นับถอยหลังรื้อสถานีรถไฟฟ้าตากสิน “บีทีเอส-กทม.” ทุ่ม 1.1 พันล้านสร้างใหม่-

ได้ข้อสรุปชัดเจนแนวทางแก้ปัญหาคอขวดรถไฟฟ้าบีทีเอส “สถานีตากสิน” หลัง “คมนาคม” และ “กทม.-กรุงเทพมหานคร” หารือกันมายาวนานหลายปี “จะย้าย” หรือ “จะทุบ”

บทสรุปสุดท้ายนาทีนี้ “บีทีเอสซี-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” ผู้รับสัมปทานจาก กทม.จะไม่ย้ายสถานี แต่จะปรับปรุงใหม่ ขยายรางรถไฟจากวิ่งทางเดี่ยวเป็นทางคู่ให้รถสามารถวิ่งสวนทางกันได้ จากปัจจุบันจะต้องรอสับหลีก

พร้อมกับขยายพื้นที่ชานชาลาเพิ่มจาก 1 เป็น 2 ชานชาลา ลดความแออัดพื้นที่สถานีที่มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่ 50,000 เที่ยวคนต่อวัน

ใช้เงินก่อสร้าง 1,100 ล้านบาท แยกเป็นงานเบี่ยงสะพานสาทรกว้าง 1.80 เมตรทั้งสองฝั่งทดแทนพื้นที่สะพานเดิมและคงช่องจราจรไว้เท่าเดิม วงเงิน 300 ล้านบาท และงานปรับปรุงสถานี วงเงิน 700-800 ล้านบาท ประกอบด้วยงานขยายรางและเพิ่มพื้นที่ชานชาลา

ในแผนปฏิบัติการจะใช้เวลาดำเนินการทั้งโครงการ 40 เดือน เร็วสุดจะแล้วเสร็จปลายปี 2563 ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบสถานี คาดจะแล้วเสร็จเดือน ธ.ค.นี้ จากนั้นส่งแบบให้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) พิจารณา

พร้อมกับส่งไม้ต่อให้ กทม.จัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างมาดำเนินการ ส่วนจะเปิดประมูลหรือวิธีพิเศษ อยู่ที่การพิจารณาของ กทม. หากเปิดประมูลจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน แต่คัดเลือกโดยวิธีพิเศษจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งเมื่อดูไทม์ไลน์คาดว่าจะเริ่มงานเบี่ยงสะพานสาทรภายในเดือน เม.ย. 2561 จากนั้นประมาณเดือน ก.ค.-ส.ค.จะเป็นงานก่อสร้างสถานี

แม้แบบก่อสร้างจะใกล้ลงตัว แต่ยังต้องลุ้นงบประมาณ 1,100 ล้านบาท ใครจะเป็นคนควักจ่ายระหว่าง “บีทีเอสกับ กทม.” เพราะถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อยุติ

ขณะเดียวกันหลายฝ่ายก็มีข้อกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าปัญหาการจราจรเนื่องจากในระหว่างการก่อสร้างจะต้องมีการหยุดให้บริการสถานีตากสิน ทำให้ผู้โดยสารที่เดินทางด้วยเรือเพื่อมาต่อรถไฟฟ้าเข้าเมืองจะต้องไปใช้สถานีกรุงธนบุรีหรือสถานีสุรศักดิ์แทน

โดย นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานบูรณาการด้านโครงสร้างพื้นฐาน และอำนวยความสะดวกในการเดินทางบริเวณสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กล่าวว่า วันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ประชุมติดตามผลการดำเนินการปรับปรุงบริเวณสถานีรถไฟฟ้าตากสิน (S6) ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาจะออกแบบแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้

“คมนาคมตระหนักถึงปัญหาการจราจรที่เพิ่มขึ้น จึงได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาการเชื่อมโยงระบบคมนาคมและการขนส่งบริเวณสะพานสาทร

และพื้นที่โดยรอบเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนที่ใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางราง”

อีกทั้งร่วมกับ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้าตากสิน ซึ่งเป็นสถานีมีความสำคัญเชื่อมโยงการเดินทางได้ทุกระบบ โดยจะเริ่มก่อสร้างพื้นสะพานด้านปีกนอกของสะพานทั้งสองฝั่งให้แล้วเสร็จก่อน จึงขยายชานชาลา และช่องทางวิ่งรถไฟฟ้าเป็นทางวิ่งคู่ เพื่อให้เพียงพอต่อระยะเบี่ยงแนวทางวิ่งของรถยนต์ และลดผลกระทบด้านการจราจร


นอกจากนี้ทช.ปรับปรุงอาคารและโดยรอบศูนย์บริการร่วมคมนาคม ได้แก่ ทางเดินเท้า หลังคากันฝน เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนที่มาใช้บริการ และกรมเจ้าท่า (จท.) อยู่ระหว่างออกแบบท่าเรือตากสินให้เป็นสถานีเรือเชื่อมต่อการเดินทางทั้งรถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง และเรือรวมถึงออกแบบสร้างทางเดินเชื่อมต่อ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางของประชาชน