บิ๊กตู่-คสช.ไต่บันไดหนีไฟ สารพัดเงื่อนไข (ไม่) เลือกตั้ง 2561-

ในปี 2561 สิ่งที่คอการเมืองเฝ้าจับตาว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือ คสช.และรัฐบาล จะคิกออฟ กำหนดวันเลือกตั้ง วันไหน-เดือนอะไร

เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ลั่นวาจาไว้ว่าจะเปิดเผยวันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2561 จากนั้นนับต่อไปอีก 5 เดือน หลังกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับประกาศใช้ครบ ตามข้อกำหนดรัฐธรรมนูญ 2560 ก็จะเป็นวันเลือกตั้งตรงกับเดือนพฤศจิกายน

หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ยังย้ำคำเดิมว่า “ทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแมป ผมก็จะพูดกับต่างประเทศแบบนี้เหมือนเดิม หลายประเทศก็เข้าใจว่าขึ้นอยู่กับกฎหมายลูกที่มีอยู่ 2 ฉบับ เสร็จเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น”

ตัวแปรการเลือกตั้ง

ดังนั้น ปี 2561 จะเป็นปีแห่งการเลือกตั้ง แต่ตัวแปรเลือกตั้งสำคัญจะอยู่ที่กฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้ง 2 ฉบับยังอยู่ในชั้นการพิจารณาวาระที่ 1 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ทว่าสุดท้าย หากทั้ง 2 กฎหมาย ถูกคว่ำก็จะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปได้ แต่เมื่อฟังจากเสียง “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. กล่าวว่ายังไม่ได้รับสัญญาณการคว่ำ

“เท่าที่ดูแต่กฎหมาย คิดว่าเป็นไปได้ด้วยดี ส่วนปัจจัยอื่น ๆ เป็นเรื่องที่แม่น้ำสายอื่นต้องประเมิน ที่ผ่านมาพูดกันมากเรื่องการคว่ำกฎหมายลูก ผมไม่คิดว่าจะมีเรื่องแบบนั้น แต่ก็ไม่รู้ข้อเท็จจริง ซึ่งการจะคว่ำกฎหมายได้ต้องใช้เสียงถึง 2 ใน 3 ของสภา การใช้เสียง 2 ใน 3 ก็ต้องมีการพูดจาล็อบบี้และส่งสัญญาณกัน แต่ตนยังไม่เห็นสัญญาณที่ว่านั้นเลย”

ถ้าไม่มีอุบัติเหตุกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะคลอดในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2561กับอีกปัจจัยหนึ่งที่ “อาจ” ทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปได้ เกิดขึ้นจากใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ที่เปิดทางให้พรรคใหม่ทำธุรการการหาสมาชิกพรรค เตรียมตัวก่อนพรรคใหญ่ที่จะเปิดให้ดำเนินการ 1 เม.ย. 2561 นักการเมืองบางส่วนนับนิ้วไปมา ห้วงเวลากลับไม่ลงล็อก มีสิทธิโรดแมปขยับ

อย่างไรก็ตาม ในคำสั่งที่ 53/2560 ฉบับเดียวกัน มีการกำหนดให้วันที่ 1 มี.ค. 2561 เริ่มจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง แปลว่าในเดือน มี.ค. 2561 เป็นต้นไป จะได้เห็นหัว-เห็นหาง พรรคการเมืองหน้าใหม่ หาก คสช.คิดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาสู้ศึกเลือกตั้ง ต่อท่ออำนาจ อาจจะได้เห็นกันในช่วงเวลานี้

เผยโฉม 250 ส.ว.หลังเลือกตั้ง

พลันที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว จะเข้าสู่การคัดเลือก ส.ว. 250 คน ที่ คสช.เป็นผู้จิ้มเลือกในชั้นสุดท้าย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับไว้ว่าจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ดังนั้น นอกจากจะได้เห็นหน้าเห็นตา ส.ส. หลังเลือกตั้งแล้ว 3 วันต่อมายังได้เห็นโฉมหน้า 250 ส.ว.ยุคเปลี่ยนผ่านอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปฏิทินการเมือง 2561 ไม่ได้น่าจับตาแค่ “วันเลือกตั้ง”

เพราะเป็นปีที่ คสช.ปูทางลงจากอำนาจพิเศษ ผ่องถ่ายเข้าสู่โหมดการเมืองปกติ ยังมีไฮไลต์ที่น่าจับตามองคือการจัดทัพด้านต่าง ๆ ทั้งด้านกฎหมาย การปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติ และหน่วยกำลังรบ

บันไดหนีไฟการเมือง

ดังนั้น ใน 1 ปี นับจากนี้ไป อันดับแรกสิ่งที่จะเห็นชัดเจน-เป็นรูปธรรม คือสิ่งที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ให้รัฐบาลต้องทำให้เป็นรูปเป็นร่างใน 1 ปี

คือประเด็นปฏิรูปที่บรรจุอยู่ในหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 259 กำหนดว่าการปฏิรูป จะต้องทำไปตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศซึ่งอย่างน้อยต้องมีวิธีการ จัดทําแผน การมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนในการดําเนินการปฏิรูปประเทศ การวัดผลการดําเนินการ และระยะเวลาดําเนินการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ซึ่งต้องกําหนดให้เริ่มดําเนินการปฏิรูป ในแต่ละด้านภายใน 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้รวมตลอดทั้งผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังว่าจะบรรลุในระยะเวลา 5 ปี

