ดอลลาร์แข็งค่า นักลงทุนกังวล เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75%

US dollar
(file photo) REUTERS/Mohamed Azakir

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า นักลงทุนกังวลธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% โดย FedWatch Tool ของ CME Group ให้น้ำหนักใกล้เคียงกัน ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 0.50% และ 0.75% พร้อมจับตาการประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮล 25-27 ส.ค.นี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/8) ที่ระดับ 35.80/82 ที่ระดับ 35.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/8) ที่ระดับ 35.67/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ในการประชุมเดือนกันยายนนี้ ส่งผลให้ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงินเพิ่มขึ้น 0.63% แตะที่ระดับ 108.16

โดยล่าสุด ตัวเลขคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% และ 0.75% ในการประชุมเดือนกันยายนเริ่มเข้าใกล้ 50-50 หลังจากที่ก่อนหน้านี้นักลงทุนเทน้ำหนักว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50%

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 53.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 2.75-3.00% ในการประชุมวันที่ 20-21 กันยายน และให้น้ำหนัก 46.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนกันยายน ก็จะส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 หลังจากปรับขึ้น 0.75% ทั้งในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม

โดยนักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกจับตาการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐโอไอมิง ในวันที่ 25-27 สิงหาคมนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลงในเดือนกรกฎาคม โดยหัวข้อการจัดประชุมในปีนี้คือ “Reassessing Constraints on the Economy and Policy” ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.73-36.09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.09/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/8) ที่ระดับ 1.0025/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/8) ที่ระดับ 1.0088/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ในขณะที่เฟดยังคงหนักเน้นในการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

อีกทั้งนักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ซบเซาของเยอรมนี หลังจากที่เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนกรกฎาคม โดยราคาพลังงานพุ่งขึ้น 105% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2564 ทำให้ตลาดปรับเพิ่มคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนกันยายน ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโร เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9992-1.0046 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9995/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/8) ที่ระดับ 137.23/24 เยน/ดอลลาร์สหัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/8)ที่ระดับ 135.88/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

โดยความเห็นของนายบาร์คิน ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและญี่ปุ่นขยับกว้างมากขึ้น หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยึดมั่นในการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 136.69-137.43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 136.92/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจ ที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือนกรกฎาคมจากเฟดชิคาโกของสหรัฐ, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเดือนสิงหาคมจากเอสแอนด์พี โกลบอลของสหรัฐ, ยอดขายบ้านใหม่เดือนกรกฎาคมของสหรัฐ, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเดือนสิงหคมจากเอสแอนด์พี โกลบอลของเยอรมนี และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเดือนสิงหาคมจากเอสแอนด์พี โกลบอล/ซีไอพีเอสของอังกฤษ


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.10/-5.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.40/2.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