2 ทางแก้ปม “หมูสหรัฐ” เกษตรตรวจรับรองฟาร์ม-ติดฉลาก-

ประเด็นการเจรจาเปิดตลาดนำเข้าหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐอเมริกา ถือเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่ค้างคามาจากปี 2560 หลังจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ นำบรรดาผู้เลี้ยงสุกรบุกล็อบบี้หารือกับผู้บริหารกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมาหลายรอบ เพื่อไม่ให้รัฐบาลไทยไฟเขียวนำเข้าสุกร หรือหมูที่ปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง “แรกโตพามีน (Ractopamine)” แต่ดูเหมือนผู้เลี้ยงหมูจะทำได้แค่ประวิงเวลาเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เคยเสนอเปิดให้นำเข้า แต่ต้อง “ติดฉลาก” (label) ว่า ใช้หรือไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดงหรือไม่

ไทยมุ่งกำจัดสารเร่งเนื้อแดง

แต่ล่าสุด “น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้มุมมองใหม่ว่าควรให้สหรัฐนำเข้าเฉพาะ “หมูที่ไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง” โดยเสนอให้ไทยและสหรัฐหาทางออกร่วมกันในประเด็นนี้ว่า

“ในช่วงที่มีประเด็นการเจรจาเรื่องหมู เป็นช่วงที่อยู่กระทรวงเกษตรฯพอดี ซึ่งไม่เคยมีปัญหาเรื่องการเจรจาในประเด็นนี้ เพราะนโยบายของประเทศไทยชัดเจนมาก คือ “มุ่งกำจัดสารเร่งเนื้อแดง” ไม่ว่าจะมีการเจรจาหรือไม่ก็ตาม”

นายกฯตู่ ให้รอบคอบ

ทางกระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินมาตรการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง เพราะค้นพบแล้วว่ามีสิทธิ์ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้จริง จึงต้องกำหนดให้มีจำนวนที่เหมาะสม ฉะนั้นต้องแก้ไขที่ต้นตอของปัญหา แต่ถึงแม้ว่าจะมีการดำเนินการอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามยังมีผู้ใช้สารเร่งเนื้อแดงอยู่ จึงมีการไล่จับกันตลอดเวลา

ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้นโยบายว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเทคนิค มีความเกี่ยวข้องกับสารเคมีต่าง ๆ ต้องค่อย ๆ หารือ และมีข้อมูลผลการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการรองรับ ในปีที่ผ่านมามีการตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นมา ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ดำเนินการอยู่ ผ่านคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board)

ส่วนการหารือระหว่างไทย-สหรัฐ ก่อนหน้านี้ สหรัฐทำหนังสือถึงกรมปศุสัตว์เพื่อขอทราบแนวทางว่า ไทยจะมีการตรวจสอบอย่างไร และสามารถจะเดินทางไปตรวจสอบได้หรือไม่ในอีก 6 เดือนข้างหน้า (เดือนตุลาคม 2560) แต่ทางกระทรวงเกษตรฯได้เลื่อนการนัดไป 1 ครั้ง และค้างอยู่จนถึงวันนี้ หากมีเวทีหารือระหว่างไทย-สหรัฐ คงจะหยิบยกเรื่องนี้มาหารือแน่นอน เพราะยืดเยื้อมายาวนาน

2 ทางแก้ปมสารเร่งเนื้อแดง

หากมีการเจรจาอีกครั้ง ไทยจะอธิบายด้วยเหตุและผล หากสหรัฐต้องการให้ไทยนำเข้า และยืนยันว่าหมูของสหรัฐมีสารเร่งเนื้อแดงจริง แต่ไม่สูงกว่ามาตรฐานที่ CODEX กำหนด จะต้องวางแนวทางดำเนินการนำเข้าร่วมกัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับผู้บริโภค

แนวทางแรก เห็นด้วยว่าควรให้มีการติดฉลาก (label) บนบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลและสามารถตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้ ในช่องทางการค้าปลีกปกติ

