ส่องธุรกิจมาม่า ครึ่งปีแรก กำไรวูบกว่า 550 ล้าน

มาม่า

ครึ่งปีแรกมาม่าค่าใช้จ่ายโตแรง ทำกำไรหาย 549 ล้านบาท หลังค่าใช้จ่ายเพิ่ม 1.7 พันล้านบาท แต่รายได้โตแค่ 1.07 พันล้าน

วันที่ 16 สิงหาคม 2565 หลังการรวมตัวของ 5 ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 65 เพื่อขอให้กรมการค้าภายใน อนุญาตให้ปรับราคาขายเป็น 8 บาท/ซอง เนื่องจากสถานการณ์ต้นทุนวัตถุดิบ-ขนส่งที่พุ่งสูงจนเสี่ยงจะขาดทุนหากต้องขายในราคา 6 บาท/ซองต่อไปนั้น

ล่าสุดบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 รายที่ร่วมการเรียกร้องดังกล่าว ได้เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 2 และระยะ 6 เดือน ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งพบว่า แม้จะมีรายได้จากการขายสูงขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า ส่งผลให้กำไรลดลงสวนทางกับรายได้

โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2 (พ.ค.-มิ.ย. 65) ที่กำไรของยักษ์บะหมี่หลุดจากระดับพันล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว ลงมาอยู่ที่หลักร้อยล้านปลาย ๆ สะท้อนถึงความรุนแรงของสถานการณ์ต้นทุน

ทั้งนี้ ช่วงไตรมาส 2 ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 1.12 พันล้านบาท เป็น 5.81 พันล้านบาท ในขณะที่รายได้เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเพียง 731 ล้านบาท มาอยู่ที่ 6.62 พันล้านบาท ทำให้กำไรลดลงเหลือ 821 ล้านบาท จากเดิมไตรมาส 2 ปี 2564 มีกำไรถึง 1.16 พันล้านบาท หรือลดลง 338 ล้านบาท

ส่วนผลประกอบการช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย. 65) เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีรายได้ 1.28 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.07 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่มีค่าใช้จ่าย 1.11 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7 พันล้านบาท ส่งผลให้มีกำไร 1.69 พันล้านบาท ลดลง 549 ล้านบาท จากเดิมไตรมาส 2 ปี 2564 มีกำไร 2.24 พันล้านบาท

ในขณะที่รายได้จากการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามที่ยักษ์บะหมี่ระบุว่า ช่วงที่ผ่านมาต้องอาศัยเพิ่มการขายในต่างประเทศซึ่งสามารถปรับราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนได้ เพื่อนำกำไรมาถัวเฉลี่ยกับการขายในประเทศ

โดยช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 นี้ ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ มีรายได้จากการขายบะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูปให้ลูกค้าประเทศอื่น ๆ 2.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 312 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปี 2564


หลังจากนี้ต้องจับตาดูว่า เมื่อกรมการค้าภายในประกาศการตัดสินใจเรื่องปรับขึ้นราคาออกมาแล้ว ยักษ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะมีความเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป