กรุงศรี คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ 35.60-36.20 บาท/ดอลลาร์ รอ ปธ.เฟดสปีช

เจอร์โรม พาวเวลล์ ประธานเฟด

กรุงศรี คาดค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 35.60-36.20 บาทต่อดอลลาร์ ลุ้นสุนทรพจน์ประธานเฟดในงานสัมมนาวิชาการที่เมือง Jackson Hole ช่วงท้ายสัปดาห์ชี้สัญญาณการปรับดอกเบี้ย ขณะที่ปัจจัยในประเทศคาดแบงก์ชาติทยอยขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไป

วันที่ 22 สิงหาคม 2565 กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรุงศรี มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ (22-26 ส.ค.) ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.60-36.20 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 35.66 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 35.25-35.78 บาท/ดอลลาร์

ทั้งนี้ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลายรายเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวต่อไป ขณะที่เฟดเปิดเผยรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 26-27 กรกฎาคม ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นที่จะขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับสูงเท่าที่จำเป็น

แม้เฟดเริ่มเห็นว่าอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไป เนื่องจากเฟดต้องใช้เวลาในการประเมินว่าการคุมเข้มนโยบายกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง

โดยผู้ร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่ได้สะท้อนถึงผลกระทบส่วนใหญ่จากการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา และเจ้าหน้าที่เฟดยังตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้ภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลง แต่ตลาดแรงงานยังคงอยู่ในภาวะแข็งแกร่งและอัตราการว่างงานอยู่ใกล้จุดต่ำสุด

นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อโลกกลับมาอีกครั้งหลังเยอรมนีรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนกรกฎาคมพุ่งขึ้น 37.2% ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคของอังกฤษเพิ่มขึ้น 10.1% สูงสุดรอบ 40 ปี โดยธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างมากต่อไปซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 24,208 ล้านบาท และ 436 ล้านบาท ตามลำดับ

โดยกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีคาดว่าเงินดอลลาร์จะได้แรงหนุนต่อเนื่องก่อนสุนทรพจน์ของประธานเฟดในงานสัมมนาวิชาการที่เมือง Jackson Hole ช่วงท้ายสัปดาห์ โดยเฟดมักใช้เวทีดังกล่าวในการส่งสัญญาณนโยบายการเงิน

นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาค่าเงินหยวนที่อ่อนลง ข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2 และค่าใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของยูโรโซน ขณะที่แรงกดดันด้านขาลงต่อค่าเงินยูโรเพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงเรื่องภาวะการขาดแคลนพลังงานและภูมิอากาศแปรปรวน

สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/65 ที่เติบโต 2.5% (เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน) ต่ำกว่าที่ ธปท.คาด แต่ยังมั่นใจว่าการฟื้นตัวจะดำเนินต่อไป

ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นแต่ผลกระทบต่อไทยยังจำกัด สนับสนุนมุมมองของกรุงศรี ที่ว่าทางการจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปตลอด 2-3 ไตรมาสข้างหน้า