ดังนั้น เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2560 จึงมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน

1.ด้านการเมือง 2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 3.ด้านกฎหมาย 4.ด้านกระบวนการยุติธรรม 5.ด้านเศรษฐกิจ 6.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7.ด้านสาธารณสุข 8.ด้านสื่อสารมวลชน 9.ด้านสังคม 10.ด้านพลังงาน 11.ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ขึ้นมาร่างแผนปฏิรูป

ขณะเดียวกัน การปฏิรูปต้องเดินตามแผนที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ” อันมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกฯ กุมบังเหียนอยู่

และเมื่อ 29 ก.ย. 2560 รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน คือ 1.ด้านความมั่นคง 2.ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และ 6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

แผนปฏิรูป-แผนยุทธศาสตร์ชาติ จะเชื่อมโยงกัน ซึ่งขั้นตอนการทำแผนจะต้องทำให้เสร็จภายใน มี.ค. 2561

พล.อ.ประยุทธ์ จึงสั่งการให้ คสช.แถลงความคืบหน้าภายใน 1- 2 เดือนนี้

จัดทัพทหาร-ตำรวจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่จะเป็นเครื่อง “ค้ำยัน” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ และพวกลงจากอำนาจได้ราบรื่นก็คือกองทัพ

ในปี 2561 ผู้บัญชาการทั้ง 3 เหล่าทัพ จะเกษียณอายุ พ้นจากความเป็นทหารกันถ้วนหน้า

ทั้ง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ

ตัวเต็งในที่จะขึ้นเป็น ผบ.ทบ.คุมกำลังฝ่ายทหารบกในอนาคตปรากฏชื่อ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ฝ่ายทหารเรือตัวเต็งที่มีการคาดหมายกันมี 2 ชื่อ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ รอง ผบ.ทร. น้องชาย พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี และ พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ เสนาธิการทหารเรือ เป็นแคนดิเดตกันทั้งคู่

ส่วนกองทัพอากาศ ปรากฏชื่อ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผู้ช่วย ผบ.ทอ. พล.อ.อ.วันชัย นุชเกษม เสนาธิการทหารอากาศ เข้าข่ายเป็นจ่าฝูงแม่ทัพฟ้า

ขณะที่ฝั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในปีนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.จะเกษียณอายุราชการ

แคนดิเดตที่มาแรง พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.ดูแลงานมั่นคงและกิจการพิเศษ นักเรียนนายร้อย (นรต.35) เกษียณอายุราชการปี 2562

และมีชื่อดาวรุ่งอย่าง “พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม” รอง ผบ.ตร.ดูแลงานบริหาร นักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.34) เกษียณอายุราชการปี 2562

ความสำคัญของการ “จัดทัพ” ทหาร บก-เรือ-อากาศ-สีกากี มิได้หาคนเพื่อลงไปอยู่ตำแหน่ง ทำภารกิจด้านความมั่นคงเท่านั้น หากยังต้องทำภารกิจด้าน “การเมือง” ควบคู่ไปด้วย

เพราะผู้บัญชาการเหล่าทัพ จะเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และสมาชิกวุฒิสภา โดยตำแหน่ง กลายเป็นไม้ค้ำยัน คสช.ครบเครื่องทั้งกำลังทหาร ตำรวจ และกำลังการเมือง

ปัจจัยเสี่ยง ขวางโรดแมป

แต่ทั้งนี้ ในปี 2561 นอกจากปัจจัยแทรกซ้อนเรื่องกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่หากถูกคว่ำกลางสภา จะทำให้โรดแมปขยับออกไป

ยังมีปัจจัยแทรกซ้อนอีกหนึ่งเรื่องคือ 7 เสือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อันมีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง แม้ว่าทั้ง 7 คนจะได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุม สนช.แล้ว

ตามการคาดการณ์จากคนใน กกต. 1 เมษายน 2561 น่าจะเป็นที่ กกต.ชุดใหม่ เริ่มปฏิบัติหน้าที่ (กรณี โปรดเกล้าฯลงมาภายใน 15 วัน) หรือ 15 เมษายน 2561 (กรณี โปรดเกล้าฯลงมาภายใน 30 วัน)

แต่หากระหว่างนั้นมีอุบัติเหตุ หากมีคนไม่ผ่านคุณสมบัติ หรือถอนตัว ก็จะต้องใช้เวลาสรรหา กกต.กันใหม่อีกหน การได้มาของ กกต.ก็จะขยับออกไป และจะมีส่วนเตรียมการจัดการเลือกตั้งไม่มากก็น้อย…

ยังไม่นับคดีการเมืองที่รุมเร้าผู้มีอำนาจ อาทิ กรณีแหวนเพชร นาฬิกาหรู ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการสอบสวนอยู่ในเวลานี้

รวมถึงการตามตัว “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ จากคำพิพากษาจำคุก 5 ปี กรณีจำนำข้าว ซึ่งมีภาพปรากฏตัวอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าดำเนินการจับกุมจากทางการไทย

ไม่ว่าอนาคต พล.อ.ประยุทธ์ จะหวนคืนเก้าอี้นายกฯ หลังเลือกตั้งหรือไม่

แต่ศักราชนี้ คสช.วางกลไก คุมกลเกมการเมืองเอาไว้อย่างได้เปรียบ


เมฆหมอกคลุมเครือที่บดบังโรดแมป จะยิ่งชัดเจนในศักราช 2561