ขึ้นค่าแรงลูกจ้างนายจ้างต้องอยู่ได้-

บทบรรณาธิการ

แม้การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดไตรภาคี จะมีขึ้น 10 ม.ค. 2561 นี้ แต่ที่ รมว.แรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว กับปลัดกระทรวงแรงงาน นายจรินทร์ จักกะพาก ระบุว่า ถึงเวลาต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ผู้ใช้แรงงานคาดหวังว่าจะมีรายได้เพิ่ม ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง

แค่รอให้บอร์ดไตรภาคีชี้ขาดว่า แต่ละจังหวัดจะปรับขึ้นค่าจ้างมากน้อยแค่ไหน จะปรับขึ้นแต่ละจังหวัดเท่า ๆ กัน หรือแตกต่างกันไปตามปัจจัยเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่ อาทิ ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ การเติบโตของเศรษฐกิจภายในจังหวัด ความสามารถและกำไร ของสถานประกอบการ หรือนายจ้าง ฯลฯ

ข้อมูลที่คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร และคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด สำรวจและรวบรวมเสนอบอร์ดชุดใหญ่ กับดุลยพินิจของบอร์ดไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนลูกจ้างและนายจ้าง จึงเป็นปัจจัยหลักที่จะชี้ขาดว่าควรปรับค่าแรงขั้นต่ำแต่ละพื้นที่มากน้อยเพียงใด

โจทย์ใหญ่คือพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจสังคมแล้ว มีกี่จังหวัดจำเป็นต้องปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง จังหวัดใดควรปรับขึ้นปานกลาง และพื้นที่ใดคงอัตราค่าจ้างไว้ในอัตราเดิมจะเหมาะสมกว่า

เพราะต้องยอมรับว่าค่าจ้างขั้นต่ำมีผลกระทบทั้งด้านลบและบวก ต่อตัวลูกจ้าง นายจ้าง รวมทั้งเศรษฐกิจในจังหวัด และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ บอร์ดไตรภาคีจึงต้องใช้ดุลยพินิจตัดสินใจโดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาให้รอบด้าน

กระแสข่าวที่มีก่อนหน้านี้ว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่ 2-15 บาท/วัน แม้กระทรวงแรงงานโต้ว่าเป็นเพียงแค่ข่าวลือ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อให้เกิดความสับสนและสร้างความกังวลให้กับนายจ้าง โดยเฉพาะรายกลางและรายย่อยหรือเอสเอ็มอี บอร์ดไตรภาคีจึงต้องเร่งพิจารณาก่อนจะกลายเป็นปัญหา

ที่ต้องระมัดระวังคือ ค่าแรงขั้นต่ำจะปรับขึ้นมากเพียงใด ก็คงไม่มีผลทำให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ ถ้าหากภาระรายจ่ายเกี่ยวกับปากท้องค่าครองชีพยังพุ่งแซงหน้ารายรับ

โจทย์ใหญ่คือท่ามกลางเศรษฐกิจปัจจุบันทำอย่างไรให้ลูกจ้างดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ลำบากมากนัก ขณะที่นายจ้างก็ได้รับผลตอบแทนจากการทำธุรกิจในระดับที่เหมาะสมเป็นธรรมและอยู่รอดได้


ทั้งหมดนี้นอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องควบคุมดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้ฉวยโอกาสขึ้นราคาแล้ว ผู้ประกอบการก็ต้องมีคุณธรรมและไม่เอารัดเอาเปรียบ มิฉะนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็คงไร้ความหมาย