“ติดฉลาก” คุมไม่ทั่วถึง

แต่คำถามคือ ถ้าเป็นการนำเข้าในปริมาณมาก ๆ เพื่อมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร หรือภัตตาคาร แนวทางแรกสามารถทำได้ครอบคลุมหรือไม่ หรือหากกระทรวงเกษตรฯเข้าไปตรวจสอบในกระบวนการผลิตอาหาร แม้แต่ในครัวของทุกร้านสามารถทำได้หรือไม่ ในทางปฏิบัติอาจทำไม่ได้

แนวทางที่สอง ให้นำเข้าเฉพาะ “หมูที่ไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง” โดยไทยจะวางระบบตรวจสอบทุกฟาร์มที่ต้องการส่งออกมายังประเทศไทย และให้การรับรองฟาร์ม กำหนดลิสต์ออกมา ก่อนจะเปิดให้มีการนำเข้าว่า ไม่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงจริง ไม่ใช่อนุญาตทุกฟาร์ม เช่นเดียวกับที่สหภาพยุโรป และจีน ใช้ในการตรวจสอบโรงงานส่งออกไก่ และฟาร์มเลี้ยงไก่ของไทย

ประเด็นนี้เชื่อมโยงกับ “ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค” หากไทยไม่สามารถตรวจสอบหรือกำกับดูแลได้ ปรากฏว่ามีเนื้อหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงหลุดออกไปจำหน่ายในท้องตลาด อาจทำให้ผู้บริโภคฟ้องหน่วยงานได้

“เรื่องนี้ต้องหารือกับสหรัฐด้วยเหตุและผล ที่สำคัญคือให้สังคมยอมรับ เพราะถ้าสหรัฐดันทุรัง ไม่ดีกับภาพลักษณ์ของสินค้าสหรัฐเอง อาจนำไปสู่กระแสความไม่ชอบสินค้าสหรัฐ แล้วจะฝืนกระแสทำไม หากวางมาตรการร่วมแล้วให้ผู้บริโภคเป็นผู้ตัดสิน เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด” น.ส.ชุติมากล่าวทิ้งท้าย

มั่นใจสหรัฐยอมรับกติกาโลก

อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐไม่ยอมรับฟังเหตุผล มีการใช้ประเด็นอื่น ๆ มาพาดพิง เช่น กำหนดมาตรการทางการค้ากับสินค้าอื่น ๆ ของไทย นางสาวชุติมามองว่า เชื่อว่าสหรัฐจะไม่ทำอย่างนั้น และทุกประเทศในโลกเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) มีการกำหนดกติการ่วมกัน เพื่อให้ความยุติธรรมกับสมาชิก

ผู้เลี้ยงหมูไทยผีซ้ำด้ำพลอย

ทางด้านนายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในความเป็นจริง ไทยไม่นำเข้าหมูจากสหรัฐอเมริกาก็ย่ำแย่อยู่แล้ว ถ้ากระทรวงพาณิชย์จะเปิดให้นำเข้าหมูจากสหรัฐ โดยบินไปรับรองฟาร์มที่ไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง ถือว่าเป็นการซ้ำเติม และเป็นการแก้ไขปัญหาแบบ “แก้ผ้าเอาหน้ารอด”

ดังนั้น ผู้เลี้ยงหมูจะไปชุมนุมประท้วงที่หน้ากระทรวงพาณิชย์ หากจะนำเข้าหมูจากสหรัฐ รวมทั้งประท้วงที่กระทรวงพาณิชย์ไม่ยอมแก้ราคาหมูตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ที่ผ่านมาผู้เลี้ยงหมูประท้วงไม่ให้นำเข้าหมูจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐ เพราะหมูภายในประเทศล้นตลาด จึงหยิบเอาการใช้สารเร่งเนื้อแดงของผู้เลี้ยงหมูสหรัฐมาคัดค้านการนำเข้า

ปัจจุบันราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มเหลือ กก.ละ 38 บาท ต้นทุนการเลี้ยง กก.ละ 55-60 บาท จึงขาดทุนตัวละ 1,700-2,200 บาท ขณะที่เขียงหมูควรขายหมูเนื้อแดงที่ กก.ละ 80-90 บาท แต่ยังขายกันสูงถึง กก.ละ 110-120 บาท มีกำไรจากการขายหมูชำแหละถึงตัวละ 3,000-4,000 บาท

