บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยื่นคำขาดขึ้นราคา 5 ยี่ห้อ ขู่ส่งออกเพิ่มกว่า 35%

ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 ยี่ห้อดัง บุกยื่นหนังสือขอให้กรมการค้าภายในปรับขึ้นราคา กรมการค้าภายในรับพิจารณา 

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟู้ด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่า และนายวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไวไว ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ผลิตอีก 3 ราย  คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยำยำ, ซื่อสัตย์ และนิชชิน ได้เดินทางมายังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นตัวแทนในการยื่นหนังสือต่อนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน  ขอให้พิจารณาเร่งรัดการปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจาก 6 บาท/ซอง เป็น 8 บาท/ซอง

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟู้ด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่า เปิดเผยว่า “ทางผู้ประกอบการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต้องการให้กรมการค้าภายในเร่งรัดและพิจารณาการขอปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยผู้ประกอบการคาดหวังให้มีการพิจารณาโดยเร็วที่สุด โดยระหว่างนี้ผู้ประกอบการจะหันไปส่งออกมากขึ้น จากปัจจุบันที่ส่งออก 30-35% เพราะมีกำไรมากกว่า”

ขณะที่การขายภายในขาดทุน แต่ยืนยันว่าขณะนี้กำลังการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยปัจจุบันบริษัทเดินเครื่องผลิตเพียงแค่ 80% ของกำลังการผลิตเท่านั้น  โดยสินค้าไม่มีปัญหาว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะขาดแคลน เพราะในช่วงปีที่น้ำท่วมใหญ่ถนนขาด มาม่ายังสามารถผลิตและขนส่งไปจำหน่ายได้ กรณีเดียวที่จะทำให้บะหมี่ขาดแคลน คือ การกักตุนสินค้าของประชาชน กรณีนี้สินค้าไม่ได้ขาดแคลน ดังนั้นผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องซื้อกักตุน ให้ซื้อเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ส่วนกรณีที่ระบุว่า ผู้ประกอบการยังมีกำไรจากการส่งออก ทำให้กรมการค้าภายในยังไม่อนุมัติให้ปรับขึ้นราคานั้น ปัจจุบันมีกำไรจากการส่งออกไม่มากเพียง 5% เท่านั้น ส่วนการบริโภคภายในประเทศขณะนี้เริ่มปรับเพิ่มขึ้นเติบโต 3-5%

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ได้ติดตามสถานการณ์ต้นทุนราคาวัตถุดิบการผลิตบะหมี่มาตลอด และยอมรับว่าปัจจัยการผลิตหลายตัวมีการปรับขึ้นราคา แต่ผู้ผลิตก็ยังให้ความร่วมมือในการช่วยตรึงราคามาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 เป็นต้นมา ปัจจุบันยังไม่ได้อนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแต่อย่างใด โดยได้ติดตามดูแลราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด หากพบการฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าขายแพงเกินจริง จะถูกดำเนินคดี จำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท

“ต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป ดูต้นทุนทั้งที่เพิ่มขึ้นและลดลง ยังบอกไม่ได้ว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อไหร่ ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ดูว่าความสมดุลอยู่ตรงไหน ผู้ประกอบการต้องอยู่ได้ ผู้บริโภคต้องได้รับผลกระทบไม่มากเกินไป ตามหลักการวินวินโมเดล โดยจะพิจารณาเป็นรายสินค้า  ทั้งนี้ยอมรับว่าต้นทุนแป้งสาลีและพลังงานปรับเพิ่มขึ้น แต่ต้องดูว่าต้นทุนที่เพิ่มมีสาระสำคัญขนาดต้องปรับขึ้นราคาจำหน่ายหรือไม่ “

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขอขึ้นราคา จากซองละ 6 บาทเป็น 8 บาทว่า ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเมื่อ 10 กว่าปีได้ขอปรับขึ้นราคาจากซองละ 5 บาทเป็นซองละ 6 บาท หรือประมาณปี 2551 ซึ่งล่วงเลยมา 14 ปีแล้ว และได้มีการขอปรับราคามาอีก ตั้งแต่ปีที่แล้วนี้ก็เกือบ 2 ปี แต่กรมการค้าภายในยังไม่อนุญาตเพราะต้องดูผลกระทบกับภาระของผู้บริโภคด้วย

แต่ตอนนี้ขอปรับจากซองละ 6 บาทขึ้นเป็นซองละ 8 บาท ส่วนตัวของตนคิดว่าอาจจะมากเกินไป ถ้าสูงขนาดนี้จะกระทบผู้บริโภค ผู้มีรายได้น้อยมากเกินสมควร แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับกรมการค้าภายในที่จะต้องไปดูต้นทุน เข้าใจว่าวิเคราะห์ต้นทุนทั้งหมดเสร็จแล้ว ซึ่งให้นโยบายไปว่าถ้าจะต้องปรับราคาขึ้นต้องเป็นตามต้นทุนที่สูงขึ้นจริงและให้เดือดร้อนกับผู้บริโภคให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ ไม่ต้องถึงภาวะขาดทุนและหยุดการผลิตหรือส่งออกอย่างเดียว เพราะตลาดต่างประเทศราคาดีกว่า

“เพื่อให้ผู้บริโภคมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบริโภคต่อไป โดยอธิบดีกรมการค้าภายในจะเป็นผู้พิจารณาและถ้าต้องขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริง ถ้าต้นทุนปรับลดลงมา จะต้องมีการปรับราคาลงมาด้วย ให้กรมการค้าภายในติดตามสถานการณ์ต้นทุนโดยใกล้ชิด ขณะนี้ต้องยอมรับความจริงว่าต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ค่าขนส่งและต้นทุนการผลิตที่เป็นวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลีและน้ำมันพืช เป็นต้น”