใหม่ให้น้อยลง

“ตอนนี้เรามีนักศึกษา 4,400 คน จาก Facility ที่สามารถรองรับนักศึกษาได้ 4,500 คน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างอาคารใหม่ 6 ชั้น ซึ่งมีทั้งโรงอาหารใหม่ หอประชุม และห้องเรียนสำหรับหลักสูตรอินเตอร์ คาดว่าจะรองรับเด็กเพิ่มเติมได้อีก หรือรับได้ถึง 5,000 คน โดยอาคารใช้งบประมาณก่อสร้าง 200 ล้านบาท ตั้งเป้าแล้วเสร็จในปี 2561 เพื่อทันกับการเปิดหลักสูตรอินเตอร์”

ทั้งนั้น อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นวางเป้าหมายของ TNI ในอีก 5 ปีข้างหน้าไว้ว่า ต้องการให้ 3 สาขาของสถาบัน คือ วิศวกรรมศาสตร์, บริหารธุรกิจ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ติด TOP 3 ของมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งจาก 3 เสาหลักของสถาบันที่ว่า บัณฑิตสามารถปฏิบัติงานได้ มีทักษะด้านภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี และมี Soft Skills เหล่านี้จะเป็นพื้นฐานและแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ TNI ก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้