“บิ๊กตู่” พลิกรับเป็นรุกฆาต 10 คำถาม ขอ 1 คำตอบ “ที่มองไม่เห็น”-

กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” ใส่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ “โยนหินถามทาง” อีก 6 คำถาม

ไฮไลต์ คือ คำถามที่ 1 และที่ขึ้นต้นว่า 1 วันนี้เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปบ้างหรือไม่ ?

วรรคที่ 2 การมีแต่พรรคการเมืองเดิมนักการเมืองหน้าเดิม ๆ แล้วเป็นรัฐบาล จะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูปและทำงานอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ ?

คำถามที่ 2 การที่ คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ก็ถือเป็นสิทธิของ คสช.ใช่หรือไม่ ? เพราะนายกฯก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่แล้ว

ไม่ทันข้ามคืน นักการเมืองทั้งพรรคเพื่อไทย (พท.)-พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และแกนนำม็อบสีเสื้อต่างออกมาถล่มเป็นเสียงเดียวกันว่า รัฐบาล-คสช.เปิดหน้าเล่นการเมืองเต็มตัว

เป็นก้าวแรกของ พท.-ปชป. ในการเป็นแนวร่วมมุมกลับ-จับมือ เขี่ยขุนทหารออกจากกระดานอำนาจ ในโค้งก่อนเลือกตั้ง

หมากการเมืองเกมนี้ “แกนนำ คสช.” อ่านออกตั้งแต่ต้น จึงตั้งรับ-ตั้งแต่นาทีแรกที่บรรดาพรรคการเมืองเปิดเกมรุกให้ปลดล็อก และรุมถล่มนายพลใหญ่ในคณะ คสช.

พลิกจากรับเป็นรุก

เมื่อ 6 คำถามถูกนักการเมือง “ตีความ” ว่า คสช.จะตั้งพรรค-สนับสนุนพรรคการเมือง “นอมินีทหาร” เพื่อท่อต่ออำนาจ ส่งสัญญาณให้ “บิ๊กตู่และคณะ” อยู่ต่ออีกยาวนาน

ทว่า กุนซือรัฐบาล-คสช.วิเคราะห์ข้อมูลใหม่ว่า คำตอบในคำถามของนายกรัฐมนตรี พลิกผันจากเกมตั้งรับ กลับกลายเป็นเกมรุกคืน จนขั้วตรงข้ามยังตั้งหลักแทบไม่ทัน กว่าจะตั้งหลักตอบคำถามได้ครบจบทั้ง 6 ข้อ คงกินเวลาเลยกรอบเปิดล็อกไปหลายวัน

วาระที่ว่า จะตั้งพรรคการเมือง หรือส่งเสบียงกำลังหนุน พรรคนอมินีทหารนั้นยังรอฟังความเห็น-รออ่านคำตอบทั้ง 4 ข้อรอบแรก และ 6 ข้อรอบหลัง

วาระการเป็นนายกรัฐมนตรีต่อท่ออยู่ยาวยืดถึงยุทธศาสตร์ชาติระยะแรก 5 ปีนั้น ถูกเขียนคำตอบ-ทดไว้ในใจใส่แฟ้มบนตึกไทยคู่ฟ้าแล้วว่า “การจะตัดสินใจอยู่ต่อ หรือเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในความเป็นจริง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวนายกรัฐมนตรีคนเดียว จำเป็นต้องฟังเสียงจากหลายฝ่าย การตั้งคำถาม6 ข้อก็เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ เหนือสิ่งอื่นใด นายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจบนพื้นฐานผลข้างเคียงที่มองไม่เห็นด้วย”

ที่ปรึกษาสายพลเรือนที่คลุกวงในตึกไทยคู่ฟ้าวิเคราะห์ด้วยว่า “นายกฯมอนิเตอร์ข่าวสารทุกความเคลื่อนไหวทางการเมืองของทุกฝ่ายอย่างเข้มข้น อ่านอารมณ์ผู้คนในสังคม และใช้ฐานข้อมูลที่เข้ามาในแฟ้มที่ทำเนียบ-ส่งตรงถึงที่บ้าน มาชั่งน้ำหนักและกล้าตัดสินใจการโยนคำถาม 6 ข้อออกมากลางอากาศ เพื่อวัดอุณหภูมิของสังคมอีกทางหนึ่ง”

