จับสัญญาณจีดีพีโตต่ำ เงินเฟ้อสูง-โลกเสี่ยง หวังท่องเที่ยวฟื้น ?

ทะเล
Photo by Mladen ANTONOV / AFP

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2565 ออกมาขยายตัวที่ 2.5% ต่อปี ตามรายงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ล่าสุด ถือว่าต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ ว่าจะเติบโตได้ในระดับมากกว่า 3%

“ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ยังโตได้ต่อเนื่อง มีปัจจัยสนับสนุนจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว 6.9% จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น รวมถึงมีมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายของภาครัฐ ขณะที่ภาคการส่งออกขยายตัวได้ 9.7%

ด้านภาคการท่องเที่ยว ก็ขยายตัวมากขึ้น นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาแล้ว 1.5 ล้านคน

“ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.4% โดยการบริโภคขยายตัว 5.2% ส่งออกขยายตัว 12% ชัดเจนว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกมีการฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2564 โดยมาจากการอุปโภคบริโภค และการส่งออกสินค้า แม้การใช้จ่ายภาครัฐชะลอลงในไตรมาส 2”

จีดีพีปีนี้ 3%-นักท่องเที่ยว 9.5 ล้านคน

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังของปี 2565 “ดนุชา” ประเมินว่า จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งแรกของปี จากการเร่งตัวขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่การส่งออกก็มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จึงคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทย จะขยายตัวในช่วง 2.7-3.2% (ค่ากลางประมาณ 3%) เป็นการปรับช่วงประมาณการแคบลงจากเดิม 2.5-3.5% ในรอบก่อน

“เรามีการปรับเปลี่ยนสมมุติฐานเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะขยายตัว 3.3% ลดลงมาจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5% และปริมาณการค้าโลกคาดจะขยายตัว 4.3% จากเดิมคาด 4.7% ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์”

นอกจากนี้ สศช.ได้ปรับสมมุติฐานจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยคาดว่าในปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยว 9.5 ล้านคน มีรายรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.6 แสนล้านบาท จากเดิมคาดการณ์ 7 ล้านคน รายรับ 5.7 แสนล้านบาท

4 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทยโตต่ำ

เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ 1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมากกว่าคาด ความผันผวนในตลาดการเงินโลก ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ 2.ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจ ที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ยและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อสูง

3.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด และการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง และ 4.ความเสี่ยงจากสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งอาจส่งผลกระทบในพื้นที่การเกษตร พื้นที่อุตสาหกรรม รวมถึงที่อยู่อาศัยของประชาชน

เงินเฟ้อตัวการฉุดเศรษฐกิจชะลอ

“ดร.เชาว์ เก่งชน” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จีดีพีไตรมาส 2 ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์เล็กน้อย เนื่องจากมีผลของอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงกดดันการใช้จ่ายภาคเอกชน แต่มีเรื่องของภาคท่องเที่ยวเข้ามาช่วยพยุงไว้ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจด้านอื่นชะลอตัวหมด จากผลของเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี ตัวเลขการเติบโตของ สศช.ถือว่าใกล้เคียงกับประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่คาดว่าจีดีพีทั้งปีนี้จะขยายตัว 2.9% ดังนั้น ศูนย์วิจัยจึงยังไม่ปรับประมาณการ โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมองว่าสิ่งที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการเติบโต ยังคงเป็นภาคการท่องเที่ยว ที่มีสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่าทั้งปีจำนวนนักท่องเที่ยวจะเป็น 10 ล้านคนได้ และฟื้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าปี 2566 จะอยู่ที่ 30 ล้านคน

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่เป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ยังคงเป็นสถานการณ์ในต่างประเทศ ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ และสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐที่เริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่มีปัญหา ปัญหาความขัดแย้งในประเทศต่าง ๆ ที่กระทบต่อการค้าและลงทุน ซึ่งมีผลต่อภาคการส่งออกของไทย สะท้อนจากตัวเลขการส่งออกในไตรมาส 2 ที่เริ่มเห็นการเติบโตลดลง

