“สมาร์ทไอดี” ฝันไกลไปถึง ดัน “แบรนด์ไทย” ปักธง AEC-

สัมภาษณ์

ซีอีโอ “สมาร์ทไอดีกรุ๊ป-พิชเยนทร์ โทมัส หงส์ภักดี” เป็น 1 ใน 8 สุดวิทยากรที่มาขึ้นเวทีสัมมนาแห่งปี “Passion To Profit พลิกมุมคิด สร้างธุรกิจให้ติดลม” จากการสนับสนุนโดยธนาคารไทยพาณิชย์ (27 ก.ย. 2560) โดยได้ “สุธีรพันธ์ สักรวัฒน์”ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสูงสุดการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้สัมภาษณ์ ดังนี้

Q : จุดเริ่มต้นธุรกิจ

เรียนจบบริหารธุรกิจเอแบค ก็เห็นว่าโลกเปลี่ยนแปลง มี passion อยากไปพร้อมความเปลี่ยนแปลงของโลก จนคุณแม่แนะนำเพื่อนที่เป็นรุ่นเดียวกับผมให้รู้จัก เป็นชาวฝรั่งเศส เป็นแฮกเกอร์ ทำพวกชิปเซต เขียนโปรแกรม โคดดิ้งต่าง ๆ อยู่ปารีส แต่มาเที่ยวเมืองไทย ปี 2002-2003 ก็เริ่มธุรกิจแรกกับเขา ทำงานเป็นทีม มีทั้งคนโปแลนด์ ตุรกี แต่อยู่กันคนละที่ คุยงานผ่านโปรแกรมแชต

เราเป็นคนเอเชียคนเดียวในกลุ่ม ผลิตชิปเซต และโคดดิ้งโปรแกรม ใส่เข้าไปในเครื่องเล่นเกม Xbox เพื่อเพิ่มความสามารถของอุปกรณ์ เราขายชิปเซตนี้ไปทั่วโลก คือเมื่อก่อนเครื่องเล่นจะมีล็อกเกมไว้ ชิปเซตนี้อันล็อกทุกอย่าง ถือเป็นสตาร์ตอัพยุคแรก

Q : ไม่ได้เรียนด้านนี้แต่ทำได้

เราเห็นว่ามีจุดที่ปรับปรุงได้เยอะ อย่างการผลิตในฝรั่งเศสต้นทุนชิปเซตตัวละพันกว่าบาท ขณะที่ธุรกิจนี้ถูกกฎหมายในบางประเทศ ผิดกฎหมายในบางประเทศ ในฝรั่งเศสถ้าคุณเปิดโมดิฟายอุปกรณ์มาตรฐานอย่าง Xbox ทำไม่ได้ แต่ในไทยในเอเชียทำได้ ผมก็เลยบอกว่า มาเมืองไทยดีกว่า ก็ไปหาโรงงานจนได้โรงงานขนาดเล็กแถวลาดกระบัง บางนา ทำนาฬิกามาทำให้ลดต้นทุนได้จากพันบาทเหลือ 60 บาท

กำลังผลิตเดิมต้องนั่งเชื่อมเอง กลายเป็นทำได้ 30,000 ชิ้น เดิมต้องแอบขายในฝรั่งเศส มาผลิตที่เมืองไทยแล้วเรียก FedEx ขนส่ง ตอนนั้น FedEx เพิ่งเข้ามาเมืองไทย ผมได้เรตลด 40% เท่าบิ๊กคอร์ปอเรต ทำให้ค่าส่งถูกมาก เราขายไปทั่วโลก เป็นบริษัทที่สองในไทยที่ทำฟูลอีคอมเมิร์ซ เปิดเว็บ123ship.com ขายทั่วโลกจ่ายเงินผ่านบัตรได้ 100% ตั้งราคา 3,000-4,000 บาท ต้นทุน 60 บาท

Q : ยังทำงานประจำคู่ไปด้วย

ยุคผมไม่มีสตาร์ตอัพ ไม่มี SMEs มีแต่คำว่า เรียนจบมาต้องทำงานบริษัท ตระกูลผมมีแต่คนเรียนเก่ง ยกเว้นผมจึงต้องหางานทำ ที่แรกที่สปายไวน์ คูลเลอร์ ตอนเรียนปี 3 คุณพ่อเสีย เราเป็นพี่ชายคนโตอยากรับผิดชอบ ไม่อยากให้ที่บ้านไม่สบายใจจึงสมัครงาน ธุรกิจส่วนตัวเหมือนงานอดิเรก วัน ๆ นอน 3 ชั่วโมงไม่มีมุมไปเที่ยวผับกับเพื่อน