สารพัดสูตรต่อท่ออำนาจ

“สูตร” ท่อต่ออำนาจของ คสช.ไม่ได้มีเพียง “พรรคหัวโขน คสช.” พรรคใดพรรคหนึ่ง แต่ยังมี “พรรคแนวร่วม” อย่าง “อดีตแกนนำ กปปส.” ที่มี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตผู้จัดการรัฐบาลอภิสิทธิ์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา ที่พร้อมจะ “ไหลรวม” ไปอยู่ใน “ฝั่งผู้ชนะ”

ก่อนหน้า พล.อ.ประยุทธ์จะโยน 6 คำถามกลางกระแสเรียกร้องจากพรรคการเมืองให้ปลดล็อกทำกิจกรรม-ปรับคณะรัฐมนตรี ข่าวการตั้ง “พรรคทหาร” เพื่อ “ต่อท่ออำนาจ” ของ คสช. ที่ “เปิดหน้า” ว่า สนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ก็สะพัดหวนกลับมาอีกครั้ง

สปอตไลต์ฉายส่องไปที่ “พรรคพลังชาติไทย” ของ “พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์”อดีตนายทหารพระธรรมนูญ-คณะทำงาน คสช.เตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ซึ่งขณะนี้รวมเสียงนักการเมืองระดับชาติ-ท้องถิ่นได้ 70 เสียง เพื่อชู พล.อ.ประยุทธ์เป็น “นายกฯคนนอก”

เป็นหลานอดีต “มือปราบ” พล.ต.ท.ทวี ทิพย์รัตน์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล “หลังบ้าน” นางบุญญาพร นาตะธนภัทรเป็นผู้กว้างขวาง-เป็นที่นับหน้าถือตาของนักการเมือง

ตั้งแต่ “เปิดตัว” ตั้งพรรคเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ได้ออกเดินสายทั้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-ภาคใต้เซ็นสัญญาอดีต ส.ส.-หัวคะแนนพรรคการเมืองย้ายค่าย

ช่วงระยะอันใกล้นี้มีเคลื่อนไหวในนาม “จิตอาสา พลังชาติไทย” ในช่วงที่พรรคการเมืองถูกคำสั่ง คสช.ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง จึงกลายเป็น “จุดอ่อน” ให้กับพรรค-ลามไปถึงรัฐบาล-คสช.ที่ไม่ยอมปลดล็อกพรรคการเมืองอื่นทำกิจกรรมและการใช้คำ “จิตอาสา” เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จน คสช.เตรียมสอบถาม “พล.ต.ทรงกลด” ว่า ไปแอบอ้างชื่อ คสช.หาประโยชน์หรือไม่

ถึงแม้ว่า “ผู้มีอำนาจ” ในรัฐบาล-คสช.ยังไม่ส่งสัญญาณชัดว่า “ตีราคา” พรรคพลังชาติไทยมาก-น้อยที่จะให้เป็น “พรรคตัวแทน คสช.” แต่การเดินสายหยั่งเสียง-ขายชื่อพรรคพลังชาติไทยให้ “คุ้นหู-ติดตา” โดยไม่ถูกเรียกปรับทัศนคติในค่ายทหาร จึงเป็น “ใบเบิกทาง” ว่า ใครประทับตรารับรองให้

เทกโอเวอร์พรรคเก่า

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลอีกรายเปิดเผยว่า คสช.ไม่จำเป็นต้องตั้งพรรคใหม่ เพราะจะทำให้ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ควร “ซื้อพรรค” ที่มีอยู่แล้ว ถ้าซื้อพรรคขนาดกลางก็ไม่ต้องมี “ต้นทุน” ในการสร้างฐานเสียง-สมาชิกใหม่และส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง

ข้อเสีย คือ “ราคาแพง” แต่ถ้าซื้อพรรคขนาดเล็ก “ราคาถูก” แต่ “จุดอ่อน” คือ ไม่ประสบความสำเร็จในการทำกิจกรรมทางการเมือง คสช.ต้องสร้างเครือข่ายใหม่เอง อย่างไรก็ตาม ก็ยังดีกว่าตั้งพรรคใหม่

ถึงแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีคำถาม 6 ข้อ จะไม่ได้ต้องการถามนักการเมือง แต่ต้องการ “คำตอบ” จากประชาชน แต่ “นักการทหารวงนอก” มองว่า การออกมา “โยนหินถามทาง” เรื่องการตั้งพรรค-สนับสนุนพรรคนอมินีทหาร เป็น “ยุทธวิธีทางการทหาร” แบบเดิม ๆ เพื่อกลบกระแสเร่งเร้าให้ คสช.ปลดล็อกพรรคการเมืองและกระแสปรับ “ครม.บิ๊กตู่ 5”

อย่างไรก็ตาม “คำตอบ” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการจริง ๆ อาจไม่ใช่คำตอบจากนักการเมือง “นายกฯไม่ต้องการคำตอบจากนักการเมือง” คนใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์กล่าว แต่เป็นเพราะความเป็นห่วงเรื่องที่ “บอกไม่ได้” และเรื่องปฏิรูปประเทศ-ยุทธศาสตร์ชาติที่ พล.อ.ประยุทธ์-คณะปลุกปั้นมาตั้งแต่ยึดอำนาจ

คำถาม 6 ข้อ จึงเปรียบเสมือน “ไพ่ใบสุดท้าย” เพื่อเป็นการ “ปูทาง” หรือ “ไพ่ใบต่อไป” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ถือไว้ “น็อกมืด” เพื่อกลับเข้าลู่อำนาจอีกครั้ง !

4 คำถามบันไดขั้นแรก

เพราะหากย้อนไปเมื่อ 27 พ.ค. 2560 พล.อ.ประยุทธ์โยน 4 คำถาม ให้ประชาชนตอบ 1.ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ และ 2.หากไม่ได้ จะทำอย่างไร

3.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่น ๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้นถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง

และ 4.ท่านคิดว่า กลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร

เป็น 4 คำตอบที่ส่งตรงไปบนตึกไทยคู่ฟ้าแล้ว ที่มีเพียง “พล.อ.ประยุทธ์”-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย แม่งานที่รวบรวมโพลส่วนตัวของนายกฯ รวมถึงบิ๊ก ๆ คสช.เท่านั้นที่รู้คำตอบ

ครม.สัญจรเจาะพรรคการเมือง

เมื่อถึงช่วง “โค้งสุดท้าย” โรดแมป อำนาจ จึงเป็นเวลาเข้าด้ายเข้าเข็มทางการเมือง “พล.อ.ประยุทธ์” และทีมเสนาธิการไทยคู่ฟ้า จึงกำหนดยุทธศาสตร์ลงพื้นที่ โกยแต้มการเมืองไม่ต่างกับนักการเมืองอาชีพ

หากสังเกตว่าการจัด “ครม.สัญจร” ในรอบ 3 ปี มีการจัด ครม.สัญจร 3 ครั้ง ครั้งแรก 28 มี.ค. 2558 ที่หัวหินแต่ห่างไปนาน 2 ปี “พล.อ.ประยุทธ์” กลับจัดการประชุม ครม.สัญจรเป็นครั้งที่ 2 ที่ จ.นครราชสีมา เมื่อ 22 ส.ค. 2560

ต่อด้วยอนุมัติโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานในแถบอีสานไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านบาท

ตามด้วยการประชุม ครม.สัญจร ครั้งที่ 3 ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ก็เห็นการพัฒนาพื้นที่ 16 จังหวัดภาคกลาง-กทม.ให้เป็นมหานครที่ทันสมัย โครงการบริหารจัดการน้ำ บางบาล-บางไทร ใช้งบฯนับหมื่นล้านบาท

หว่านเม็ดเงินลงพื้นที่แบบเห็น ๆ โกยแต้มการเมืองจากประชาชน-แบ่งแต้มจากนักการเมืองในพื้นที่จนกระเป๋าตุงและยังมีโครงการที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือว่าจะช่วงชิงคะแนนชาวบ้านรากหญ้า จากนักการเมือง คือ บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย พุ่งเป้าผู้มีรายได้น้อยกว่า 11.4 ล้านคน

และล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์จะยกคณะลงพื้นที่ปักษ์ใต้-พื้นที่ฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ ระหว่างวันที่ 27-28พฤศจิกายน ที่จังหวัดสงขลาและปัตตานี ส่งรัฐมนตรีปูพรมเรียกแต้ม 5 จังหวัดปลายด้ามขวาน

เก็บข้อมูลดีไซน์นโยบายรัฐ

พร้อมทั้งมอบหมายให้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ รับไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าอนาคตจะปรับปรุง เช่น การเพิ่มวงเงิน การปรับปรุงประเภทของสวัสดิการต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้นหรือไม่

แผนของ “พล.อ.ประยุทธ์” จะใช้ “big data” ที่ได้รวบรวมไว้ตั้งแต่ช่วงการลงทะเบียนสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยนำมาประเมินผลเพื่อจัดสวัสดิการช่วยเหลือตรงกับความต้องการของแต่ละครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม ในจังหวะที่ “พล.อ.ประยุทธ์” โกยแต้ม-แบไต๋อยู่ต่อ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่คะแนนนิยมกำลังดิ่งเหวอย่างต่อเนื่อง

ตามผลสำรวจของซูเปอร์โพล (SUPER POLL) พบว่าความนิยมของประชาชนในตัว “พล.อ.ประยุทธ์” ในเดือน พ.ย.เทียบกับเดือน ก.ค.กับปัจจุบันพบว่า กลับตาลปัตร ซึ่งฐานสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ในเดือน ก.ค.มีอยู่ร้อยละ 78.4 แต่ พ.ย.สนับสนุนลดลงเหลือร้อยละ 52.0 ส่วนเสียงที่ไม่สนับสนุน เดือน ก.ค.มีอยู่ร้อยละ 21.6 แต่ในเดือน พ.ย.เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวอยู่ที่ร้อยละ 48.0

“ปรับเล็ก” ลดแรงกระเพื่อม

จึงต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อกระชากเรตติ้งที่กำลังจมดิ่งให้เชิดหัวขึ้นมาอีกครั้ง เป็นการ “ปรับ” เพื่อไปต่อในช่วงโค้งสุดท้ายจากเดิมที่จะยอม “หยิกเล็บเจ็บเนื้อ”หั่นโควตาของผองเพื่อนทหาร-ปรับใหญ่เปลี่ยนเป็น “ปรับเล็ก” เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง คือ กระทรวงแรงงานเท่านั้น

ขณะเดียวกันจะยังไม่ทูลเกล้าฯในเร็ว ๆ นี้ แต่จะทิ้งช่วงเวลาไว้สักพัก จึงไม่ไช่การ “ปรับเร็ว” อย่างที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้

ปรับ ครม.บิ๊กตู่ 5 ครั้งนี้ ก็เพื่อลดแรงกระเพื่อม-โกยแต้มในช่วงโค้งสุดท้าย หากทำสำเร็จก็จะเก็บเป็นคะแนนนิยมไว้ใช้หลังการเลือกตั้ง หากวันข้างหน้าถึงคิวที่จะใช้บริการ “นายกฯคนนอก”

ประคับประคองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการเปลี่ยนผ่านการเมือง ให้ไปถึงเป้าหมาย ตามข้อที่ 1 ของคำถามล่าสุด

“วันนี้เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่ การที่มีแต่พรรคการเมืองเดิม นักการเมืองหน้าเดิม ๆ แล้วได้เป็นรัฐบาล จะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูป และทำงานอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่”