วิธีจัดการเงิน กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ก่อนวัน “เกษียณอายุ”

เงิน เกษียณ
คอลัมน์ : นอกรอบ

ย่างเข้าสู่เดือนกันยายนต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี นับเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสําคัญของผู้ที่กําลังจะเข้าสู่ชีวิตเกษียณอายุ ซึ่งเป็นอีกช่วงหนึ่งของชีวิตที่มีความท้าทายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชีวิตในช่วงก่อนหน้า โดยสิ่งหนึ่งที่สําคัญที่ควรเตรียมการก่อนวันเกษียณคือ การบริหารจัดการเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ

บริหารเงิน+บริหารสุขภาพ

นางศิษฏศรี นาคะศิริ ผู้อํานวยการฝ่ายกํากับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นำเสนอบทความ “การจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเกษียณอายุ” ว่าปัจจัยสําคัญที่ต้องเตรียมพร้อมก่อนวันเกษียณ เพราะผู้เกษียณอายุส่วนใหญ่จะไม่มีรายได้ประจําแล้ว แต่ยังคงมีรายจ่ายประจําที่จําเป็นสําหรับการดํารงชีพ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่ไม่อาจคาดการณ์ได้

โดยสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประมาณการว่า เงินออมขั้นต่ำที่ควรมี ณ วันเกษียณอายุ 60 ปี และใช้ไปจนถึงอายุ 90 ปี คือ 3.1 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอสําหรับค่าใช้จ่ายเดือนละ 8,600 บาท แต่ถ้ามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนมากกว่า ก็ยิ่งจําเป็นที่จะต้องเก็บออมเงินมากขึ้น

และหากมีอายุยืนยาวก็จะยิ่งมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นอีก ข้อมูลสถิติปี 2565 พบว่าชายไทยมีอายุเฉลี่ย 74.39 ปี หญิงไทยมีอายุเฉลี่ยถึง 80.6 ปี นอกจากนี้ ข้อมูลปี 2562 ระบุว่าค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงและติดบ้านมีจํานวนถึงปีละ 2.3 แสนบาท และ 1.2 แสนบาท ตามลําดับ

ดังนั้น ในการเตรียมความพร้อมเพื่อการเกษียณ นอกจากการให้ความสำคัญกับการเก็บออมและบริหารจัดการเงินแล้ว ยังควรใส่ใจกับการดูแลสุขภาพ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในวัยเกษียณ

แหล่งรายได้หลังเกษียณ

เมื่อเกษียณอายุ แต่ละคนจะได้รับเงินจากหลายแหล่งแตกต่างกัน อาทิ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” จากรัฐบาลเดือนละ 600-1,000 บาท ตั้งแต่อายุ 60 ปีจนกระทั่งเสียชีวิต “เงินบําเหน็จจากนายจ้าง” กรณีทํางานกับบริษัทเอกชน หรือหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน ซึ่งจํานวนเงินที่ได้รับขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทํางานและเงินเดือน

“เงินบําเหน็จบํานาญชราภาพ” จากกองทุนประกันสังคม ซึ่งปัจจุบันการจะได้รับเงินเป็นก้อน (เงินบําเหน็จ) หรือทยอยรับเงินเป็นรายเดือนตลอดชีวิต (เงินบํานาญ) ขึ้นอยู่กับระยะเวลานําส่งเงินเข้ากองทุน โดยสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน

แหล่งเงินออมเพื่อการเกษียณอีกก้อนที่สําคัญคือ “เงินกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ” (provident fund หรือ PVD) ซึ่งจะได้รับเงินสะสมของตนเอง และเงินสมทบที่นายจ้างนําส่งเข้ากองทุนพร้อมดอกผล ในช่วงที่เป็นสมาชิกกองทุน หากผู้ที่เกษียณตอนอายุครบ 55 ปีขึ้นไป และเป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่อง จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินกองทุนทั้ง 4 ส่วน (เงินสะสม ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบ)

