“ไบเออร์” สร้างยุวชนเกษตร รับมือปัญหาความมั่นคงทางอาหาร-

มีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกจะทะยานสูงถึงหมื่นล้านคนในปี 2593 ซึ่งแน่นอนว่าย่อมกระทบกับเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้น สิ่งที่โลกต้องการคือ แนวทางระยะยาว และความคิดสร้างสรรค์สำหรับใช้ในการพัฒนาโซลูชั่นให้แก่ผู้ผลิตอาหารรุ่นถัดไปที่ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการเกษตรระดับโลก

กลุ่มคนที่จะก้าวเข้ามามีบทบาทคือเยาวชน เพราะเป็นกำลังสำคัญในปัจจุบันที่ต้องเตรียมพร้อมกับความท้าทายดังกล่าวที่จะเกิดในอนาคต อันเป็นเหตุผลที่ไบเออร์ (Bayer) และ 2 สมาคมเยาวชนเกษตรกรในประเทศเบลเยียม ได้แก่ Groene Kring และ Federation des Jeunes Agriculteurs เชิญชวนเยาวชนผู้นำทางความคิดจากทั่วโลกสมัครเข้าร่วมการประชุมสุดยอดยุวชนเกษตรระดับโลก (Global Youth Agriculture Summit) ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ณ ประเทศเบลเยียม

เยาวชนอายุระหว่าง 18-25 ปี ที่สมัครเข้าร่วมโครงการต้องส่งเรียงความเกี่ยวกับสาเหตุของความไม่มั่นคงทางด้านอาหาร และผลกระทบต่อประชากรโลกที่กำลังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคำถามนี้สอดคล้องกับกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals)

ความสามารถในการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมือนใคร และความต้องการอย่างแรงกล้าในการช่วยออกแบบอนาคตเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการคัดเลือกผู้เข้าร่วมการประชุม Youth Ag-Summit จนได้ตัวแทนเยาวชนประมาณ 100 คน จาก 49 ประเทศทั่วโลก ที่จะได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น กับการอภิปรายหนึ่งในคำถามที่ท้าทายมากที่สุดในโลกที่ว่า “เราจะหล่อเลี้ยงโลกที่หิวโหยอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ?”

สำหรับประเทศไทย บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่งผู้แทนเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมการประชุม คือ “เชอร์รี่ ภักดิ์ธรรมพร” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเกษตรเขตร้อน (หลักสูตรนานาชาติ) คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ “พรพิพัฒน์ เกษมทรัพย์” นักศึกษาปริญญาเอก สาขา Horticulture and Agronomy จาก University of California, Davis โดยมี “ดร.เจนจิรา ดวงจิต” อาจารย์ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยง

“พรพิพัฒน์” ฉายภาพให้ฟังถึงภาพรวมของการประชุมว่า งานมีทั้งหมด 4 วัน และมีกิจกรรม 3 รูปแบบ คือ การฟังบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้มีความสามารถด้านต่าง ๆ ซึ่งจะมีธีมของการพูดคุยในแต่ละวัน ได้แก่ sustainability, innovation และ leadership

“สปีกเกอร์ในวันแรกจะพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับแนวทางในการเลี้ยงคนอย่างยั่งยืน และทำอย่างไรให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่หยุดนิ่ง แล้วกระจายองค์ความรู้ออกไปยังกลุ่มคนต่าง ๆ ส่วนวันที่สองจะเป็นเรื่องนวัตกรรมการเกษตร และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน ขณะที่วันสุดท้ายเป็นเหมือนการเทรนเยาวชนให้มีความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และสามารถสื่อสารไปยังผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ”

