Q3 หนี้เสียเอสเอ็มอีทะลุ 2 แสน ล. แบงก์อ่วม NPL พีกสุดงัดทุกกลยุทธ์ลุยแก้-

แบงก์จุกอก สิ้นไตรมาส 3/60 แบกเอ็นพีแอลเอสเอ็มอีกว่า 2 แสนล้านบาท ดันยอดเอ็นพีแอลภาพรวมพีกทะลุ 3% ลุ้นไตรมาส 4 เอ็นพีแอลลดลง งัดทุกกลยุทธ์ “เร่ขายก้อนหนี้เน่า-ตัดหนี้สูญ-ยอดสินเชื่อใหม่เพิ่ม” หนุนปิดงบฯปีླྀ ดีขึ้น “ทหารไทย” ชี้เอสเอ็มอีน่าห่วง แม้สินเชื่อโต

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า ไตรมาส 3 ปี 2560 นี้ คาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) น่าจะมีสัดส่วนสูงสุด (พีก) สุดที่ระดับ 3.02% ของยอดสินเชื่อรวมทั้งระบบ หรือมีมูลค่า 4.26 แสนล้านบาท จากนั้นคาด NPL จะทยอยลดลงในไตรมาส 4 และปิดงวดบัญชีปี 2560 ไปอยู่ที่ 2.83% หรือ 4.04 แสนล้านบาท เนื่องจากแบงก์ต่าง ๆ จะมีการบริหารจัดการ ทั้งวิธีการขายหนี้ และตัดหนี้สูญ รวมไปถึงเป็นช่วงที่แบงก์น่าจะมีการปล่อยสินเชื่อใหม่มากขึ้น

สำหรับ NPL ที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มลูกหนี้ที่กลับเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้แต่ไปไม่รอด (Re-Entry) ในช่วงที่ผ่านมา ตามด้วยกลุ่มลูกหนี้ NPL ที่เกิดขึ้นใหม่ โดยหากดูไส้ในจะพบว่าภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากแนวโน้มยังเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น ซึ่งสัดส่วน NPL ณ สิ้นไตรมาส 3 ที่ 4.26 แสนล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่เกิน 50% เกิดจากเอสเอ็มอีถึง 2.2 แสนล้านบาท

“มองไประยะข้างหน้า โดยเฉพาะไตรมาส 4 เชื่อว่าสินเชื่อจะเติบโตได้ดี ล้อไปกับการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งจะดึงให้ภาพรวมดูดีขึ้น แต่ก็เหมือนเราหลอกตัวเอง เนื่องจากฐานสินเชื่อขยายตัว จึงทำให้สัดส่วนต่อ NPL ดูเหมือนต่ำลง แต่หากดูไส้ในจริง ๆ ยังมีประเด็นที่ต้องเป็นห่วง และไม่มีใครพูดถึง คือ NPL ในภาคเอสเอ็มอีที่ยังโตต่อเนื่อง” นายนริศกล่าว

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริการงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้ม NPL ในไตรมาส 3 น่าจะขึ้นมาพีกที่ 3.06 % หรือคิดเป็นมูลค่า 4.25 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/60 ที่ NPL รวมอยู่ที่ 2.95% หรือมีมูลค่า 4.16 แสนล้านบาท โดย NPL ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มเอสเอ็มอี ทั้งในส่วนที่เป็น re-Entry และ NPL เกิดใหม่ ซึ่งรวม ๆ แล้วคิดเป็น NPL เพิ่มขึ้นราว 9 หมื่นล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ที่มี NPL เพียง 85,000 ล้านบาท แบ่งเป็น NPL รายใหม่ที่ 54,729 ล้านบาท ขณะที่เป็นหนี้ Re-Entry 19,933 ล้านบาท

ขณะที่คาดการณ์ NPL ในไตรมาส 4 มีแนวโน้มลดลงมาอยู่ที่ 2.98% เนื่องจากเริ่มเห็น NPL เกิดใหม่ และยอด Re-Entry ขยายตัวในอัตราชะลอ แต่ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์ “สินเชื่อรายย่อย” ที่แบงก์ยังค่อนข้างระมัดระวังด้านคุณภาพหนี้ต่อเนื่อง

“เชื่อว่า NPL ได้ผ่านจุดพีกไปแล้วในไตรมาส 3 เพราะดูในปัจจุบัน NPL ใหม่และ Re-Entry มีการขยายตัวลดลงแล้ว ดังนั้นก็น่าจะทำให้ NPL โดยรวมในไตรมาส 4 ปรับลดลงมาได้ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยแบงก์ยังต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อยังไม่สม่ำเสมอ และโตต่ำกว่าอดีตที่เคยทำมา ทั้งในส่วนของบัตรเครดิตและพีโลน (ส่วนบุคคล) ทำให้ศูนย์วิจัยปรับการขยายตัวของสินเชื่อบุคคลอยู่ระดับทรงตัว จากเดิมที่คาดว่าจะโต 1% ในปีนี้” นางสาวกาญจนากล่าว

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย ประเมินว่า NPL กลุ่มเอสเอ็มอีของธนาคารปีนี้น่าจะอยู่ที่ 2.4-2.5% ใกล้เคียงกับ NPL ทั้งระบบ โดย NPL ของเอสเอ็มอีกับรายย่อยเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันสัดส่วน NPL เกิดใหม่ลดลงมาอยู่ที่ 33% ของ NPL ที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด ขณะที่ Re-Entry อยู่ที่ 60-70% แต่ก็ถือว่าต่ำกว่าปี 2558 ที่สัดส่วน NPL ใหม่อยู่ที่ 90%

ทั้งนี้ NPL ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการเกษตร ก่อสร้าง โดยสิ้นไตรมาส 3/60 แบงก์มียอดสะสม NPL เอสเอ็มอีกว่า 2 แสนล้านบาท