เทรนด์การศึกษาโลก 2018 “AR” เครื่องมือพัฒนาทุกช่วงวัย-

ต้องยอมรับว่าไม่ว่าจะผ่านมากี่ปีนักการศึกษา และนักลงทุนด้านการศึกษา มักจะคาดการณ์ถึงสิ่งที่ควรต้องทำในอนาคตอันใกล้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการสอนผู้เรียนให้ดีที่สุด และเพื่อวางแผนว่าต้องจ่ายอะไรบ้าง เพื่อพัฒนาสถานศึกษา เช่น เทคโนโลยี หรือซอฟต์แวร์ในการจัดการงานต่าง ๆ เพราะอย่างที่ทราบ โลกของการศึกษาก็มีความเปลี่ยนแปลงอยู่พอสมควร

ทั้งยังมีการแข่งขันค่อนข้างสูง

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “ประชาชาติธุกิจ” พยายามค้นหาคำตอบ เพื่อสรุปภาพรวมแนวโน้มการศึกษาของโลกในปี 2018ที่จะเกิดขึ้น

ใช้ AR พัฒนาทุกช่วงวัย

ถึงแม้ว่า Augmented Reality (AR) กลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายจากเกมโปเกม่อน โก และแอปพลิเคชั่นไอเกีย เพลส แต่ถึงตอนนี้มีการนำ AR มาเพิ่มศักยภาพในการเป็นสื่อการเรียนการสอนมากขึ้นเรื่อย ๆ

โดยจากการวิเคราะห์ของ New Jersey Institute of Technology ระบุว่า AR มี 4 ข้อที่สร้างความได้เปรียบในการศึกษา คือ หนึ่ง สร้างปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียน สอง ช่วยให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียน สาม สร้างการมีส่วนร่วมและ สี่ สร้างแรงบันดาลใจ จนทำให้ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นทางการศึกษาที่ใช้ AR เป็นแพลตฟอร์มมากมายหลายตัว เช่น Augmented Class ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่ให้ผู้ใช้สามารถสร้างโปรเจ็กต์การเรียนรู้บนแพลตฟอร์ม AR ในแบบของตัวเองอย่างง่าย ๆ

โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้การเขียนโปรแกรม, Augment for Education ระบบซอฟต์แวร์การสร้างแบบจำลอง 3 มิติสำหรับผู้เรียน และผู้สอน ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับอุดมศึกษา, Chromville เป็นแอปพลิเคชั่นเพื่อสอนเรื่องวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และทัศนศิลป์ ในระดับประถมศึกษา

แม้ตอนนี้ AR มักถูกใช้ในการศึกษาระดับเตรียมอุดมศึกษาและอุดมศึกษา แต่ถึงอย่างนั้น “ลิซ่า ดันนิแกน” คณะกรรมการบริหาร Douglas County School District กล่าวว่า AR เป็นเครื่องมือสุดยอดที่จะช่วยในการเรียนการสอนเด็ก ELL (English Language Learner) ในการเรียนภาษาก่อนวัยเข้าเรียน หรือแม้กระทั่งใช้สอนเด็กพิเศษ เพราะ AR ช่วยเรื่องพัฒนาการการรับรู้อารมณ์ และจินตนาการ

จ่ายค่าเรียน-โฟกัสตลาดงาน

จากการศึกษาของคณะกรรมการการศึกษาระดับอุดมศึกษา (College Board) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า แนวโน้มการเติบโตของค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของโลกยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งยังคาดการณ์ว่าในปี 2018 ค่าเล่าเรียนจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2.9% ไม่เพียงแต่ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ค่าห้องพักจะสูงขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของค่าเล่าเรียนยังก่อให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ของผู้เรียนด้วย ได้แก่ ความล่าช้าในการแต่งงาน, ความยากลำบากในการซื้ออสังหาริมทรัพย์, อุปสรรคในการเข้าเรียนสำหรับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ, ความล่าช้าในการมีบุตร และอัตราการสำเร็จการศึกษาลดลง เป็นต้น

การตอบสนองต่อค่าเล่าเรียนระดับอุดมศึกษาที่สูงขึ้น และความต้องการคนทำงานในอุตสาหกรรมเฉพาะด้านทำให้การเรียนแบบเฉพาะด้าน (niche learning) และการเรียนระดับประกาศนียบัตรมีสัดส่วนผู้เรียนสูงขึ้นในตลาดการศึกษา

เพราะ niche learning ทำให้เกิด microcredentialism หรือความรวดเร็วเพื่อให้ได้มาซึ่งทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงาน และยังจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ว่าจ้างมากกว่า

สตาร์ตอัพเจาะตลาด EdTech

เมื่อเทรนด์การศึกษาเคลื่อนย้ายจากแบบดั้งเดิมสู่แพลตฟอร์มเทคโนโลยี ส่งผลให้บริษัทที่เคยทำอุปกรณ์การเรียนการสอนแบบขายผลิตภัณฑ์ทางกายภาพ ต้องปรับตัวไปสู่การขายบริการทางการศึกษา หรือแม้กระทั่งการศึกษากลายเป็นช่องทางในการสร้างธุรกิจให้กับกลุ่มสตาร์ตอัพมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น Peergrade ที่พัฒนาการวัดประเมินผลรูปแบบใหม่ โดยเปลี่ยนจากครูผู้สอนเป็นผู้ให้เกรดมาเป็นหน้าที่ของนักเรียนด้วยกัน เพื่อช่วยเรื่องความเป็นธรรมในการประเมินผลการเรียน และยังช่วยครูให้สามารถจัดการกับจำนวนนักเรียนมาก ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

โรงเรียนหลายแห่งมีการจำกัดงบประมาณในการจ้างครู ทำให้ครูต้องสอนชั้นเรียนที่มีขนาดใหญ่ ดังนั้น Peergrade จะช่วยลดจำนวนงานเอกสารให้ครู โดยรูปแบบการทำงานคือครูจะเป็นผู้ให้การบ้านแบบออนไลน์ พร้อมเกณฑ์ในการให้คะแนน เมื่อนักเรียนส่งการบ้าน ระบบจะส่งผ่านต่อไปยังนักเรียนอีกคนเพื่อรับฟีดแบ็ก จนเมื่อมีการให้ฟีดแบ็กครบทั้งหมดแล้ว ผู้สอนจะทำหน้าที่ตรวจภาพรวมทั้งหมดอีกครั้ง

นอกจาก Peergrade ยังมีสตาร์ตอัพที่สร้างธุรกิจ EdTech ที่มีชื่อเสียงอีกหลายราย เช่น ClassTag เป็นธุรกิจสตาร์ตอัพทางการศึกษาที่แตกต่างจากหลาย ๆ บริษัท โดยโฟกัสไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและครู แทนการประชุมผู้ปกครองแบบเดิม ๆ ที่ผู้ปกครองต้องเดินทางมาที่โรงเรียน มาเป็นการใช้แอปพลิเคชั่น ClassTag แทน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างการศึกษาที่ดีให้แก่นักเรียน

ขณะที่ Studypool จะช่วยในการติวเตอร์เฉพาะทาง โดยการขจัดอุปสรรคในการสอนพิเศษ ด้วยการให้นักเรียนกำหนดการเรียนรู้วิชาตามช่วงเวลาที่เหมาะกับความต้องการของตนเอง และสามารถเรียนได้ตั้งแต่ 10 นาที หรือหลายชั่วโมงขึ้นอยู่กับนักเรียน

“ริชาร์ด เวิร์บ” ซีอีโอ Studypool กล่าวว่า เราเปรียบเป็นเพื่อนของผู้เรียน ที่ไม่ว่าจะแก้โจทย์ข้อไหนไม่ได้สามารถใช้บริการของเราได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นรูปแบบที่เราเรียกว่า microtutoring เป็นครูสอนพิเศษมืออาชีพในแบบเทคโนโลยีออนไลน์ ถึงวันนี้ Studypool สามารถระดมเงินทุนสนับสนุนกว่า 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อทำงานช่วยนักเรียนนักศึกษามาแล้วกว่าหนึ่งล้านคน ทั้งยังมีติวเตอร์มาร่วมทำงานด้วยกว่า 40,000 คน

เรียนรู้ทางสังคม+อารมณ์

ทุกวันนี้โลกของเรามีเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเรื่องนี้ส่งผลข้างเคียงต่อภาวะอารมณ์ของคนเราโดยไม่รู้ตัว เช่น ความอดทนน้อยลง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปกครอง และสถาบันการศึกษาจะเน้นเรื่อง Social and Emotional Learning Skills (SEL) หรือทักษะที่เกี่ยวข้องกับการร่วมมือ การสื่อสาร และการแก้ปัญหา จนกลายมาเป็นทักษะสำคัญที่จะถูกพูดถึงมากกว่าที่เคยเป็น

โดยในห้องเรียนสามารถพัฒนาทักษะ SEL ได้ โดยสร้างการเรียนแบบกลุ่ม การอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็น เพื่อนสอนเพื่อน การสะท้อนความคิดในกลุ่ม หรือการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เป็นต้น โดยนอกห้องเรียนผู้ปกครองสามารถส่งเสริมให้เด็ก ๆ พัฒนาทักษะ SEL ผ่านการทำกิจกรรมด้านกีฬา และดนตรี

“ฮีธ มอริสัน” ประธานกลุ่มโรงเรียนของ McGraw-Hill Education กล่าวว่า นอกจาก SEL ยังมีอีก 2 ประเด็นที่จะเป็นแนวโน้มด้านการศึกษา คือ การลงทุนในการสร้างการศึกษามากขึ้น และ การใช้ adaptive learning มากขึ้น

“adaptive learning เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมากขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีหลายตัวมาช่วยครูผู้สอน แต่ผู้สอนเองต้องรู้จักสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบผสมผสานที่หลากหลายด้วย (blended learning)”


การจะพัฒนาการศึกษาให้ประสบความสำเร็จในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับแนวโน้มอนาคตทางด้านการศึกษา เพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรค และได้ประโยชน์สูงสุด