อยู่ที่สปายไวน์คูลเลอร์ไม่ถึงปี ย้ายมา Blue Elephant ภัตตาคารอาหารไทยสัญชาติเบลเยียม ตอนนั้นยังไม่เปิดร้านในไทย คอนเซ็ปต์คือ Thai cuisine ผมทำในส่วนการสร้างแบรนดิ้ง โปรดักต์ตั้งแต่เขียนแผนธุรกิจหาซัพพลายเออร์ ออกแบบโปรดักต์ เป็นมาร์เก็ตติ้งแมเนเจอร์

Q : ชิปเซตก็ยังขายอยู่

ขายได้เยอะมาก จนซัพพลายเออร์ที่เป็นคนสิงคโปร์ติดต่อขอเจอ เพราะเป็นคนที่ซื้อชิปเซตเยอะที่สุดในประเทศ พอบินมาเจอผมนั่งทำงานที่ Blue Elephant ก็มี question นิด ๆ แต่ผมคิดว่าผมมีตังค์ซื้อก็จบ

Q : แรงขับที่ทำให้ทำงานพร้อมกันได้

ผมเป็นคนไม่ชอบว่าง ไม่ชอบมีเวลาเหลือแล้วไม่รู้จะทำอะไร จะจิตตกมากถ้าว่างแล้วหายใจไปเรื่อย ๆ รู้สึกว่าไม่โปรดักทีฟ ถ้าอะไรมีช่องว่างเหลือ ผมจะอัดงานเข้าไป เพื่อให้ได้ทำงาน

อยู่ Blue Elephant เกือบ 3 ปี ไปอยู่เบอร์ลี่ยุคเกอร์ ดูบิสซิเนสดีเวลอปเมนต์แมเนเจอร์ ได้เรียนรู้อะไรเยอะ

Blue Elephant ต้องทำงานทุกอย่าง ถ้าคนขาดเสิร์ฟอาหารก็ต้องไป แต่เบอร์ลี่ยุคเกอร์ทุกอย่างต้องตามระบบ

เวลาทำงานผมทำในส่วนของบริษัทเต็มที่ พอทำงานเสร็จปั๊บก็รีบวิ่งกลับบ้านไปทำงานต่อถึงตี 2 ตี 3

Q : ชิปเซตยังไปได้

เริ่มดรอปแล้ว เป็นเกม Catch me if you can คือเราทำไปทั้งกูเกิล โซนี่ก็จะไล่ปิดไปด้วยต้องโคดดิ้งหนีไปเรื่อย ทีมวิศวกรจะเหนื่อย แต่ผมเป็นทีมบริหารก็เฉย ๆ แต่ประเด็นคือ ถ้ามองยาว เกมนี้ไม่ยั่งยืน เราต้องรู้ว่าเราต้องลุกออกมาตอนไหน

การทำชิปเซตทำให้เราเห็นโลกกว้างมาก เพราะต้องเดินทางไปหลายประเทศ เห็นเทรนด์ เห็นโอกาสว่า ยุคต่อไปอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีคือหัวใจที่จะมาดิสรัปต์โลกแน่นอน แม้ตอนนั้นยังเป็นยุคโนเกีย 3310 จึงเปลี่ยนบิสซิเนสโมเดล ไปรับออกแบบสินค้า และ OEM ให้แบรนด์ไอทีต่าง ๆ

Q : OEM ก็ไปได้ดี

ตอนนั้นได้ทุกแบรนด์ ก็วางแผนธุรกิจใหม่มองยาว ๆ ว่าเราจะไปได้แบบไหน เพราะ OEM ลอตหนึ่งได้เงินเยอะ แต่เมื่อมองเทรนด์ยาว ๆ สงครามราคาของแบรนด์เหล่านี้สู้กันหนักมาก เราอยู่ในซัพพลายเชนของเขาหนีไม่พ้นแน่นอนที่จะถูกบีบเรื่องต้นทุน จึงมองว่าเราควรสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้น งานดีไซน์ต่าง ๆ เป็นแอ็สเซตอย่างหนึ่ง

ยอดขายตอนนั้นร้อยล้าน อายุ 29

การทำ OEM จะไม่มี asset ไม่มีอะไรที่จะเป็นอนาคต เลยมองว่าต้องทำในสิ่งที่คนอื่นยังไม่ทำ และแตกต่างจึงกลับมาสร้างแบรนด์บนสินค้าคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์

Q : อนาคตของสมาร์ทไอดี

เราจะยื่นไฟลิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ พ.ค.ปีหน้า ผมฝันไว้ว่า ต้องการเข้าไปอยู่ใน SET 50 ให้ได้ มีสินค้าครอบคลุมเป็นอันดับ 1 ใน AEC ที่หมายถึงคน 600 ล้านคนที่จะใช้สินค้าเราอย่างน้อย 1 ชิ้นใน 1 ปี ขายในไทยได้ มักไม่มีปัญหาในการขายในภูมิภาคเพื่อนบ้าน เราเกิดจากไอที แต่ไม่เคยบอกว่าเป็นบริษัทไอที เราทำคอนซูเมอร์โปรดักต์ กำลังจะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านปลายปีนี้จะทำให้คนไทย คน AEC ใช้แบรนด์ไทย

