หุ้น “ไทย-ปินส์-อินโด” เดือด เงินร้อนต่างชาติดันบาทแข็ง-

ฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลเข้าเก็งกำไรภูมิภาคเอเชีย ดันดัชนีหุ้นไทย-ฟิลิปปินส์-อินโดฯแห่ทำสถิติพุ่งเป็นประวัติการณ์ ชี้อานิสงส์เฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย-ยุโรปไม่นิ่ง บวกแรงหนุนเศรษฐกิจไทยสดใส ศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้เงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นและตราสารหนี้อื้อ กดบาทแข็งค่าในรอบ 3 ปี 3 เดือน ธปท.แจงพร้อมเข้าแทรกแซง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่เปิดซื้อขายวันแรกของปี 2561 (SET Index) ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ทำสถิติใหม่ โดยปิดตลาด ณ วันที่ 3 ม.ค. 2561 ที่ 1,778.53 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในประวัติการณ์นับตั้งแต่เปิดซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 2518 โดยปรับขึ้น 24.82 จุด หรือ 1.42% จากสิ้นปี 2560 ด้วยมูลค่าซื้อขาย 85,850.49 ล้านบาท

ต่อเนื่องวันที่ 4 ม.ค. ดัชนีปรับตัวขึ้นทำสถิติต่อเนื่องโดยปิดตลาดที่ 1,791.02 จุดด้วยมูลค่าซื้อขายสูงถึง 90,816.95 ล้านบาท และวันที่5 ม.ค. ดัชนีปิดที่1,795.45 จุดมูลค่าซื้อขาย 87,480.95ล้านบาท ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 18.007 ล้านล้านบาท เรียกได้ว่าเป็นการทำลายสถิติของการปรับตัวขึ้นของดัชนีเป็นรายวัน

เศรษฐกิจ-งบฯ บจ.หนุนดัชนี

นายคณฆัส จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุนบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นอย่างมากในช่วงต้นปี 2561 ส่วนหนึ่งเพราะภาพรวมยังคงได้รับแรงหนุนจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในประเทศ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2560 ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ตามการส่งออกสินค้าและภาคท่องเที่ยวที่เติบโตสูง รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนที่มีทิศทางเป็นบวกคอยสนับสนุน ขณะเดียวกันยังเป็นผลจากที่คาดการณ์ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) งวดไตรมาส 4/2560 ที่จะปรับตัวดีขึ้น

“ตลาดหุ้นไทยต้นปีปรับตัวขึ้นมาแรงมาก ดังนั้นก็อาจเกิดการปรับฐาน หรือการปรับตัวลดลงของดัชนีให้เห็นในเดือนนี้ ซึ่งตามสถิติก็จะร่วงลงไม่เกิน 1 ใน 3 ของดัชนีที่ขยับขึ้น และน่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 3-5 วัน หลังจากนั้นดัชนีก็น่าจะไปต่อได้ ซึ่งหากมองในรอบเดือน ม.ค. มองแนวต้านไว้ที่ 1,785-1,804 จุด และแนวรับที่ 1,750-1,730 จุด” นายคณฆัสกล่าว

สำหรับคาดการณ์ดัชนีตลอดทั้งปี 2561 ประเมินว่า ดัชนีมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปที่ 1,848 จุด ภายใต้สมมติฐานที่ราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (EPS) อยู่ที่ 112 บาทต่อหุ้น และอัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้นคาดการณ์ล่วงหน้า (forward P/E) อยู่ที่ 16.5 เท่า

แรงขาย LTF ไร้พิษสง

นายคณฆัสกล่าวว่า ในส่วนของความกังวลที่ว่าจะมีแรงเทขายกองทุน LTF ที่ครบกำหนดถือครองมูลค่าราว 1 หมื่นล้านบาท ออกมากดดันตลาดในเดือน ม.ค.นั้น ส่วนตัวมีความเห็นว่าไม่น่าจะเป็นประเด็นที่น่าห่วงมากนัก เพราะแม้จะมีนักลงทุนที่ขาย LTF ออกมา แต่เชื่อว่าจะมีแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาพยุง เพื่อหาผลตอบแทนในภาวะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า เนื่องจากนับตั้งแต่วิกฤตการเมืองไทย ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติได้ขายหุ้นไทยออกไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงมีโอกาสที่นักลงทุนกลุ่มนี้จะเข้ามาลงทุนเพิ่มได้อีก ประกอบกับมีประเด็นเรื่องเงินบาทแข็งค่า รวมถึงแรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นขนาดใหญ่ทั้งธนาคาร และสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงต้นปี

ฟันด์โฟลว์ทะลักเข้าเอเชีย

ขณะที่นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส จำกัด มองว่า ช่วงเดือน ม.ค. ตลาดหุ้นไทยอาจมีอุปสรรคบ้างในการปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีโอกาสถูกแรงเทขายจากนักลงทุนสถาบันภายในประเทศ เพราะเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาพบว่า นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิทุกวัน และมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นด้วยแรงซื้อที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว จึงอาจทำให้มีแรงขายทำกำไรระยะสั้นช่วงต้นปี

โดยจากสถิติย้อนหลัง 12 ปี (ปี 2549-2560) พบว่า นักลงทุนมักจะขายคืนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ในเดือน ม.ค. มากที่สุดราว 22% ของการขายคืนทั้งปี โดยกองทุน LTF ที่จะครบกำหนดการถือครองและสามารถขายคืนได้ในปีนี้มีมูลค่าสูงถึง 5.63 หมื่นล้านบาท

