โควิด บทเรียนธุรกิจประกันภัย คปภ.เปิด 11 แนวทางเกราะป้องกัน

คปภ.ถกด่วน 'ประกัน' 15 พ.ย. - เดอะวันฯ บีบลูกค้ายกเลิกเจอจ่ายจบ

โควิด บทเรียนธุรกิจประกันภัย คปภ.เปิด 11 แนวทางเกราะป้องกันธุรกิจ ด้าน “เลขาฯ คปภ.” เผยต้องก้าวข้ามความเจ็บปวด ไม่โทษใครผิดใครถูก ควรหันมาร่วมมือฝ่าวิกฤต

วันที่ 13 สิงหาคม 2565 นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ.ได้จัดการประชุมกลุ่มย่อยในงานสัมมนาประชุม CEO Insurance Forum 2022 เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจประกันภัยและ คปภ.มีการอภิปรายระดมความคิดเห็น เพื่อกลั่นกรองสู่ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ โดยแบ่งกลุ่มย่อยเป็น 3 กลุ่มคือ

กลุ่มย่อยที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “Embracing Prudential Insurance Ecosystem” โดยมีนายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการด้านกำกับ เป็นประธานการประชุม

กลุ่มย่อยที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “Digitizing Insurance Supervisory Framework” โดยมีนางสาววสุมดี วสีนนท์ รองเลขาธิการด้านตรวจสอบ เป็นประธานการประชุม และ

กลุ่มย่อยที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “Enhancing Trust for Sustainable Insurance” โดยมีนายชัยยุทธ มังศรี รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เป็นประธานการประชุม

ซึ่งการประชุมทั้ง 3 กลุ่มย่อยดังกล่าวมีข้อสรุปร่วมกันและเห็นว่าสิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไปมีดังนี้

1.ภาคธุรกิจประกันภัยต้องมีการเตรียมตัวเพื่อรองรับความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น และสร้างความเชื่อมั่น สร้างภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้เอาประกันภัย

2.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ เพื่อรองรับความเสี่ยงภัยใหม่ที่จะเกิดขึ้น ควรใช้ประโยชน์จากโครงการ Insurance Regulatory Sandbox และโครงการ Product Innovation and Tailor-Made Sandbox ให้มากขึ้น

3.นักคณิตศาสตร์ประกันภัยควรจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะ

นักคณิตศาสตร์ระดับเฟลโล่ (Fellow) ซึ่งต้องพิจารณารับรองผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จะยื่นขอรับความเห็นชอบมายังนายทะเบียน

4.เทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่บริษัทประกันภัยควรมีคือ การยืนยันตัวตนของผู้เอาประกันภัย (Know Your Customer : KYC) ในการสนับสนุนการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งอาจเป็นระบบ KYC กลาง หรือใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วย

5.การรับประกันภัย การจัดการทางบัญชีและการเงิน และการจัดการค่าสินไหมทดแทน บริษัทประกันภัยควรมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการปฏิบัติงาน

6.สำนักงาน คปภ.ควรมีการปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน เพื่อให้การทำธุรกรรมออนไลน์ เช่น การปรับปรุง Free Look Period ของผลิตภัณฑ์การให้ความคุ้มครองการแพ้วัคซีน

7.การปรับปรุงระบบการรายงานการฉ้อฉลประกันภัย

8.การจัดทำฐานข้อมูลกลาง เพื่อใช้ในการติดตามกำกับดูแล การกระทำความผิดของตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย การใช้ฐานข้อมูลสำหรับการประสานความร่วมมือทางคดี

9.การพัฒนาระบบการประสานงานข้อร้องเรียนด้านการประกันภัยโดยการส่งข้อร้องเรียนให้บริษัทประกันภัยที่ถูกร้องเรียนผ่านระบบอีเมล์ของแต่ละบริษัท เพื่อดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน แบบ Real Time

10.บริษัทประกันภัยควรมีแผนการบริหารความเสี่ยงที่ดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

11.แนวทางเกี่ยวกับกระบวนการเข้าทำสัญญา การใช้หรือการตีความข้อสัญญา และการยกเลิกสัญญาให้เป็นธรรม และไม่กระทบต่อผู้เอาประกันภัย การตีความสัญญาประกันภัยต้องเป็นไปตามกฎหมายประกันภัย หรือต้องปรากฏหลักฐานชัดเจนต่อบริษัท ว่าผู้เอาประกันภัยได้กระทำการทุจริตหรือฉ้อฉลประกันภัย และอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 โดยหากสัญญาข้อใดที่ไม่เป็นธรรมให้มีผลใช้บังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

“เหตุการณ์ที่ผ่านมาผมเห็นว่าเปล่าประโยชน์ที่จะไปโทษว่าใครผิด ใครถูก หรือโยนความผิดพลาดให้ใครรับผิดชอบ แต่ควรจะหันมาร่วมมือกันเพื่อฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้ และถอดบทเรียนเพื่อสร้างเกราะป้องกันให้ระบบประกันภัยของไทยมีความแข็งแกร่ง เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนต่อไป” เลขาธิการ คปภ.กล่าว