ธุรกิจเช่าซื้อดึง บสย.ค้ำประกัน “ทิสโก้” หวังยอดอนุมัติพุ่ง 10% เริ่มปี’61-

แบงก์-น็อนแบงก์เด้งรับ บสย.แก้กฎหมายขยายค้ำประกัน “ทิสโก้” เล็งดึงค้ำ “เช่าซื้อรถ-เครื่องจักร” หนุนยอดอนุมัติเพิ่ม 10% “เบนซ์ลีสซิ่ง” หวังช่วยรุกกลุ่มลูกค้าเช่ารถเพื่อการพาณิชย์ ขณะที่ บสย.คาดเริ่มค้ำน็อนแบงก์ต้นปี’61 ตั้งเป้ายอดค้ำปีแรกเบา ๆ แค่ 1 พันล้านบาท

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ เปิดเผยว่า ธนาคารได้หารือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ถึงการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อ ทั้งรถยนต์และเครื่องจักร หลังจากที่ บสย.ได้มีการปรับแก้เกณฑ์ให้สามารถค้ำประกันสินเชื่อของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ได้แล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อสามารถขยายบริการแก่ลูกค้า และสร้างช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

“บสย.จะเข้ามาสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เรามีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องออกตัวใหม่ ซึ่งจะใช้ได้ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถที่ปัจจุบันมียอดการอนุมัติที่ 75-80% ถ้าใช้การค้ำประกันของ บสย. ก็อาจจะเพิ่มการอนุมัติได้อีก 5-10% ด้วย ในขณะที่การกู้ระยะยาวเพื่อซื้อเครื่องจักร ก็น่าจะเพิ่มยอดอนุมัติได้ 5-10% จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 70-80%” นายศักดิ์ชัยกล่าว

นายศุภวุฒิ จิรมนัสนาคร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากเกณฑ์ใหม่ของ บสย. ถือว่ามีผลดีต่อบริษัท เพราะสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มที่ใช้รถเพื่อการพาณิชย์ได้ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทางบริษัทยังต้องรอดูความชัดเจนในรายละเอียดเกี่ยวกับการค้ำประกันก่อน

นายทวีพล เจริญกิตติคุณไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวิลด์ลีส ผู้ให้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์ในกลุ่มธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า หาก บสย.ขยายเงื่อนไขค้ำประกันมาสู่กลุ่มรถจักรยานยนต์ได้ ก็จะช่วยให้การขอสินเชื่อสะดวกและง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณารายละเอียดก่อนว่ากลุ่มผู้ที่ไม่มีประวัติทางการเงินมาก่อน จะขออนุมัติค้ำประกันยากขึ้นหรือไม่

นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย.กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมาย บสย. จะทำให้สามารถค้ำประกันทางการเงินได้หลายรูปแบบขึ้น เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ (ลีสซิ่ง) สินเชื่อแฟ็กตอริ่ง (การซื้อขายลูกหนี้ทางการค้า) เป็นต้น โดย บสย.ตั้งเป้าหมายว่า จะเริ่มดำเนินการค้ำประกันให้แก่น็อนแบงก์ในช่วงต้นปี 2561 ที่จะถึงนี้ และตั้งเป้าหมายการค้ำประกันกลุ่มนี้ไว้ที่ 1,000 ล้านบาทในปีแรก

“ตลาดลีสซิ่ง แฟกตอริ่งในไทยถือว่าใหญ่มาก ต้นปีหน้าเราจะทำเรื่องนี้มากขึ้น โดยเบื้องต้นเรากำหนดเงื่อนไขว่า น็อนแบงก์ที่จะเข้าไปค้ำประกันจะต้องเป็นบริษัทลูกของธนาคาร หรืออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องมีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาทขึ้นไป มีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E ratio) ไม่เกิน 8 เท่า ส่วนการคิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันนั้น จะต้องรอดูทั้งความเสี่ยงของธุรกิจ ตัวผู้กู้ และอื่น ๆ” นายนิธิศกล่าว