Q : สินค้าในโลกอนาคต

อนาคตไกล ๆ สิ่งที่จะมาหาตัวเราคือ IOT ที่จะเปลี่ยนอีโคซิสเต็มและวิธีการคิดทั้งหมด คือการคอนเน็กต์ทุกอย่างไว้ด้วยกัน และเก็บดาต้าเข้ามา เป้าหมายคือเป็นแบบ Muji ไม่ได้อยากเป็น second Muji แต่จะผลิตสินค้าที่เข้ากับไลฟ์สไตล์คน สรรหาวัสดุและการดีไซน์ที่ดีที่สุด

สินค้า IOT ตัวแรก คือปลั๊กไฟ ที่ควบคุมด้วยแอปพลิเคชั่น ทำตัวนี้เพราะมีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับหนึ่งในไทย และการชวนคนมาใช้ปลั๊กไฟเป็นเรื่องง่าย แต่สิ่งที่ IOT จะไปในอนาคตคือการคอนเน็กทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วเจเนอเรตดาต้า เอาดาต้ามาประมวลผลเป็นอินฟอร์เมชั่นที่สามารถช่วยตัดสินใจได้

คอนเซ็ปต์ IOT หลัก ๆ คือ วางอินฟราสตรักเจอร์เฉพาะพื้นที่ แล้วก็คอนเน็กต์ดาต้า เอาบิ๊กดาต้า เอา AI ไปใส่

อีกคอนเซ็ปต์คือ วางอินฟรา สตรักเจอร์ทั่วประเทศทีเดียว เพราะจุดที่จะก้าวกระโดดต้องมี ผมมาจากสตาร์ตอัพ แล้วกระโดดไป SMEs แล้วก็ต้องการกระโดดไปเป็นบิ๊กคอร์ปอเรต นี่คือ strategy ผมขายเมาส์ ขายปลั๊กเพื่อค่อย ๆ เจาะตลาด ทำแบรนด์ให้รู้จัก ถ้าทำ IOT เลย จะมีใครเชื่อ จะไม่มีแพลตฟอร์ม ไม่มีทีมงาน ไม่มีระบบ ไม่มีคอนเน็กชั่นกับแบงก์ ไม่มีตลาดทุน มีแต่ passion ล้วน ๆ สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องให้มีองค์ประกอบเหล่านี้ให้ครบ ก่อนที่จะฝันใหญ่ เพราะ IOT คือการนำทุกสิ่งทุกอย่างมาคอนเน็กต์กันในอนาคต นี่คือโอกาสของทุกคน เพราะไม่มีใครกินรวบทั้งตลาดได้ ฉะนั้นคุณดีไซน์ได้ว่า จะอยู่ตรงไหน เป็นโอกาสของทุกคน ไม่ใช่แค่บิ๊กคอร์ปอเรต

Q : passion to profit คือ

Passion เหมือนคุณต้องเรียนจบประถมก่อนไปมัธยม

ทำธุรกิจ ไม่มี passion เหมือนไม่จบประถม แต่จะไปเรียนมัธยมเลย คุณอาจมาด้วยความว่า อยากได้ตังค์ หรืออื่น ๆ ที่ไม่ได้มีแรงกระตุ้นภายในที่มากพอ

เมื่อก่อนผมเป็นนักกีฬาระดับจังหวัด อยากชนะเพื่อให้อยู่ในสายตาสาว ๆ ผมก็ซ้อมทั้งวันเพื่อให้ชนะ ทำธุรกิจก็เหมือนกัน ถ้าคุณจะไปในสิ่งที่ต้องสร้าง profit

passion ต้องเบิร์นเอาต์ให้มากพอ ไม่อยากนอน อยากลุกมาทำงานเที่ยงคืน นั่นคือ passion จากนั้นถ้าจะเทิร์นให้เป็น profit ต้องใส่ strategy จะไปแบบแรมโบ้ลุยไปอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมี strategy ให้รู้ว่าจะไปด้วยวิธีนี้ มีการคิดวิเคราะห์ SWOT ของตัวเอง SWOT ของอุตสาหกรรม

มีคนทำหรือยัง อย่าหลงตัว หาความรู้ แล้วคุณจะเทิร์นเป็น profit ได้จริง และสุดท้ายพอเป็น profit ได้ passion คุณคืออะไร ก็ต้องย้อนกลับมาดูอีกที เป็น passion อย่างไม่มีที่สิ้นสุด