เรื่องเล่า “รัตนโกสินทร์” โรงแรมคู่ประวัติศาสตร์ “พระราชพิธี-การเมือง”-

พระบรมมหาราชวัง สนามหลวง ถนนราชดำเนิน คือสถานที่สำคัญในการประกอบพระราชพิธี รวมถึงเป็นแลนด์มาร์กการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร ขณะเดียวกัน ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองมานานหลายทศวรรษนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

บนถนนสายเดียวกันซึ่งเป็นทั้งถนนของพระราชา และเป็นทั้งถนนแห่งการเคลื่อนไหวทางการเมือง ตรงหัวมุมถนนราชดำเนินกลางบริเวณแยกผ่านพิภพลีลาที่จะเชื่อมกับถนนราชดำเนินในและสนามหลวง มีโรงแรมรัตนโกสินทร์ ตั้งตระหง่านผ่านร้อนผ่านหนาวเคียงคู่ประวัติศาสตร์ของถนนสายนี้มานาน 75 ปี

โรงแรมรัตนโกสินทร์ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2485 แล้วเปิดให้บริการในปี 2486 โดยการบริหารงานของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นโรงแรม 5 ดาวยุคแรก ๆ ของประเทศไทยที่ต้อนรับแขกคนสำคัญของรัฐบาลมาแล้วมากมาย รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตก ความโดดเด่นคืออาคารโค้งตามความโค้งของถนน

ต่อมาปี พ.ศ. 2513 บริษัท อิทธิผล จำกัด ได้เช่าดำเนินกิจการโรงแรมเรื่อยมา ในตอนหลังเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติในชื่อ รอแยล โฮเทล (Royal Hotel) ขณะที่คนไทยยังจดจำชื่อโรงแรมรัตนโกสินทร์ หรือเรียกรวมกันว่า รอแยล รัตนโกสินทร์

ปัจจุบัน อิน ธำรงวิทวัสพงศ์ อดีตประธานบริษัท อิทธิผล จำกัด ได้วางมือและส่งตำแหน่งประธานบริษัทให้ลูกชายคนโต สงบ ธำรงวิทวัสพงศ์ เป็นผู้ดูแลบริหารโรงแรม ส่วนเจ้าตัวดูแลอยู่ห่าง ๆ ในตำแหน่งประธานที่ปรึกษา

โรงแรมเจอเหตุการณ์มวลชนมาแล้วหลากหลายรูปแบบ ในทางการเมือง เจอมาทุกการชุมนุม นับตั้งแต่ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519, พฤษภาทมิฬ 2535, พันธมิตร 2548, 2552, เสื้อแดง 2553, กปปส. 2556-2557

ส่วนด้านงานพระราชพิธีก็ผ่านมาแล้วทุกงานในสมัยรัชกาลที่ 9 เฉพาะงานพระบรมศพและงานพระศพผ่านมาแล้ว 4 งานใหญ่ ไล่มาตั้งแต่งานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, งานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในรัชกาลที่ 9 (สมเด็จย่า), งานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ, งานพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพ็ชรรัตนราชสุดาฯ และล่าสุด งานพระบรมศพ สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

กริช จิราภิรักษ์ หัวหน้าฝ่ายบัญชี ซึ่งเป็นคนเก่าแก่ของโรงแรมบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไหน โรงแรมรัตนโกสินทร์ก็เปิดต้อนรับประชาชนเสมอ หากมีเหตุการณ์ความรุนแรง พื้นที่ชั้นล่างของโรงแรม ทั้งบริเวณล็อบบี้และห้องประชุมจะถูกใช้เป็นสถานพยาบาลเบื้องต้น แต่ถ้าไม่ใช่เหตุการณ์ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์อะไรที่มีประชาชนรวมตัวกันมาก ๆ ก็เปิดต้อนรับประชาชนให้เข้านั่งพักหรือเข้าห้องน้ำได้เสมอ อีกทั้งยังเปิดห้องประชุมชั้นล่างสำหรับหน่วยงานราชการ และเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย

กริช จิราภิรักษ์

กริชบอกว่า โรงแรมตั้งอยู่ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ ผ่านอะไรมาเยอะ แต่เรื่องที่คนชอบถามถึงที่สุดคือเรื่องทางการเมือง