จากข้อมูลบทวิเคราะห์ของ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ปี 2561 แรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเร็วกว่าปกติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัดส่วนการถือครองหุ้นของต่างชาติ ณ พ.ย. 2560 อยู่ที่ระดับต่ำเพียง 31.24% (จากที่เคยทำสถิติสูงสุด 36.8% เมื่อ มี.ค. 2555) โดยพบว่าต้นปีที่ผ่านมา ฟันด์โฟลว์ได้ไหลกลับเข้ามาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคทุกประเทศ นอกจากนี้พบว่าช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศได้มีการทำสถิติสูงสุด เช่น ตลาดนิกเคอิของญี่ปุ่น ทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 27 ปี และฟิลิปปินส์ก็ทำ all-time-high ไปเมื่อ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่อินโดนีเซียทำสถิติ all-time-high ตั้งแต่เปิดทำการวันแรก 2 ม.ค. 61

เศรษฐกิจไทยสดใสล่อใจต่างชาติ

นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะโดยรวมของเศรษฐกิจไทยปี 2561 ดีขึ้นมาก เนื่องจากทุกเครื่องยนต์เดินครบหมดแล้ว ซึ่งไม่เคยเห็นแบบนี้มาหลายปี ทั้งการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน นักลงทุนก็เริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ทั้งยังมีการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ รวมถึงการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี

“การส่งออกปีนี้น่าจะดีกว่าที่คาดไว้ว่าจะโต 5.7% เพราะดีมานด์จากต่างประเทศโตตามเศรษฐกิจโลก ส่วนจีดีพีปี 2561 น่าจะโตได้ 4% ต้น ๆ จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะโต 3.8% ซึ่ง สศค.จะปรับประมาณการในเดือน ม.ค.นี้”

ธปท.ลั่นบาทแข็งพร้อมแทรกแซง

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2561 เงินบาทแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับเงินสกุลต่าง ๆ ของภูมิภาค โดยเป็นการเคลื่อนไหวค่อนข้างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของสกุลดอลลาร์สหรัฐ และการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติที่มาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรทั้งภูมิภาค

“ธปท.ติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด และหากค่าเงินเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินควร จนอาจกระทบต่อการปรับตัวของภาคเอกชน ธปท.ก็พร้อมทำหน้าที่ธนาคารกลางในการเข้าดูแล” นายเมธีกล่าว

พร้อมกันนี้ ธปท. แนะนำให้ภาคเอกชนควรพิจารณาการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่มีหลากหลายทางเลือกให้เหมาะสม ตั้งแต่การซื้อประกันความเสี่ยง การใช้เงินสกุลท้องถิ่น ที่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับค่าเงินบาท แทนเงินดอลลาร์สหรัฐในการชำระเงิน หรือนำรายได้เงินตราต่างประเทศฝากเข้าบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) ไว้ก่อน แทนการแลกเป็นเงินบาท

เงินบาทแข็งค่ารอบ 3 ปี 3 เดือน

ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า เงินบาทเปิดตลาดต้นปี 2561 แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 ปี 3 เดือน ที่ระดับ 32.22 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทปี 2561 น่าจะผันผวนสูงเห็นได้จากความเคลื่อนไหว 2 วันแรกของปีเงินบาทแข็งค่าเพราะมีเงินทุนไหลเข้าทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ ซึ่งน่าจะเข้ามาต่อเนื่อง จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยและเงินบาทที่ดูดีสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ทั้งตัวเลขเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ปีนี้คาดการณ์กันว่าจะสูงกว่า 40,000 ล้านบาท จากการเติบโตของส่งออก นอกจากนี้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ดีกว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงคาดว่าจะมีการเลือกตั้งช่วงปลายปีเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดเงิน ตลาดทุน

ในระยะสั้นไตรมาส 1/2561 ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ เดือน ก.พ. 2561 จะมีประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คนใหม่ ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดจับตามองการประชุมของเฟดในเดือน มี.ค.ว่า เฟดจะมีทิศทางต่อประมาณการเศรษฐกิจและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอย่างไร ซึ่งตลาดให้ความสนใจว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้ครบ 3 ครั้งในปีนี้หรือไม่ หากมีความชัดเจนจากเฟด ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ อาจทำให้เกิดแรงหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังได้แก่ สถานการณ์การเมืองของสหรัฐ รวมถึงกรณีปัญหาเกาหลีเหนือ

ศูนย์วิจัยคาดการณ์ว่า สิ้นไตรมาส 1/61ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และไตรมาส 2/61 จะอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 32.83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าสิ้นปีจะอยู่ที่ 34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เปิดต้นปีใหม่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 32.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าซื้อสินทรัพย์ของไทย แต่ปัจจัยหลักค่าเงินบาทแข็งค่ายังเกิดจากดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง ซึ่งนักวิเคราะห์หลายสำนักกังวลว่า เฟดจะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาสแรก เพราะเปลี่ยนประธานคนใหม่ ทำให้หลายฝ่ายยังรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐก่อน จึงเห็นความต้องการที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ตลาดอีเมอร์จิ้งเอเชีย ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าในระยะสั้น 1-2 เดือน

ในระยะสั้น (ไตรมาส 1/2561) ต้องติดตาม 2 เหตุการณ์ ได้แก่ 1.ความกังวลเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยเฟด หลังจากเปลี่ยนประธานคนใหม่ 2.สถานการณ์ในยุโรป โดยเดือน มี.ค. มีการเลือกตั้งที่ประเทศอิตาลี ซึ่งธนาคารพาณิชย์ในอิตาลียังมีหนี้เสียสูง หากคนเริ่มมีความกังวลมากขึ้น ต้องจับตาว่าธนาคารกลางยุโรปจะบริหารจัดการอย่างไร และหากเกิดประเด็นความผันผวน อาจทำให้คนลดการถือเงินสกุลยูโร และหันไปถือเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นระยะสั้น