แนะพาณิชย์จัดการ “เขียง”

ฉะนั้น กระทรวงพาณิชย์ควรไปจัดการกับ “เขียงหมู” ที่ขายเอากำไรเกินควร เพื่อให้ราคาเนื้อหมูลดลง จะได้บริโภคเนื้อหมูกันมากขึ้น การที่กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และผู้เลี้ยงจัด “โครงการประชารัฐเฉพาะกิจ” ขายเนื้อหมูชำแหละ กก.ละ 60 บาท โดยกระทรวงพาณิชย์ชดเชยต้นทุนที่ กก.ละ 75 บาท บวกค่าขนส่งอีก กก.ละ 3 บาท รวมเป็น กก.ละ 18 บาทให้ผู้เลี้ยง แต่โครงการนี้ถือว่ายังช่วยผู้เลี้ยงหมูไม่ทั่วถึง

ต้นเหตุราคาหมูเป็นในไทยตกต่ำตั้งแต่ต้นปี 2560 จากที่เคยสูงสุด กก.ละ 65-70 บาท ลงมาเหลือ กก.ละ 38 บาท มาจากการขยายแม่พันธุ์ในฟาร์มทั่วประเทศสูงถึง 1.2-1.3 ล้านแม่ คิดเป็นหมูขุนมากกว่า 20 ล้านตัว ซึ่งมากเกินไป มากกว่ากรมปศุสัตว์ที่รายงาน 1.069 ล้านแม่พันธุ์ สถานการณ์ขณะนี้ควรมีไม่เกิน 1 ล้านแม่ คิดเป็นหมูขุนประมาณ 17-18 ล้านตัว ถือว่ากำลังพอดี

ผู้เลี้ยงกระอัก จีนปิดประตูนำเข้า

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนดี ทำให้มีการบริโภคเนื้อหมูค่อนข้างสูง ต่อมาจีนออกกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ฟาร์มเลี้ยงหมูปรับตัวไม่ทัน ปิดกิจการลง ทำให้มีการนำเข้าหมูที่ไม่ค่อยถูกต้องจากเวียดนาม และไทยค่อนข้างสูง เวียดนามมีการขยายแม่พันธุ์หมูจาก 2-3 ล้านแม่ เป็น 4 ล้านแม่ ส่งหมูเป็นเข้าตลาดจีนภาคเหนือ

ส่วนไทยส่งออกหมูเป็นในปี 2559ถึง 1.6 ล้านตัว ส่วนใหญ่ส่งเข้าจีนภาคใต้ เนื่องจากราคาหมูเป็นในจีนสูงถึง กก.ละ 100 บาท แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ฟาร์มหมูในจีนเริ่มปรับตัวได้ ขยายการเลี้ยงหมูอีกครั้งหนึ่ง และรัฐบาลจีนสั่งลดการนำเข้าอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ผู้เลี้ยงหมูเป็นในจีนอยู่ได้ที่ กก.ละ 70 บาท ทำให้ราคาหมูเป็นในเวียดนามตกต่ำหนักเหลือ กก.ละ 30 บาทเศษ และปัจจุบันราคาหมูเป็นเวียดนามใกล้เคียงกับไทยอยู่ที่ประมาณ กก.ละ 40 บาท และในส่วนของไทยคาดการณ์กันว่า ปี 2560 จะส่งออกไม่เกิน 3 แสนตัว ลดลงไปมากเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหมูล้นตลาด ราคาตกต่ำ ที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าและต้องเร่งแก้ไข มีกระแสข่าวล่าสุดว่า ตัวแทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติที่มาจากทุกภาคทั่วประเทศจะเข้าหารือกับนายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ดูแลคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) ในวันที่ 10 ม.ค. 2561 เพื่อร่วมหาทางแก้ไขแม่พันธุ์หมูมีมากเกิน รวมทั้งการลดปริมาณหมูขุนลงอย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร ซึ่งการประชุมครั้งนี้น่าจะส่งผลต่อราคาหมูว่าจะขึ้น หรือดำดิ่งต่อไปอีก