จับสัญญาณเศรษฐกิจ-ดอกเบี้ย ประชุม Jackson Hole หนุนบาทอ่อนค่า

ไทย-สหรัฐ-บาท-ดอลลาร์-ขนส่ง

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหว 35.35-36.10 บาทต่อดอลลาร์ จับตาจีดีพี Q2 สหรัฐฯ ถ้อยแถลงธนาคารกลางที่เมือง “Jackson Hole” ส่งสัญญาณดอลลาร์แข็งค่า กดดันบาทขยับอ่อนค่า คาดฟันด์โฟลว์หุ้น-บอนด์เทขายทำกำไร

วันที่ 21 สิงหาคม 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 22-26 สิงหาคม 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35.35-35.95 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม จะเป็นการประชุมเชิงวิชาการที่เมือง Jackson Hole ระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม 2565 โดยจะมีประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และประธานธนาคารกลางสำคัญๆ ออกมากล่าว เช่น ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) เป็นต้น

โดยประเด็นสำคัญตลาดรอดูถ้อยแถลงของประธานเฟดถึงทิศทางเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นครั้งต่อไปอยู่ที่ 0.75% หรือ 0.50% ซึ่งจะมีผลต่อตลาดการเงินค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนกันยายนนี้ ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าได้ และบาทเริ่มมีทิศทางอ่อนค่าได้เช่นกัน

นอกจากนี้ตลาดยังติดตามตัวเลขดัชนี PMI ที่จะออกมาทั้งสหรัฐฯ และยุโรป หากตัวเลขออกมาแย่กว่าคาดการณ์ไว้จะหนุนค่าเงิน ขณะที่ตัวเลขในประเทศจะเป็นตัวเลขนำเข้าและส่งออก ซึ่งมองว่าคงไม่ได้มีภาพปัจจัยการเปลี่ยนแปลงจากตลาดคาดการณ์ไว้

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 15-19 สิงหาคม) พบว่า ตลาดหุ้นซื้อสุทธิ 2.4 หมื่นล้านบาท และตบาดพันธบัตร (บอนด์) ซื้อสุทธิราว 3,800 ล้านบาท

โดยคาดว่าสัปดาห์หน้ายังคงพอมีรูมที่จะเห็นแรงเทขายทำกำไร (take profit) ซึ่งอาจจะมีแรงเทขายตัวสั้น 1,000-2,000 ล้านบาท และปลายสัปดาห์อาจจะเห็นการซื้อบอนด์ตัวยาวได้ และตลาดหุ้นก็มีแรงเทขายราว 1,000 ล้านบาท เพราะก่อนหน้านักลงทุนซื้อค่อนข้างมากแล้ว จึงเทขายทำกำไร

“ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นสัญญาณตลาดมูฟค่อนข้างเร็ว โดยการซื้อหุ้นและบอนด์ แต่ก็มีปัจจัยที่ดอลลาร์แข็งค่า ทำให้เราขยับกรอบเงินบาทเป็น 35.35-35.95 บาทต่อดอลลาร์ เพราะบาทมีแรงกดดันอ่อนค่าจากดอลลาร์แข็งค่า”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 35.40-36.10
ติดตามจีดีพีไตรมาส 2 ของสหรัฐฯ (ประกาศครั้งที่ 2) รวมถึงค่าใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลเดือนกรกฎาคมของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ

นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาสุนทรพจน์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในงานสัมมนาเชิงวิชาการซึ่งเป็นเป็นเจ้าภาพ ที่เมือง Jackson Hole อีกด้วย

“เงินบาทปรับตัวดีที่สุดในกลุ่มในเดือนนี้ หลังจากอ่อนค่าอย่างรุนแรงเมื่อเดือน ก.ค. การเข้าซื้อคืนเงินบาทในเดือน ส.ค. จึงโดดเด่นท่ามกลางกระแสเงินทุนไหลเข้า และความหวังเรื่องการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว อีกทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกย่อลง ลดแรงกดดันต่อดุลการค้าไทย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ยังแข็งแกร่งกลับมาช่วยหนุนดอลลาร์ขึ้นท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมา”