ตลาดเบียร์’61 คึกคัก “คราฟต์-ซูเปอร์พรีเมี่ยม” แรงส์ !-

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ตลาดเบียร์เริ่มกลับมาคึกคักและมีสีสันอีกครั้ง

หลังจากสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ขณะที่ค่ายเบียร์ ทั้งสิงห์ ช้าง ค่ายเบียร์อิมพอร์ต รวมถึงคราฟต์เบียร์ ต่างก็เพิ่มน้ำหนักการทำตลาด ทั้งการเปิดลานเบียร์ การส่งเบียร์ตัวใหม่

เพื่อปลุกมู้ดและสร้างบรรยากาศ เพื่อต้อนรับเทศกาลเฉลิมฉลอง และส่งต่อโมเมนตัมมายังปีนี้

ที่สำคัญ คนในวงการเบียร์ ต่างมั่นใจว่า ตลาดปีนี้จะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา นอกจากเรื่องเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแล้วปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวช่วยสนับสนุน อีกอย่างก็คือ เทรนด์การดื่มที่พัฒนาไปตามไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มกลาง-บน ที่มีกำลังซื้อ ไม่ได้ยึดติดอยู่กับเบียร์เดิม ๆ ที่มีอยู่ในตลาด แต่ยังให้ความสนใจกับเบียร์ในกลุ่มพรีเมี่ยมและซูเปอร์พรีเมี่ยม หรือพวกอิมพอร์ตและคราฟต์เบียร์มากขึ้น

ทำให้เบียร์กลุ่มนี้จะเป็นเซ็กเมนต์มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะมีแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาทำตลาดเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

“ธิตินันท์ ชุ่มภาณี” ผู้จัดการฝ่ายการตลาดเบียร์สิงห์ บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด คาดการณ์ทิศทางตลาดเบียร์ปีนี้ว่า ปัจจุบันแม้เบียร์เมนสตรีมหรือแมส เช่น ลีโอ ช้าง ยูเบียร์ ฯลฯ จะมีสัดส่วนกว่า 80% ของตลาดมูลค่ากว่า 1.8 แสนล้านบาท และเบียร์พรีเมี่ยม เช่น สิงห์ ไฮเนเก้น อีกเกือบ 20%

แต่กลุ่มซูเปอร์พรีเมี่ยม ที่มีราคาต่อขวดหรือกระป๋อง 100 บาทขึ้นไป เช่น คราฟต์เบียร์ หรืออิมพอร์ตเบียร์ ที่มีสัดส่วนไม่ถึง 1% จะเป็นกลุ่มที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่มีความต้องการที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ชอบทดลอง ชอบรสชาติที่แปลกใหม่ สอดคล้องกับเทรนด์ของตลาดเบียร์ทั่วโลก ที่จะเห็นได้ว่าผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ ๆ นั้นต้องมีพอร์ตโฟลิโอของคราฟต์เบียร์เข้ามาเสริม

ส่วนของบุญรอดฯเองก็มีการปรับตัว เพื่อเข้าถึงพื้นที่ใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ครบ ซึ่งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้ลอนช์เบียร์ “สโนวี่ ไวเซ่น บาย เอส สาม สาม” เบียร์ประเภทไวเซ่นเบียร์ หรือเบียร์ที่ทำมาจากมอลต์จากข้าวสาลี เข้าสู่ตลาด และถือเป็นครั้งแรกในรอบ 80 ปีของบุญรอดฯ ที่ผลิตเบียร์ประเภทอื่นนอกจากลาเกอร์

พร้อมกันนี้ “ธิตินันท์” ยังระบุด้วยว่า จากนี้ไปตลาดเบียร์จะมีการแบ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่ยิบย่อยมากขึ้น เช่น ตลาดฟรุตเบียร์ ตลาดเบียร์ 0% ดาร์กเบียร์ ฯลฯ ซึ่งบุญรอดฯเองก็มีความสนใจในเซ็กเมนต์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน

“ปี 2561 จะเห็นไลน์อัพใหม่ชัดเจนขึ้น เพราะเราเชื่อว่าการมีแบรนด์เดียวคงไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ได้เลือกดื่มแค่แบรนด์เดียวอีกต่อไป”

