บัญชีกลางพบอุทธรณ์มั่วกว่า 42% ชงคิดค่ายื่นคำร้อง แก้กฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง

บัญชีกลางพบอุทธรณ์มั่วกว่า 42% ชงคิดค่ายื่นคำร้อง แก้กฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง
ภาพจาก pixabay

กรมบัญชีกลาง พบปัญหาอุทธรณ์ประมูลงานรัฐมั่วกว่า 42% ลุยแก้กฎหมาย ชงคิดค่าธรรมเนียมยื่นคำร้อง เพิ่มประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมพัฒนาระบบ e-Bidding ป้องกันข้อมูลการเสนอราคารั่วไหล

วันที่ 13 สิงหาคม 2565 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในประเด็นการเก็บเงินสำหรับการอุทธรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

เนื่องจากกรมพบปัญหาการอุทธรณ์ที่ไม่สุจริต ประวิงเวลา หรือเพียงแค่จะใช้สิทธิของตนตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งพบได้จากสถิติการอุทธรณ์ของเรื่องที่ไม่ใช่อุทธรณ์ ตามมาตรา 114

ทั้งนี้ จากปีงบประมาณ 2563 มีการยื่นอุทธรณ์เข้ามา 2,062 โครงการ คิดเป็น 24.30% ที่ไม่ใช่อุทธรณ์ตามมาตรา 114 ขณะที่ปีงบประมาณ 2564 มีการยื่นอุทธรณ์เข้ามา 1,977 โครงการ ไม่ใช่อุทธรณ์กว่า 42.13% และล่าสุดในปีงบประมาณ 2565 ข้อมูล ณ วันที่ 22 มี.ค. 65 มีการยื่นอุทธรณ์มาแล้ว 703 โครงการ ไม่ใช่อุทธรณ์กว่า 41.33% ซึ่งการอุทธรณ์โดยไม่ใช่เหตุเหล่านี้มีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ

น.ส.กุลยากล่าวว่า กรมจึงจะใช้รูปแบบการอุทธรณ์ออนไลน์แทนการรับ-ส่งหนังสือ เพื่อลดขั้นตอนและลดระยะเวลาการดำเนินการ ลดภาระของผู้ประกอบการและหน่วยงานของรัฐด้วย อีกทั้งจะมีการกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมตามมูลค่าของโครงการที่มีการอุทธรณ์ โดยจะคืนค่าใช้จ่ายให้กรณีที่การอุทธรณ์เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล

“การปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จะช่วยลดปัญหาการอุทธรณ์ที่ผู้อุทธรณ์มีเจตนาไม่สุจริต ประวิงเวลา หรือเพียงแค่ใช้สิทธิของตนตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบให้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐและการเบิกจ่ายเงินของภาครัฐมีความล่าช้า กระทบไปถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย”

นอกจากนี้ กรมได้พัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ หรือ New e-GP ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Bidding เดิม ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยนำปัญหาและอุปสรรคในการเข้าใช้งานระบบ e-Bidding เดิม มาทบทวนและปรับปรุงกระบวนงานให้มีความทันสมัย สอดรับกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบ และป้องกันความเสี่ยงในการรั่วไหลของข้อมูลการเสนอราคา e-Bidding

โดยได้ปรับปรุงกระบวนการเผยแพร่ประกาศและการยื่นข้อเสนอ รวมทั้งลดระยะเวลาการยื่นข้อเสนอเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการรั่วไหลของข้อมูลราคา

ทั้งนี้ ได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลการเสนอราคา e-Bidding และนำ Smart Contract มาใช้ในการควบคุมสิทธิและระยะเวลาในการเข้าถึงข้อมูล พร้อมทั้งเพิ่มความปลอดภัยในกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้เสนอราคา เป็นแบบสองขั้นตอน (Two-Factor Authentication)

นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบช่องโหว่ในระบบ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนตรวจสอบช่องโหว่ระบบ e-ฺBidding ที่พัฒนาขึ้นใหม่ด้วย

นอกจากนี้ ได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ภายใต้เจตนารมณ์ของการออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ได้แก่ 1.ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)


และ 2.ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตภายในประเทศ (สินค้า Made In Thailand) ส่งผลให้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีผลการจัดซื้อจัดจ้างผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับงานกับหน่วยงานของรัฐทั้งสิ้นมูลค่า 421,881.86 ล้านบาท จากมูลค่าจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด 804,447.95 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 52.44 ของวงเงินงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด