2 ฝ่ายตั้งทนายสู้ศึกเหมืองทอง ลุ้น ปธ.อนุญาโตตุลาการคัด 10 เหลือ 1-

ไทย-คิงส์เกตเลือกทนายดังข้ามชาติ “คริสโตเฟอร์ -นีล” นั่ง “อนุญาโตตุลาการ” เจรจาเหมืองทองอัครา พร้อมกางข้อตกลง TAFTA ขัด-ไม่ขัด

จากกรณีที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด (คิงส์เกต) ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์เซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งถูกระงับให้ดำเนินกิจการเหมืองทองคำ สำรวจ การต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ การต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 72/2559 อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2559 คำสั่งดั่งกล่าวส่งผลให้อัคราฯ ฟ้องรัฐบาลไทยว่ากระทำการละเมิดข้อตกลงว่าด้วยการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เข้าสู่กระบวนการหารือ (consaltation) ไปแล้วตั้งแต่ปี 2560 แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงนำมาสู่กระบวนตั้งอนุญาโตตุลาการอย่างเป็นทางการแล้ว

นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสากรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ระบบการตั้งอนุญาโตตุลาการจะมีประกอบไปด้วย 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายผู้ฟ้อง ฝ่ายผู้ถูกฟ้อง และคนกลาง ซึ่งขณะนี้ทางรัฐบาลไทยได้เสนอชื่อนายคริสโตเฟอร์ โธมัส (Christopher Thomas) ทนายความทางด้านอนุญาโตตุลาการชั้นสูง ประเทศแคนาดา ประสบการณ์มากกว่า 30 ปี และฝั่งคิงส์เกตฯเสนอชื่อ นายนีล แคปแลนด์ (Neil Kaplan) ทนายความด้านอนุญาโตตุลาการชั้นสูง ประเทศอังกฤษ ประสบการณ์ 40 ปี ซึ่งทั้ง 2 คนมีสถานะเป็นนักกฎหมายอิสระเชี่ยวชาญการทำคดีพิเศษเกี่ยวกับข้อพิพาทการค้าต่าง ๆ การค้าเสรีระหว่างประเทศทั้งสิ้น

หลังจากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายต้องเสนอชื่อฝ่ายละ 5 คน รวมเป็น 10 คน เพื่อให้หน่วยงานกลางสำนักอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้อนุญาโตตุลาการของแต่ละฝ่ายคัดเลือกเหลือเพียง 1 คนเพื่อเป็นประธานคนกลางขึ้นมา โดยเบื้องต้นจะต้องมีคุณสมบัติความชำนาญ เหมาะสมและเคยทำหน้าที่ด้านกฎหมายอนุญาโตตุลาการมาก่อน ทั้งนี้ กระบวนการทั้งหมดต้องดำเนินการภายในเดือนมกราคมนี้

เมื่อได้อนุญาโตตุลาการครบ 3 คนแล้ว จะหาสถานที่กลางสำหรับเจรจาให้อยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรมของศาลและกฎหมายของประเทศนั้น ๆ เพื่อให้ได้สิทธิการบังคับคดีตามพื้นที่นั้น ๆ ด้วย ซึ่งไทยอาจใช้กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน หรืออังกฤษ ส่วนคิงส์เกตฯ คาดว่าจะใช้ประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากกฎหมายการค้าเสรีการลงทุนค่อนข้างดี จากนั้นจะเจรจา โดยเริ่มนำข้อตกลง TAFTA มาพิจารณารายละเอียดเป็นครั้งแรกว่าขัดกับกฎหมายอย่างไร

“นับจากวันที่ถูกฟ้องเรายังไม่เจอคิงส์เกตฯ คิดว่าคุยกันแล้วน่าจะมีทางออกที่ดี ปีนี้น่าจะจบ เพราะคิงส์เกตฯต้องการทำเหมืองแร่ต่อในไทย”

นอกจากนี้ ทางอัคราฯได้มาหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอเปิดไลน์การผลิตของโรงประกอบโลหกรรมบางส่วนที่ยังมีสินแร่ค้างอยู่ให้เสร็จ แต่ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 (ฉบับใหม่) มีข้อกำหนดว่า 1.การจะกลับมาเปิดใหม่โดยไม่สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนไม่ได้ จึงไม่สามารถอนุญาตได้ 2.ก่อนเปิดเหมืองทองคำครั้งใหม่ต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐาน หากไม่มีชาวบ้านจะร้องเรียนเช่นเดิม และจะพิสูจน์ไม่ได้ว่าสาเหตุมาจากไหน

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายในเดือนมกราคมนี้จะให้อนุญาโตตุลาการที่ตั้งขึ้นมาร่างขอบเขตงาน (TOR) ว่ากระบวนการจะเดินอย่างไร จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบและขออำนาจให้อนุญาโตตุลาการทำหน้าที่แทนรัฐบาลไทยในการเจรจา ทั้งนี้ คิงส์เกตฯยังไม่ได้มาเจรจาอย่างเป็นทางการ เพราะอยู่ระหว่างปรับนโยบาย กลยุทธ์ใหม่ หลังเปลี่ยนสัดส่วนผู้ถือหุ้นบางราย ขณะที่ไทยจะเดินคู่ขนานกระบวนการอนุญาโตตุลาการและการเจรจายุติข้อพิพาทคู่กัน ดังนั้น หากยุติทางออกที่ดีร่วมกันได้ก็สามารถถอนอนุญาโตตุลาการได้