“ครั้งแรกที่เจอคือเหตุการณ์ 14 ตุลาต่อมาก็ 6 ตุลา หลาย ๆ เหตุการณ์ โรงแรมเราเป็นสถานที่ปฐมพยาบาล ทางราชการจะไม่เข้ามายุ่ง เพราะเขารู้ว่าเป็นที่รักษาพยาบาลคนเจ็บ และเป็นที่หลบภัยของนักข่าว แต่ส่วนมากมีข่าวลือว่ามีการยิงกันตาย จริง ๆ ไม่มี จะมีที่หนักและน่ากลัวที่สุดคือพฤษภาทมิฬปี 2535 เป็นครั้งเดียวที่ทหารเข้ามากวาดล้าง เคลียร์คนออกไป แต่ก็ไม่มียิงกันในโรงแรม”

“เราเจอมาหมด เพราะประเทศเรามีประท้วงบ่อย ถนนราชดำเนินเป็นสถานที่ชุมนุมประท้วงใหญ่ทุกครั้ง ล่าสุดม็อบลุงกำนัน คนไม่มีที่นอนก็เข้ามากางเต็นท์ในโรงแรมเราเต็มเลย ถ้าฟังคนข้างนอก บางคนก็บอกโรงแรมเราเป็นเสื้อเหลือง บางคนก็บอกว่าเราเป็นเสื้อแดง แต่เราจะบอกว่าโรงแรมเราไม่ใช่สีไหน เราต้อนรับหมดทุกคน ทุกครั้ง”

ในทางธุรกิจ การมีทำเลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สำคัญนั้น เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส

กริชบอกว่า เมื่อมีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงหรือมีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง หลังเหตุการณ์ยุติแล้ว โรงแรมยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปอีกประมาณ 6 เดือนจึงจะเริ่มฟื้น แต่พอฟื้นได้ไม่นานก็จะเริ่มมีเหตุการณ์ใหม่อีก แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์งานพระราชพิธีก็จะเป็นอีกมุมหนึ่ง ที่เป็นโอกาส

ปัจจุบันโรงแรมรัตนโกสินทร์มีห้องพัก 298 ห้อง ครึ่งหนึ่งเป็นห้องราคา 1,400 บาท และอีกครึ่งหนึ่งเป็นห้องราคา 1,800 บาท

ในช่วงปกติที่ไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ โรงแรมมียอดเข้าพัก 40-60% ของจำนวนห้อง ช่วงที่มีการชุมนุมหรือมีเหตุการณ์ทางการเมืองยอดจะตกลงไปเป็น 0-10%

ส่วนช่วงที่มีงานพระราชพิธี ยอดเข้าพักก็เพิ่มขึ้น อย่างเช่นตลอดช่วงงานพระบรมศพ ตั้งแต่ปีที่แล้วเรื่อยมามียอดเข้าพัก 70% และ ในสัปดาห์สุดท้ายของการเข้ากราบพระบรมศพ มียอดเข้าพัก 90% จากนั้นหลังวันที่ 5 ตุลาคมที่ปิดให้เข้ากราบพระบรมศพ ห้องพักว่าง ส่วนวันที่ 25-26 ตุลาคม ยอดจองเต็ม 100% แล้ว และลดลง 50% ในวันที่ 27 เนื่องจากประชาชนเริ่มทยอยกลับบ้าน

“โอกาสก็มีจริง แต่อย่าลืมว่าแถวนี้โรงแรมเยอะ คนไปข้าวสารหมด คนรุ่นใหม่ไม่พักแบบนี้ เพราะพักแล้วไม่มีกิจกรรมทำ เราพยายามดูแลปรับปรุงสภาพห้องให้ดีขึ้น และขายทางออนไลน์ แต่ว่าตั้งแต่ปฏิวัติมา 3 ปีก็เงียบมาตลอด ส่วนมากคนอยู่ข้าวสาร โรงแรมเราจะได้ลูกค้ามากแค่ช่วงงานถวายพระเพลิง” กริชบอก

ในยุคที่มีความนิยมข้าวของและสถานที่มีอายุมีประวัติ ความเก่าแก่ของโรงแรมรัตนโกสินทร์อาจจะน่าสนใจก็จริง

“แต่ปัญหาสำคัญคือคนร่ำลือว่าโรงแรมนี้ผีดุ เพราะทุกคนคิดว่ามีเหตุการณ์ยิงกันตาย แต่จริง ๆ มันไม่มี คนเขาคิดว่ามีศพคนตาย เพราะเราเปิดรับคน เขาวิ่งเข้ามาแล้วรองเท้าหลุด เราก็เอารองเท้าไปกองไว้หลังโรงแรม คนมาเห็นกองรองเท้าก็คิดว่าเป็นของคนตาย ภาพลักษณ์โรงแรมมันเป็นแบบนี้ เราก็ต้องบอกย้ำว่าไม่ใช่ เราเป็นสถานที่พยาบาล” เขาเล่าขำ ๆ

กริชเปิดเผยอีกว่า รายได้ของโรงแรมรัตนโกสินทร์พอเลี้ยงตัวเองได้ไปเรื่อย ๆ ไม่ขาดทุน แต่ไม่ได้มีกำไรมากมายนัก มีรายจ่ายเดือนละประมาณ 3 ล้านกว่าบาท ส่วนรายรับเดือนละประมาณ 4-5 ล้านบาท

“1 ห้องเข้าพักได้ 2 คน แต่มีแอบเข้าพักเกินประจำ ถ้า 3 คนเราก็อนุโลม แต่บางทีก็เป็น 10 คน แต่เราก็ไม่ได้ว่าอะไร นโยบายเราอะลุ่มอล่วย คติพจน์ของเราคือ การทำธุรกิจของเราไม่ใช่แค่แสวงผลกำไร แต่เราช่วยเหลือสังคมด้วย ทุกคนเดือดร้อนมาเราช่วยหมด”

“การที่โรงแรมตั้งอยู่ตรงนี้ ได้ช่วยเหลือประชาชน และถือว่าได้รับใช้พระองค์ท่าน เป็นสิ่งที่เราภูมิใจ เราได้เป็นที่ให้ประชาชนปลดทุกข์ ค่าใช้จ่ายเฉพาะห้องน้ำแต่ละเดือนเยอะ การกดน้ำและใช้ทิสชูเป็นค่าใช้จ่ายครั้งละ 2 บาท แล้วหนึ่งวันกี่หมื่นครั้ง เป็นเงินกี่บาท แต่เราไม่ได้เก็บเงินใคร เราเคยนับช่วงงานเฉลิมพระชนมพรรษาวันที่ 5 ธันวาคม เฉพาะตอนเย็นถึง 4 ทุ่ม คนใช้ห้องน้ำเรา 12,000 คน ยังไม่รวมกลางวัน อย่าลืมว่ามีงานประท้วงอะไรต่าง ๆ อีก พูดง่าย ๆ ว่าส้วมเราต้องสูบบ่อย (หัวเราะ) คนใช้เยอะมาก คนที่มาแถวนี้ผมว่าไม่ต่ำกว่า 30% ใช้ห้องน้ำเรา”

นอกจากเปิดต้อนรับประชาชนแล้ว หลาย ๆ งานที่ผ่านมา โรงแรมรัตนโกสินทร์เคยทำอาหารขายในราคาปกติ 50-60 บาท เพราะเห็นว่าคนมาเยอะ อาหารการกินไม่พอ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจคู่กับการดูแลสังคม ถึงแม้ว่าในสถานการณ์แบบนั้น การขายอาหารในราคาห้องอาหารโรงแรมก็ขายได้อยู่แล้ว

ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพที่จะถึงนี้ กริชบอกว่า กำลังหารือกันอยู่ว่าจะทำอาหารขายอีกหรือไม่ ครั้งนี้ถ้าทำก็คงจะยากในการซื้อหาจัดเตรียมวัตถุดิบ เพราะพนักงานจะไม่สามารถเข้าออกพื้นที่ได้เลย

“ต่อไปก็จะปรับสภาพให้อยู่กับสภาวะเศรษฐกิจและสภาพสังคม และเน้นรับผิดชอบสังคม ช่วยเหลือสังคมแบบนี้ต่อไป เป็นนโยบายของท่านประธานอิน ที่เรายึดถือกันมา” กริช จิราภิรักษ์ ฟันเฟืองสำคัญของโรงแรมรัตนโกสินทร์กล่าว