แต่หากอายุเกษียณน้อยกว่า 55 ปี ก็ควรคงเงินไว้ในกองทุนสํารองเลี้ยงชีพต่อไป จนกว่าจะเข้าเงื่อนไขที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรืออาจโอนเงินไปลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่รับโอนเงินจากกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ หรือที่เรียกว่า RMF for PVD ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทจัดการ 9 แห่งที่ให้บริการกองทุนดังกล่าว ด้วยนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย เช่น ลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุน เป็นต้น จนเมื่อครบกําหนดระยะเวลาตามเงื่อนไขภาษีแล้ว จึงค่อยพิจารณาทางเลือกในการบริหารจัดการเงินกองทุนต่อไป

วิธีจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เมื่อเกษียณอายุ เพื่อนสมาชิกมีตัวเลือกในการจัดการเงินกองทุนหลายวิธี หากสมาชิกกองทุนมีแหล่งรายได้อื่นสําหรับใช้จ่ายในชีวิตประจําวัน สามารถเลือกวิธีการคงเงินทั้งหมดไว้ในกองทุน เพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องต่อไป และมีโอกาสทําให้ผลตอบแทนงอกเงยเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันการคงเงินไว้ในกองทุนจะมีค่าใช้จ่าย 500 บาทต่อปี

ในกรณีที่จําเป็นต้องนําเงินจากกองทุนออกมาเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ก็อาจเลือกวิธีการทยอยรับเงินเป็นงวด เช่น รายไตรมาส รายครึ่งปี หรือรายปี ขึ้นอยู่กับความจําเป็น รวมทั้งข้อกําหนดของบริษัทจัดการ

วิธีการทยอยรับเงินถือว่าจะเป็นวิธีการบริหารจัดการเงินที่มีข้อดีอยู่มาก คือนอกจาก จะทําให้มีวินัยในการใช้จ่ายเงินก้อนสุดท้ายของชีวิตแล้ว ยังทําให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง เป็นการสร้างโอกาสให้เงินสามารถออกดอกออกผลต่อไปได้ เป็นงวดยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 มีสมาชิกที่รับเงินเป็นรายงวดมูลค่า 29,728 ล้านบาท หรือประมาณ 2% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของเงินกองทุนในส่วนของสมาชิกที่เกษียณแล้ว

ทางเลือกวิธีสุดท้ายคือ “การถอนเงินจากกองทุนออกมาทั้งหมด” วิธีการนี้อาจไม่เหมาะสําหรับผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการนําไปลงทุนด้วยตนเอง หรือมีวินัยในการใช้เงินไม่ดีนัก ซึ่งหากเลือกใช้วิธีนําเงินไปฝากกับธนาคารพาณิชย์ ผลตอบแทนที่ได้รับมักจะต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งก็คือต่ำกว่าระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง และหากไม่มีวินัย หรือขาดการวางแผนการใช้เงิน มีโอกาสที่เงินจะหดหายจนไม่พอใช้ ประกอบกับการถอนเงินออกจากกองทุน ในช่วงที่ภาวะตลาดการลงทุนมีความผันผวน เป็นการสร้างความเสี่ยงที่จะทําให้เงินออมมีมูลค่าลดลงยิ่งขึ้นไปอีก


สุดท้ายนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เพื่อนสมาชิกที่ใกล้เกษียณอายุจะสามารถบริหารจัดการเงินกองทุน และวางแผนการใช้เงินในยามเกษียณได้อย่างเหมาะสม รวมถึงใช้โอกาสที่ได้รับจากช่วงชีวิตใหม่นี้ ให้เป็นของขวัญชิ้นสําคัญแก่ตนเองและผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองและลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล นําเงินที่ได้เก็บออมไปเติมเต็มความต้องการและความฝันของตน ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนสํารองเลี้ยงชีพเพิ่มเติมได้ที่ www.ThaiPVD.com