สื่อนอกวิเคราะห์ ท่องเที่ยวไทยฟื้น ดันบาทแข็งค่าสุดในเอเชีย ครึ่งปีหลัง

เงินบาท

นักวิเคราะห์บลูมเบิร์กชี้เงินบาทรับอานิสงส์ นักท่องเที่ยวไหลกลับไทย หนุนบาทแข็ง คาดครึ่งหลังปี 2565 เงินบาทเเข็งค่าสุดในชาติเอเชีย

วันที่ 17 สิงหาคม 2565 บลูมเบิร์ก รายงานว่า ค่าเงินบาทไทยดีดตัวฟื้นขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จากอานิสงส์เชิงบวกของการเติบโตจากการท่องเที่ยว ที่ได้บรรลุตัวเลขเป้าหมายที่นักวิเคราะห์ตั้งไว้ในช่วงปลายปีเเล้ว

อีกด้านหนึ่งส่งผลให้เงินบาทเเข็งค่าขึ้นกว่า 2.3% มาอยู่ที่ประมาณ 35.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนนี้ (สิงหาคม) ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่านำหน้าสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชียแบบทิ้งห่าง

โดยนอกเหนือจากการคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนแล้ว การก้าวกระโดดของค่าเงินบาท ยังได้รับแรงหนุนจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงอันเนื่องจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ

นักวิเคราะห์จากบลูมเบิร์ก ชี้ว่าการแข็งค่าของเงินบาท แสดงว่าค่าเงินบาทได้แตะระดับที่คาดการณ์ไว้สำหรับไตรมาสที่ 4 ที่ 35.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เรียบร้อยเเล้ว ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ยังส่งผลต่อการถกเถียงว่าค่าเงินดอลลาร์ได้แข็งค่าขึ้นแล้วหรือไม่

เนื่องจากนักวิเคราะห์กำลังเริ่มชั่งน้ำหนักถึงเวลาที่เหมาะสมที่จะกลับสู่ตลาดเกิดใหม่ ซึ่งทำให้เห็นการไหลออกของเงินทุนในขณะที่สหรัฐ เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง

มิตุล โคเทชา หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตลาดเกิดใหม่ของธนาคาร TD Securities ในสิงคโปร์ กล่าวว่า เราคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่ามากขึ้น แม้ว่าเราจะระมัดระวังเกี่ยวกับการพุ่งตัวของค่าเงินในระดับปัจจุบัน เนื่องด้วยอัตราการพุ่งขึ้นที่รวดเร็วในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะที่การฟื้นตัวของค่าเงินได้รับแรงหนุนจากปัจจัยต่าง ๆ รวมกัน ตั้งแต่ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลง การเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สัญญาณการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งค่าขึ้น

ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา ยังเน้นย้ำด้วยว่าเงินบาทยังคงมีความเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกอย่างไร โดยเงินบาทได้อ่อนค่าลงกว่า 0.5% ระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบกว่า 3 สัปดาห์ หลังจากที่จีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ ในส่วนที่สำคัญ และหลังจากรายงานระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นอ่อนแอกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้

นอกจากนี้ ตัวเลขจีดีพี (GDP) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยได้เพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือนเมษายน-มิถุนายนจากปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3.1% ของการขยายตัวจากการสำรวจของบลูมเบิร์ก
เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

โฆษกรัฐบาลไทยกล่าวว่า ทางการคาดว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ถึง 10 ล้านคนในปีนี้ เทียบกับการคาดการณ์ที่ 6.1 ล้านคนเมื่อเดือนเมษายน ชาวต่างชาติยังถูกมองว่าอาจเพิ่มถึง 30 ล้านคนในปีหน้า ซึ่งยังน้อยกว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศไทยกว่า 40 ล้านคนใน 1 ปีก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

การฟื้นตัวดังกล่าวนั้นสำคัญต่อประเทศไทย เนื่องจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจของประเทศก่อนเกิดโรคระบาด และการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะปรับลดระดับโรคโควิด-19 ให้อยู่ในประเภทเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวก เนื่องจากมันแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มด้านสาธารณสุขของประเทศกำลังมีเสถียรภาพ

ขณะเดียวกัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี เมื่อสัปดาห์ที่แล้วไม่สามารถทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายส่งสัญญาณว่าการเคลื่อนไหวในอนาคตจะค่อยเป็นค่อยไป

ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐจะดำเนินการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างหนัก โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจริง ๆ หลังจากมีการเคลื่อนไหวนโยบายก่อนที่จะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในตอนสิ้นสุดวัน

อย่างไรก็ตาม อ้างอิงจาก ฟรานเซส เฉิง นักยุทธศาสตร์ด้านอัตราดอกเบี้ยประจำธนาคารในสิงคโปร์ ระบุว่า ธนาคารโอซีบีซี (OCBC Bank) ของจีน ยังได้ออกมาเตือนถึงการไล่ตามค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง

“ในขณะที่การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วยังไม่ได้รับการยืนยันและทาง ธปท.ยังมีความล้าหลังในเรื่องของนโยบายที่เข้มงวด”

ถึงกระนั้น สัญญาณเชิงบวกต่าง ๆ เช่น ข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีขึ้นก็ทำให้นักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีกเล็กน้อยหลังจากที่ได้ปรับตัวขึ้นไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

ศักเถียนดิ สุพัต นักยุทธศาสตร์จากธนาคารเมย์แบงก์ (Malayan Banking Bhd) ธนาคารสัญชาติมาเลเซีย คาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะเพิ่มขึ้นเป็น 34.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาสแรกของปี 2566

ขณะที่ ฉี เกา นักยุทธศาสตร์อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคาร Scotiabank คาดว่าค่าเงินของไทยจะผันผวนอยู่ในช่วง 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับมีความเป็นไปได้ที่อาจจะแข็งค่ามากขึ้นไปอีก

โกลด์แมน แซกส์ กรุ๊ป (Goldman Sachs Group Inc.) คงคาดการณ์แนวโน้มขาขึ้นของค่าเงินบาท และคาดว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าที่สุดในหมู่สกุลเงินเอเชีย ที่ไม่ใช่เงินเยนในช่วงครึ่งหลังของปี

คามาคยา ทรีเวดี (Kamakshya Trivedi) ได้เขียนในหมายเหตุลงวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมาถึงเรื่องดังกล่าว โดยอ้างว่าเงินบาทจะแข็งค่ามาจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ราคาน้ำมันที่ลดลง และค่าขนส่งที่ลดลง