ด้าน “ภัททาณี เอกะหิตานนท์” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์ไฮเนเก้นและสตรองโบว์ ในกลุ่มบริษัททีเอพี ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ไฮเนเก้น ไทเกอร์ เชียร์ ฯลฯ ก็ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า ภาพรวมของตลาดแอลกอฮอล์พรีเมี่ยมมีการเติบโตขึ้นมาก โดยเซ็กเมนต์ของอิมพอร์ตเบียร์ มีมูลค่าประมาณ 426 ล้านบาท เติบโตถึง 36% รวมถึงเซ็กเมนต์ของไซเดอร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำจากน้ำแอปเปิลหมัก ที่มีมูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท มีการเติบโตถึง 120%

เป็นโอกาสให้ไฮเนเก้นนำแบรนด์สตรองโบว์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทไซเดอร์ เข้ามาเปิดตัวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เสริมพอร์ตโฟลิโอในเซ็กเมนต์พรีเมี่ยม ที่ปัจจุบันมีเบียร์ไฮเนเก้น เบียร์กินเนสส์ เบียร์คิลเคนนี่ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อแข่งขันกับตลาดเบียร์นำเข้า คราฟต์เบียร์

ด้านความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์ไทย หลังจากปีที่แล้วมีการรวมกลุ่มกันเพื่อนำโปรดักต์เข้าซูเปอร์มาเก็ตพรีเมี่ยม ร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ทแล้ว แต่ก็ยังจำกัดอยู่เฉพาะสาขาที่เป็นคอนเซ็ปต์ใหม่เพียงไม่กี่สาขา ล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา “บ้านนอกเบียร์” เป็นคราฟต์เบียร์ไทยแบรนด์แรกที่ขยายผ่านช่องทางร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งคาดว่าจะครอบคลุมสาขากว่าครึ่งของเซเว่นฯที่มีอยู่เกือบ 10,000 สาขา

“ปณิธาน ตงศิริ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บ้านนอกเข้ากรุง จำกัด ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ไทยสโตนเฮด ลำซิ่ง และบ้านนอก ชี้ว่า ที่ผ่านมาคราฟต์เบียร์มีราคาแพงเพราะผลิตในจำนวนน้อย จากจุดขายที่ไม่ได้แมสมาก เช่น ตามร้านอาหาร ร้านเบียร์โดยเฉพาะ รวมถึงต้นทุนขนส่ง เนื่องจากต้องผลิตจากต่างประเทศและนำเข้ามา จึงมีแนวคิดทำบ้านนอกเบียร์ ให้เป็นคราฟต์เบียร์ที่มีราคาถูกลง กระป๋องละ 99 บาท จากปกติที่จะมีราคาค่อนข้างสูงเริ่มตั้งแต่ 150 บาทขึ้นไป เพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยใช้วอลุ่มในการผลิตจำนวนมาก และต้องมีช่องทางที่แมสพอในการจัดจำหน่าย จึงตัดสินใจนำสินค้าไปจำหน่ายในเซเว่นฯเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

หากตลาดมีการตอบรับที่ดี ก็จะนำเบียร์อีก 2 แบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอ อาทิ สโตนเฮด และลำซิ่ง รวมถึงรสชาติใหม่ ๆ ของบ้านนอกเข้าไปจำหน่ายเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระแสของคราฟต์เบียร์ไทยยังแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งแบรนด์ใหม่ ๆ ที่เดินหน้าเข้าตลาด ตลอดจนการจัดตั้ง “มิตรสัมพันธ์” โรงเบียร์ขนาดเล็ก (brew pub) ผลิตขั้นต่ำ 1 แสนลิตรต่อปี แต่ต้องบริโภค ณ สถานที่ผลิต ไม่สามารถบรรจุขวดได้

โดย “วิชิต ซ้ายเกล้า” ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์แบรนด์ชิตเบียร์ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์รายย่อยได้ใช้ผลิตสินค้าและจำหน่ายเพื่อทดลองตลาด ก่อนที่จะไปจ้างผลิตในต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้วอลุ่มจำนวนมาก

แม้ว่ากระแสของเบียร์ซูเปอร์พรีเมี่ยมจะมาแรง แต่อย่าลืมว่าปีนี้เหล้า เบียร์ และยาสูบ อาจจะต้องมีการปรับราคาขึ้นอีกรอบหนึ่ง เนื่องจากจะต้องนำเงิน 2% เพื่อนำไปสมทบเข้ากองทุนผู้สูงอายุ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุฉบับใหม่ ที่รัฐบาลเตรียมประกาศบังคับใช้ภายในปีนี้ ซึ่งปัจจุบันได้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาวาระ 3 จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว

เมื่อถึงเวลานั้นตลาดเบียร์จะเป็นอย่างไรคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด