ซอฟต์โลน 5 แสนล้าน แปลงร่างเป็น “สินเชื่อเพื่อการปรับตัว” อุ้ม SMEs

วางแผนการเงิน (3)

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา จนรัฐบาลต้องประกาศล็อกดาวน์ประเทศ ส่งผลให้ภาคธุรกิจและประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง ทำให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเร่งหามาตรการเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบให้มีสภาพคล่องในการประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้

ผุดซอฟต์โลน 5 แสนล้านรับมือโควิด

จึงได้ออก พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี เนื่องจากเงื่อนไขการขอรับวงเงินค่อนข้างยาก และอัตราดอกเบี้ยที่ไม่จูงใจให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ (2% ต่อปี) ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ส่งผลให้สินเชื่อไม่สามารถกระจายไปถึงกลุ่มเอสเอ็มอีรายเล็กที่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ปลดล็อกเงื่อนไข-ดอกเบี้ยจูงใจแบงก์ปล่อยกู้

ต่อมา ธปท.ได้มีการปรับเกณฑ์ “ซอฟต์โลน” ให้ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของวงเงินคงค้าง โดยขยายนิยามให้รองรับบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาด mai สามารถขอสินเชื่อได้ โดยให้แยกบุคคลและนิติบุคคลออกจากกัน และปรับการนับความเกี่ยวข้องของบริษัทในกลุ่มธุรกิจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่มีกลุ่มหลายบริษัทสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้

และสามารถยื่นขอกู้สินเชื่อได้ 2 ครั้ง จากเดิมสามารถกู้ได้เพียงครั้งเดียว และปลอดชำระดอกเบี้ย 6 เดือนแรกสำหรับกู้ทั้ง 2 ครั้ง ดอกเบี้ย 2% นาน 2 ปี มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อสถาบันการเงิน และสินเชื่อซอฟต์โลนวงเงินไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562

พร้อมทั้งยังขยายเวลาการยื่นคำขอสินเชื่อออกไปอีกเป็นระยะเวลา 6 เดือน ไม่เกินวันที่ 18 เมษายน 2564 เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสภาพคล่องได้อย่างครอบคลุม อย่างไรก็ดี แม้จะปรับแก้หลักเกณฑ์ให้ผ่อนคลายขึ้น แต่ขณะนั้นก็สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพียง 1.2-1.3 แสนล้านบาท จากทั้งหมด 5 แสนล้านบาท

ซึ่งจากข้อมูลของ ธปท. จนถึงวันที่ปิดรับคำขอ (12 เมษายน 2564) สินเชื่อซอฟต์โลนมีการใช้วงเงินไปทั้งสิ้น 138,200 ล้านบาท คิดเป็นผู้ที่ได้รับสินเชื่อทั้งหมดจำนวน 77,787 ราย

ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ยกเครื่อง พ.ร.ก.ซอฟต์โลน

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อและกินเวลานานกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับสินเชื่อซอฟต์โลนยังไม่สามารถกระจายได้ทั่วถึง ยังคงมีเสียงบ่นจากผู้ประกอบการ รวมถึง พ.ร.ก.ฉบับเดิมกำลังจะหมดอายุลง ทำให้ในยุคที่เปลี่ยนผู้ว่าการ ธปท. จาก “ดร.วิรไท สันติประภพ” มาเป็น “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” จึงได้มีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับแก้ไขข้อจำกัดต่าง ๆ

“ฟื้นฟู-พักทรัพย์ พักหนี้” 3.5 แสนล้าน

โดยออก พ.ร.ก.ซอฟต์โลน (ฉบับใหม่) มาแทน และนำวงเงินที่เหลือมากำหนดใหม่ที่ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งแยกออกเป็น 2 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการแรก “สินเชื่อฟื้นฟู” วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ที่ขยายขอบเขตลูกหนี้ทั้งลูกหนี้รายเดิมและรายใหม่ที่ไม่มีวงเงินกับสถาบันการเงินเพื่อให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยลูกหนี้เดิมขอกู้ได้ไม่เกิน 30% ของวงเงิน แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท (วงเงิน ณ 31 ธ.ค. 2562 หรือ 28 ก.พ. 2564 แล้วแต่ยอดใดจะสูงกว่า) ส่วนลูกหนี้ใหม่ขอกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังขยายเวลาการผ่อนชำระให้ยาวขึ้น จากเดิมระยะเวลามาตรการอยู่ที่ 2 ปี เพิ่มเป็น 5 ปี และให้รัฐบาลค้ำประกัน 10 ปี โดยใช้กลไกบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค่าธรรมเนียมเฉลี่ย 1.75% ต่อปี แต่ภาครัฐชดเชยให้ 3.5% เทียบเท่าค่าธรรมเนียม 2 ปี และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อโดยคิดอัตราดอกเบี้ยสะท้อนความเสี่ยงลูกหนี้

ซึ่ง ธปท.ปล่อยสินเชื่อให้สถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.01% เพื่อให้ส่งผ่านไปยังลูกหนี้ โดยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน 5% และคิดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน 2% ในช่วง 2 ปีแรก และรัฐบาลชดเชยให้ในช่วง 6 เดือนแรก

ส่วนอีกโครงการ คือ “พักทรัพย์ พักหนี้” กำหนด วงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบรุนแรง และต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ โรงแรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง หรือมีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน เนื่องจากมีกระแสข่าวการเข้ามาฮุบซื้อกิจการของต่างประเทศ

ทั้งนี้ เกณฑ์สามารถให้เจ้าเดิมสามารถซื้อคืนทรัพย์เป็นอันดับแรกในราคาต้นทุน ภายในระยะเวลา 3-5 ปี ในราคาตีโอนและบวกต้นทุนการถือครองทรัพย์ 1% ต่อปีของราคาตีโอน และระหว่างทางเจ้าของทรัพย์สามารถขอเช่าได้เพื่อทำธุรกิจได้

ซึ่งจากข้อมูลของ ธปท. รายงานความคืบหน้าโครงการสินเชื่อฟื้นฟู ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ว่า มีการอนุมัติวงเงินไป 184,113 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนลูกค้า 54,772 ราย ขณะที่พักทรัพย์ พักหนี้ มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 50,517 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 367 ราย

แปลงซอฟต์โลนเป็น “สินเชื่อเพื่อการปรับตัว” แสนล้าน

ล่าสุด หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 3 ปี 8 เดือน จาก 0.50% เป็น 0.75% พร้อมส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้น เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ขึ้นมาระดับสูง ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า เอสเอ็มอีที่เปราะบางจะได้รับผลกระทบ

พร้อมกันนั้น ธปท.ได้ปรับปรุงสินเชื่อซอฟต์โลน หรือสินเชื่อฟื้นฟูอีกครั้ง โดยออกประกาศและส่งหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงินและธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ในวันเดียวกันนั้น เรื่อง การเพิ่มประเภท “สินเชื่อเพื่อการปรับตัว” ภายใต้ พ.ร.ก.ช่วยเหลือและสินเชื่อฟื้นฟู

โดยจะเป็นการเกลี่ยวงเงินจากโครงการ “สินเชื่อฟื้นฟู” และ “พักทรัพย์ พักหนี้” ที่มียอดวงเงินเหลือรวมกันกว่า 1 แสนล้านบาท เข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีในการปรับตัวหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย โดยคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ

นับว่าเป็นความพยายามอีกครั้งของ ธปท.ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งสุดท้ายแล้ว “สินเชื่อเพื่อการปรับตัว” ดังกล่าว จะช่วยผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสินเชื่อได้มากน้อยเพียงใด คงต้องติดตามกันต่อไป