กนอ.ดึง 5 บิ๊กตั้ง SMEs-ITC นำร่องนิคมแหลมฉบังช่วยจับคู่ธุรกิจ-

กนอ.ดึง 5 บิ๊กธุรกิจ “อมตะ-WHA-ปิ่นทอง-ไทยซัมมิท-โพเอ็มโกบอล” ลงขันตั้ง “SMEs-ITC” ใน EEC ผลักดัน ยกระดับ SMEs เป็นซัพพลายเชนเชื่อมรายใหญ่ จ่อเปิดอีก 8 นิคม

นายวีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 21 พ.ย. 2560 นี้ กระทรวงอุตสาหกรรม กนอ. ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมลงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

เพื่อเปิดศูนย์บริการ SMEs Industrial Transformation Center หรือ SMEs-ITC ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน 5 ราย ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร, บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง, บริษัท ไทยซัมมิท กรุ๊ป และบริษัท โพเอ็มโกบอล จำกัด ด้วยเงินลงทุน 8 ล้านบาท

เป้าหมายเพื่อใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ในรูปแบบของ coworking space ถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ สร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ (expert network) และแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญ (expert pool) สำหรับเป็น big brother ส่งเสริมและพัฒนาสร้างโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และ startup สามารถยกระดับและเติบโตก้าวสู่การแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่ง

โดยศูนย์ SMEs-ITC มีหน้าที่เป็นเอาต์เลต จะเริ่มเปิดให้บริการนำร่องไปก่อนที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เป็นที่แรก โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุดสำหรับ SMEs ที่อยู่ใน EEC เป็นโอกาสให้รายใหญ่พบรายเล็กของจริง ในอนาคต SMEs ไทยสามารถเข้าไปเป็นซัพพลายเชนให้กับผู้ผลิตรายใหญ่ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้

“เอกชน 5 รายที่ร่วมกันตั้งศูนย์นี้ขึ้นมา เพราะ กนอ.ต้องการให้เอกชนมาช่วย SMEs อย่างไทยซัมมิทฯ มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังอยู่แล้ว มีประเภทกิจการหลากหลาย เช่น ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่จะส่งคนมาช่วยให้คำปรึกษา กลุ่ม WHA และอมตะฯ มีนิคมเป็นของตัวเอง ลูกค้าจำนวนมาก นักลงทุนเหล่านั้นยังต้องการหาซัพพลายเชนที่เป็น SMEs”

ซึ่งศูนย์ SMEs-ITC เริ่มนำร่องพื้นที่แรกที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ด้วยการให้บริการ 1.พื้นที่อำนวยความสะดวกในการทำงาน (coworking space) 2.แหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญทุกอุตสาหกรรม (experts pool) 3.ศูนย์รวบรวมความรู้ (knowledge center) 4.แหล่งรวมไฟล์/เว็บเพื่อการจับคู่ (portal for matching) 5.ศูนย์นวัตกรรม (innovation center) 6.บริการด้านทรัพยากรร่วมกัน (share resource service) 7.โปรแกรมด้านการเงิน (financial pro-gram) 8.ห้องประชุม (meeting room) 9.ห้องฝึกอบรม (training room) 10.ห้องเจรจาธุรกิจ (business lounge) 11.ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Library)

สำหรับลักษณะการทำงาน เช่น นักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอมตะฯรายหนึ่งต้องการหาผู้ผลิตสินค้าเพื่อเป็นซัพพลายเชน โดยตั้งคุณสมบัติของงาน สินค้า และสเป็ก SMEs ที่ต้องการ จากนั้นศูนย์ SMEs-ITC จะหาบริษัทที่มีลักษณะตรงกับที่นักลงทุนต้องการ แล้วจัดเข้าโปรแกรมต่าง ๆ ที่มี เช่น อบรมว่าสินค้าดังกล่าวต้องเพิ่มกระบวนการอะไรเข้าไปให้มีศักยภาพขึ้น จากนั้นจะส่งต่อให้นักลงทุนเพื่อ SMEs จะได้หารือแนวทางร่วมธุรกิจกันต่อไป

ในทางกลับกัน กรณีที่ SMEs ในพื้นที่มีปัญหาด้านการผลิต หรือแม้แต่ต้องการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับตลาด จะใช้ศูนย์ดังกล่าวรับเรื่อง และจัดหานักลงทุนจากพาร์ตเนอร์ทั้ง 5 ราย มาร่วมกันพัฒนาตามโจทย์ ทั้งนี้ในบางกรณีที่ไม่สามารถทำได้ จะส่งเข้าไปส่วนกลาง หรือศูนย์ ITC ใหญ่ ที่ กทม.

นอกจากนี้ ในอนาคต กนอ.ได้เตรียมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมทั้งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) อีก 9 แห่ง เดินหน้าสานต่อนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาและสนับสนุน SMEs และ startup ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแบบเดียวกัน โดยเริ่มทยอยนำร่อง ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน 2.นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง จ.ฉะเชิงเทรา 3.นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง 4.นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ 5.นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร 6.นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ (ฉลุง) จ.สงขลา และในส่วนพื้นที่ SEZ 7.นิคมอุตสาหกรรมสะเดา จ.สงขลา 8.นิคมอุตสาหกรรมแม่สอด จ.ตาก 9.นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว จ.สระแก้ว”