ขณะเดียวกันยังมีทัศนศึกษานอกสถานที่ ในการชมนวัตกรรมด้านการเกษตร และเข้าชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมกลุ่ม ซึ่งหัวข้ออภิปรายของแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกัน โดยทางผู้จัดงานจะประมวลเนื้อหาจากเรียงความของผู้เข้าร่วมประชุม แล้วแบ่งเป็น 10 ประเด็น ก่อนที่จะจัดกลุ่มเด็กตามความสนใจ ทั้งนั้น ทั้ง 10 ประเด็นจะล้อไปกับเป้าหมาย SDGs

“เชอร์รี่” ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า โจทย์ของการอภิปรายคือแนวทางในการแก้ปัญหาความหิวโหย แต่ละกลุ่มจะมีโจทย์ประเทศที่ไม่เหมือนกัน โดยสมาชิกในกลุ่มจะระดมความคิดเห็นเพื่อนำเสนอไอเดียในวันสุดท้ายของการประชุม กระนั้น ด้วยความที่เยาวชนผู้เข้าร่วมมาจากหลายสาขาอาชีพ ดังนั้น พี่เลี้ยงประจำกลุ่มจะเป็นผู้ที่กำหนดทิศทางการอภิปราย เริ่มจากการให้เยาวชนเข้าใจว่าปัญหาคืออะไร แล้วระดมความคิดเห็น หลังจากนั้น เลือก 1 ไอเดียจากหลากแนวคิดมาเป็นต้นแบบ และทดลองทำ

สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จาก Youth Ag-Summit คือ กลุ่มที่นำเสนอโครงการด้านความเท่าเทียมทางเพศในประเทศกำลังพัฒนา กับการเพิ่มโอกาสสตรีในการมีส่วนร่วมด้านการเกษตร ด้วยแนวคิดที่ว่าให้มหาวิทยาลัยเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการเข้าไปช่วยเหลือสตรี โดยได้รับทุน 10,000 ยูโร เพื่อใช้ในการทำโครงการให้เกิดขึ้นจริง

“โดยส่วนตัว สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ คือ ความผูกพันจากเพื่อนทั่วโลก เป็นคอนเน็กชั่นที่เรารู้สึกว่า หากเราต้องการเริ่มโปรเจ็กต์อะไรสักอย่างก็จะมีคนให้กำลังใจ และสนับสนุนเรา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการเปลี่ยนโลกไม่อาจทำได้คนเดียว จะต้องหาพันธมิตรมาร่วมมือกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น”

ทั้งนั้น ในมุมมองเกี่ยวกับการหล่อเลี้ยงโลกที่หิวโหย “เชอร์รี่” มองว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่โลกไม่มีอาหารที่เพียงพอเพราะเทคโนโลยีสามารถผลิตอาหารให้ทุกคนได้ทั่วโลก แต่ปัญหาอยู่ที่ food distribution โดยความเสียหายของอาหารจากระบบโลจิสติกส์นับเป็นปัญหาสำคัญที่ทั่วโลกกำลังหาทางแก้ไข

ขณะที่ “พรพิพัฒน์” มองว่า หากพิจารณาถึงเป้าหมายของ SDGs แล้ว เป้าหมายที่จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารได้ คงเป็นเรื่องการศึกษา เพราะเป็นการพัฒนาคนที่ยั่งยืน รวมถึงประเด็นการจัดการสภาวะโลกร้อน และความร่วมมือของทุกภาคส่วน

“จากงานประชุมไม่มีคำตอบชัดเจนว่า ท้ายที่สุดแล้วเราจะหล่อเลี้ยงโลกที่หิวโหยได้อย่างไร เพราะคำตอบขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ และแต่ละพื้นที่ต่างมีปัจจัยที่แตกต่างกัน”


อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีการสรุปที่เห็นเป็นรูปธรรม แต่การประชุม Youth Ag-Summit ช่วยจุดประกายแนวคิดด้านการเกษตรให้กับเยาวชน ซึ่งเป็นการสร้างคนในระยะยาวตามนโยบายซีเอสอาร์ของไบเออร์ ที่ต้องการสร้างคนรุ่นใหม่ให้สามารถรังสรรค์โลกได้