ท่องเที่ยวความหวังเดียวอุ้มเศรษฐกิจไทย

“สิ่งสำคัญหลังจากนี้ คือ การฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว โดยตัวเลข 30 ล้านคน เป็นจุดสำคัญมาก เพราะปีหน้าเราจะเผชิญโลกที่ชะลอตัว การส่งออกไม่ได้เป็นความหวัง แรงกดดันจากเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงต่อการบริโภคที่ลดลง ดังนั้น การท่องเที่ยวเป็นตัวเดียวที่จะมาช่วยพยุงไว้ ซึ่งที่ผ่านมาสัญญาณท่องเที่ยวถือว่าโอเค แต่ต้องดูโมเมนตัมจะต่อเนื่องถึงปีหน้าหรือไม่”

จับตา “การผลิตสินค้าติดลบ”

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP กล่าวว่า จีดีพีไตรมาส 2 ที่ออกมา ถือว่าต่ำกว่าคาด เพราะเดิมคาดว่าจะโตได้กว่า 3% แต่เหลือโตแค่ 2.5% อย่างไรก็ดี หากเข้าไปดูไส้ใน จะเห็นว่าผลจากการเปิดเมือง สามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขการบริโภคและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีขึ้น

“ที่โตได้น้อย เพราะมี 2-3 เรื่อง หนึ่ง คือ การลงทุนภาครัฐ ดูเหมือนว่าเป็นตัวดึงค่อนข้างเยอะ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะฐานปีก่อนมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ สอง การผลิตภาคอุตสาหกรรม ติดลบ ตรงนี้ผมค่อนข้างเซอร์ไพรส์ เพราะการส่งออกยังดีอยู่ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่า จะเป็นการย้ายจากหมวดสินค้าไปสู่บริการมากขึ้นหรือเปล่า หรือเพราะฐานปีที่แล้วที่ใหญ่มาก โตถึง 17% ในปีก่อน มาปีนี้ติดลบ 0.5% เลย หรือจะเป็นการส่งสัญญาณว่าการส่งออกในระยะข้างหน้าอาจจะชะลอตัวลง”

มองไปข้างหน้า ถ้าดูเฉพาะตัวเลขนักท่องเที่ยว อาจจะดีกว่าคาด ซึ่งแต่เดิม KKP คาดการณ์ประมาณ 6 ล้านคนแต่ถึงขณะนี้ 8-10 ล้านคนก็มีความเป็นไปได้ อย่างไรก็ดี อาจจะมีความเสี่ยงในด้านปัจจัยการผลิต การขาดแคลนแรงงาน โดย KKP อยู่ระหว่างพิจารณาปรับประมาณการ จากเดิมที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตได้ 3.3% แต่จากไตรมาส 2 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ในขณะที่มองไปข้างหน้าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวดีขึ้น คงต้องชั่งน้ำหนักดูอีกที

“ความเสี่ยงสำคัญ หนึ่ง คือเงินเฟ้อสูงขึ้น อาจทำให้การบริโภคของคนในประเทศชะลอลงได้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจประเทศหลัก ๆ หากชะลอตัว ก็จะกระทบการส่งออกที่เป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย”

โจทย์ใหญ่ “แก้เงินเฟ้อ-อุ้มกลุ่มเปราะบาง”

สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง คงต้องดูว่าจะบริหารจัดการกับเงินเฟ้ออย่างไร และจะช่วยกลุ่มเปราะบางจากภาระดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างไร ซึ่งเป็นความท้าทายที่สำคัญ เพราะในภาพรวมเศรษฐกิจคงทยอยฟื้น ซึ่งในไตรมาส 3 นี้อาจจะเห็นจีดีพีโตได้ในระดับ 4-5% เนื่องจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้วที่โควิดระบาดหนัก

“การกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมคงไม่มีความจำเป็นแล้ว แต่คงต้องโฟกัสนโยบายที่ดูแลเฉพาะจุด เพราะภาพรวมเศรษฐกิจคงทยอยฟื้น” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP กล่าว

และว่า “ที่สำคัญ คือ จะพาทุกคนโตไปด้วยกันได้หรือไม่ หรือจะทิ้งใครไว้ข้างหลัง”