วิเคราะห์ตลาดหุ้นมะกัน วัฏจักรกระทิงได้เกิน 10 ปี ?-

ตลาดหุ้นสหรัฐที่คึกคักขยับขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าเกิน 60 ครั้ง นับจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ชนะเลือกตั้งและก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ทำให้นักวิเคราะห์และนักลงทุนจำนวนไม่น้อย เริ่มร้อน ๆ หนาว ๆ ต้องพาเหรดพากันออกมาเตือนว่าตลาดอยู่ในภาวะร้อนแรงเกินไปและเสี่ยงจะถล่มครั้งใหญ่ได้ทุกเมื่อ

อย่างไรก็ตาม มีนักลงทุนมืออาชีพบางรายมีมุมมองต่างออกไป อย่างเช่น “สตีฟ เชียวาโรน” ผู้จัดการพอร์ตของเฟเดอเรเต็ด อินเวสเตอร์ ซึ่งช่วยบริหารกองทุนเฟเดอเรเต็ด โกลบอล แอลโลเคชั่นเชื่อว่าตลาดหุ้นยังเหลือเวลาคึกคักอีกเกิน 10 ปี โดยเห็นว่าภาวะตลาดกระทิงขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เพราะดำเนินมาเพียง 4 ปีครึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วภาวะกระทิงจะกินเวลานาน 15-20 ปี ดังนั้นจึงถือว่าขณะนี้ตลาดยังไม่มีความเสี่ยง

เชียวาโรนวิเคราะห์ว่าดัชนีเอสแอนด์พี 500 จะขยับไปอยู่ที่ 2,750 จุดในปีหน้า หรือเพิ่มขึ้น 6% จากระดับปัจจุบัน และจะขยับไปเป็น 3,000 จุดในปี 2562 แต่ก็ยังเป็นคาดการณ์ที่ค่อนข้างต่ำอยู่ดี

เหตุผลที่ทำให้เชื่อว่าตลาดหุ้นจะยังเดินหน้าต่อไปได้นั้น เชียวาโรนบอกว่า เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร กล่าวคือ กลุ่มคนที่เรียกว่า “มิลเลนเนียล” หรือเจเนอเรชั่นวาย ซึ่งได้แก่ผู้เกิดในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ไปจนถึงต้นทศวรรษ 2000 หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงเปลี่ยนผ่านสหัสวรรษ กำลังก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน และคาดว่าค่าแรงของพวกเขาจะไม่ถูกปรับขึ้นมากนักตลอดชีวิตการทำงาน ดังนั้นพวกเขาจะไม่มีเงินมากพอจะดำรงชีวิตไปจนถึงหลังเกษียณ ด้วยเหตุนั้นพวกเขาจำเป็นต้องลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อสร้างรายได้ให้เติบโตเพียงพอ

ผู้จัดการกองทุนรายนี้ระบุว่า ไม่เพียงตลาดหุ้นสหรัฐเท่านั้นที่เขาชื่นชอบ แต่ตลาดหุ้นยุโรปก็มีความน่าสนใจเช่นกัน เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจในยูโรโซนในปัจจุบันนี้ เป็นไปในทางบวกเป็นครั้งแรก ส่วนภาคธนาคารที่เคยเป็นปัญหามาก่อน ก็กำลังฟื้นตัว นับได้ว่าตลาดหุ้นยุโรปปัจจุบันราคาถูกกว่าปกติ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นลงทุน

อย่างไรก็ตาม เชียวาโรนไม่ได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่า ช่วงระหว่างทางไปจนถึงจุดสิ้นสุดของรอบกระทิง ตลาดหุ้นก็ย่อมต้องเผชิญกับความผันผวนในบางช่วงเป็นธรรมดา

โดยคาดว่าตลาดอาจถดถอยในช่วงปี ค.ศ. 2020 หรือ 2021 เมื่อพิจารณาจากนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะใช้นโยบายการเงินตึงตัวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ กระนั้นก็ตามเขาเชื่อว่าการปรับตัวลงของตลาดหุ้นจะไม่ลึกหรือยืดเยื้อ

เขาแนะนำว่าหากตลาดหุ้นปรับตัวลงเมื่อไรถือเป็นโอกาสซื้อ เพื่อรอการขึ้นรอบใหม่

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินครั้งร้ายแรงในสหรัฐในรอบ 80 ปีเมื่อปลายปี ค.ศ. 2008 ซึ่งส่งผลให้คนอเมริกันตกงานมหาศาล ธุรกิจล้มละลาย ตลาดหุ้นพังครืน หลายคนสูญเงินออมที่สะสมมาตลอดชีวิต ทำให้คนยุคมิลเลนเนียลมีทัศนคติเป็นลบต่อตลาดหุ้นและรู้สึกขยาดและถอยหนีจากตลาดหุ้น โดยตามผลสำรวจการลงทุนทั่วโลกของเลกก์ เมสัน ที่เผยแพร่เมื่อกลางปีนี้ 82% ของนักลงทุนมิลเลนเนียล ตอบว่าการตัดสินใจลงทุนของพวกเขาได้รับอิทธิพลจากวิกฤตการเงิน และมี 85% ที่ตอบว่าพวกเขาเป็นนักลงทุนประเภทอนุรักษนิยม

“ทอม ฮูปส์” หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจของเลกก์ เมสัน ระบุว่า ความหวาดกลัวที่เกาะกินใจจากวิกฤตครั้งนั้น ทำให้กลุ่มคนมิลเลนเนียลพลาดโอกาสทองในการลงทุนในขณะที่ตลาดหุ้นยังราคาถูก โดยจะเห็นว่านับจากดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลงไปต่ำสุดในปี ค.ศ. 2009 ก็ได้ดีดตัวขึ้นมาแล้ว 260% เมื่อนับถึงปัจจุบัน


รายงานของเลกก์ เมสัน ชี้ว่า หลังจากนักลงทุนมิลเลนเนียลเห็นตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้พวกเขาเปิดใจให้กับตลาดหุ้นมากขึ้น โดยผลสำรวจพบว่า 80% วางแผนจะยอมรับความเสี่ยงมากขึ้นในปีนี้ ขณะที่ 66% แสดงความสนใจลงทุนในตลาดหุ้น