EIC มองท่องเที่ยวส่งสัญญาณดีขึ้น หนุนธุรกิจโรงแรม-การบิน

Booking ticket online on mobile application. Travel concept. 3d rendering

EIC คาดภาคท่องเที่ยวส่งสัญญาณดีขึ้น สนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรม-ธุรกิจการบิน

วันที่ 6 สิงหาคม 2565 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมภาคการท่องเที่ยวในปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวชาวไทย

โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเร่งตัวจากอุปสงค์คงค้างของการท่องเที่ยว (Pent-up demand) โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังไทยมีโอกาสเพิ่มสูงกว่าที่คาดไว้จาก 7.4 ล้านคน เป็นอาจแตะ 10 ล้านคน

ซึ่งหลังไทยประกาศเปิดประเทศเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวที่ดีจากสถานการณ์โควิดโลกที่เริ่มดีขึ้นจากอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้น จึงทำให้หลายประเทศรวมทั้งไทยทยอยผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และอาเซียนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี

ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยมีแนวโน้มเดินทางท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศมากขึ้นต่อเนื่อง โดยหลังผ่อนคลายมาตรการในช่วงกันยายน 2564 นักท่องเที่ยวไทยเริ่มเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดส่วนหนึ่งมาจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนกระตุ้นทำให้เกิดความมั่นใจในการท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ยิ่งไปกว่านั้น หลังการเปิดประเทศของไทยและการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศทั่วโลก ได้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไทยเริ่มออกไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในอาเซียนและเอเชีย

อย่างไรก็ดี ภาวะเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางในปัจจุบันอาจส่งผลกระทบต่อการเดินทางและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจากค่าใช้จ่ายในด้านการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะค่าน้ำมันและกำลังซื้อที่ลดลง
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมในปี 2565 มีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวได้มากขึ้น แต่ยังต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก

จำนวนผู้เข้าพักและอัตราการเข้าพักมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น

จาก 1.นักท่องเที่ยวไทยที่มีความมั่นใจในการเดินทางมากขึ้น แต่กำลังซื้อที่ลดลงกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวไทยเลือกเดินทางไปยังจังหวัดใกล้เคียงหรือจังหวัดเมืองรองเพื่อลดค่าใช้จ่าย

และ 2.นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเร่งตัวจาก Pent-up demand ของการท่องเที่ยว แต่ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวให้กลับไปเท่าช่วงก่อนโควิด เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักอย่างจีน ยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันใกล้

ในขณะที่ราคาที่พักเฉลี่ยมีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่ยังใช้กลยุทธ์ด้านราคาในการแข่งขันโดยการจัดโปรโมชั่นและการกำหนดราคาที่สอดคล้องกับกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

ธุรกิจโรงแรมที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลักมีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็ว แต่ยังต้องเผชิญความท้าทาย จาก 1.ต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นและปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคบริการ

2.นักท่องเที่ยวไทยที่มีกำลังซื้อบางส่วนเริ่มเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น

3.การแข่งขันที่สูงขึ้นในธุรกิจโรงแรมจากการลดราคาห้องพักของโรงแรมในระดับ 4-5 ดาว รวมถึงการแข่งขันจากโรงแรมที่เคยปิดบริการชั่วคราวที่เริ่มกลับมาให้บริการมากขึ้น

ธุรกิจสายการบินสัญชาติไทยในปี 2565 มีแนวโน้มเริ่มทยอยฟื้นตัว จากที่หดตัวรุนแรงในปี 2563-2564 จากวิกฤต COVID-19 และมีมูลค่าราว 1.2-1.3 แสนล้านบาท (คิดเป็น 40% ของรายได้ปี 2562)

โดยรายได้ขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางระหว่างประเทศที่เร่งตัวขึ้นและมีมูลค่าราว 5-6 หมื่นล้านบาท จาก Pent-up demand ของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้มีการเปิดเส้นทางบินใหม่และเพิ่มความถี่เที่ยวบินอย่างต่อเนื่องในหลายเส้นทางโดยเฉพาะในฝั่งอาเซียนและเอเชีย อีกทั้งสลอตตารางบินในหลายสนามบินของไทยในช่วงฤดูหนาวปี 2565 ได้ถูกจองล่วงหน้าจนค่อนข้างเต็มแล้ว

นอกจากนี้ จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคของ EIC ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้า นักท่องเที่ยวไทย 65% วางแผนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศอย่างน้อย 1 ครั้ง

ซึ่งรายได้ขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางในประเทศและอื่น ๆ ที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและมีมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาท จากการเดินทางของนักท่องเที่ยวไทยที่เพิ่มขึ้น และการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะช่วยเพิ่มการเดินทางในประเทศ

ด้านรายได้ขนส่งสินค้าที่เติบโตต่อเนื่องจนมีมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท โดยหลายสายการบินได้ปรับตัวมาให้บริการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น อีกทั้งอัตราค่าบริการขนส่งทางอากาศยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินยังเผชิญความท้าทายหลายประการที่จะสร้างความเสี่ยงต่อภาวะทางการเงินที่ค่อนข้างเปราะบาง ได้แก่ 1.ภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายและหนี้สินที่เร่งตัวขึ้นจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 2.การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน 3.การฟื้นตัวของขีดความสามารถในการดำเนินการด้านการบิน 4.ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และ 5.การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสายการบิน

ในระยะข้างหน้า EIC ประเมินว่านักท่องเที่ยวชาวไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจการบินมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับไปเทียบเท่าก่อนโควิดได้ในช่วงปลายปี 2567 และ 2568 เป็นต้นไป ตามลำดับ

โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยคาดว่าจะฟื้นตัวกลับไปที่ก่อนโควิดได้ในช่วงปี 2566 ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2567 โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีกำลังซื้อบางส่วนจะออกเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศมากขึ้น

ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวได้ดีจากนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักของไทยอย่างนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่าจะกลับมาเดินทางระหว่างประเทศได้ในช่วงปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก และทำให้ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจการบินของไทยเริ่มฟื้นตัวกลับไปเทียบเท่าก่อน COVID-19 ตั้งแต่ปลายปี 2567 เป็นต้นไป

ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวยังมีความท้าทายอีก 4 ประเด็นที่ต้องเผชิญในอนาคต

• โครงสร้างนักท่องเที่ยวที่จะเปลี่ยนแปลงไปทั้งสัญชาติและ Generations ซึ่งส่งผลต่อความต้องการบริการในอนาคต
• การเดินทางเพื่อทำธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้า จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้วิถีการทำงานและการทำธุรกิจเปลี่ยนไปสู่การประชุมทางออนไลน์มากขึ้น
• การเข้าสู่ Net zero emission 2593 ซึ่งทำให้ธุรกิจโรงแรมและการบินต้องรีบปรับตัวในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
• Digital transformation ในภาคการท่องเที่ยว เทคโนโลยีดิจิทัลจะมีบทบาทมากขึ้นเพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่

ทั้งนี้ EIC มองว่าธุรกิจโรงแรมและธุรกิจการบินต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 ดังต่อไปนี้

กลยุทธ์หลักของธุรกิจโรงแรม 3 ประการ ได้แก่

1.การกระจายความเสี่ยงและการหาช่องทางเพิ่มรายได้ในระยะยาว โดยลดการพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้วพิจารณานักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เพิ่มเติม รวมถึงจากการใช้ประโยชน์สูงสุดของพื้นที่และปรับเปลี่ยนบริการที่เป็นรายได้เสริมให้เป็นธุรกิจหลัก เช่น การจัดงานตามเทศกาลและงานที่ร่วมมือกับท้องถิ่น การบริการอาหารและเครื่องดื่ม

2.การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว โดยการยกระดับการบริการที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มวัย เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

3.การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อสร้างโอกาสและมูลค่าทางธุรกิจ เช่น การร่วมมือกับธุรกิจด้านสุขภาพเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และการร่วมมือกับผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อให้ลูกค้าได้เข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น

3 กลยุทธ์สำคัญของธุรกิจการบิน ได้แก่

1.การปรับตัวเพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้โดยสารที่เปลี่ยนแปลงไปจากวิกฤต COVID-19 และจากกลุ่มผู้เดินทางใหม่ เช่น การพัฒนาระบบการเดินทางแบบไร้สัมผัส การปรับรูปแบบบริการและโครงสร้างราคาให้เหมาะกับพฤติกรรมผู้โดยสารในปัจจุบัน และการเสนอ Personalized experience ในการเดินทาง

2.การมุ่งเน้นพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินการและลดต้นทุน เช่น การบริหารจัดการปริมาณเที่ยวบิน ฝูงบิน และเส้นทางบินให้เหมาะสมกับสภาพตลาด การเร่งจองสลอตการบินใหม่ที่ว่างจากช่วง COVID-19 การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินการและพยากรณ์อนาคต และการใช้เครื่องบินรุ่นใหม่ที่ประหยัดพลังงานมากขึ้นและบินได้ระยะทางไกลขึ้น

3.เทรนด์ De-carbonisation และการสร้างความยั่งยืน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของอุตสาหกรรมในการเป็น Net zero emission ภายในปี 2593 และตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้โดยสารในปัจจุบันที่รักษ์สิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น