เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย ไปสูงสุดที่จุดไหน ?

เฟด
คอลัมน์ : นั่งคุยกับ ห้องค้า
ผู้เขียน : กฤติกา บุญสร้าง กอบสิทธิ์ ศิลปชัย, CFA ธนาคารกสิกรไทย

วันที่ 21 กันยายน 2022 ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 75bps เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน พร้อมส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่องในระยะข้างหน้า และเปิดเผย dot plot คาดการณ์ดอกเบี้ยปีนี้และปีหน้าสูงขึ้นและคงอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด

ทำให้ตลาดปรับคาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่องในการประชุม 2 ครั้งที่เหลือของปี พร้อมการตั้งคำถามว่าจุดสูงสุดของการขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้จะอยู่ที่จุดไหน ?

“We will keep at it until the job is done.” ประโยคโพเวลกล่าวย้ำหลายครั้ง ส่งสัญญาณถึงการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในอนาคต และเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการจัดการเงินเฟ้อเป็นอันดับแรก พร้อมทั้งส่งสัญญาณว่าพร้อมจะ “เสียสละ” เศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องได้รับ “ความเจ็บปวด”

แลกกับการกดให้เงินเฟ้อต่ำลงเข้าสู่เป้าหมายของเฟดที่ 2% แม้เฟดจะไม่มั่นใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งสะท้อนผ่านคำพูดที่เฟดเน้นย้ำอยู่บ่อยครั้งว่า “data dependent” หมายความว่าเฟดจะอ้างอิงจากข้อมูลเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าเป็นสำคัญ

จากท่าทีของเฟดทั้งหมด อาจตีความได้ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่องอย่างน้อยมากกว่า 4% ไปจนถึงระดับสูงที่ไม่ได้เห็นมากว่า 15 ปี และไปจนถึงจุดที่เศรษฐกิจสหรัฐรับไม่ไหว เพื่อกดดันเงินเฟ้อให้ลดลงต่ำกว่าระดับ 2% ในครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่ายาแรงครั้งนี้ของเฟด

อาจจะแรงเกินไปกับการต่อสู้กับ “เงินเฟ้อในอดีต” และการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ใช้ระยะเวลานานในการส่งผ่านเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจริง ในกรณีเลวร้าย ยาแรงนี้อาจกดดันให้เงินเฟ้อสหรัฐพลิกติดลบอีกครั้งในระยะ 2 ปีข้างหน้า เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างสมบูรณ์

นอกจากนี้ ประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐเป็นอีกสิ่งที่น่ากังวล จากก้อนหนี้ที่ใหญ่ขึ้นต่อเนื่อง ทุก ๆ การขึ้นดอกเบี้ย 25 bps ของเฟดในปัจจุบันนี้ จะเพิ่มมูลค่าหนี้สาธารณะสหรัฐ 77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงขึ้น 33% เมื่อเทียบกับ 58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงก่อนการเกิดโควิด-19

ด้านเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ของเฟดและธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลกเป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจต่อการตั้งคำถาม ว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ในกำหนดใช้เป็นระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จะเหมาะสมกับในทุกช่วงเวลาของเศรษฐกิจ

และบริบทของเศรษฐกิจในปัจจุบันหรือไม่ ด้วยความที่เศรษฐกิจมีวัฏจักรทั้งการขยายตัวและหดตัว (economic cycle) ที่แตกต่างกันไป ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ และต้นเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจในแต่ละครั้งที่แตกต่างกันไปตามช่วงเวลา

อย่างไรก็ดี ในเมื่อ KPI ของเฟดคือการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ดังนั้น ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐคงจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่เฟดพยายามจะชดเชยความสูญเสียด้วยการทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าจากการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

ทำให้ชาวอเมริกันที่นำเข้าสินค้ามากกว่าการส่งออก ได้รับผลบวกจากดอลลาร์ที่แข็งค่า และช่วยลดเงินเฟ้อนำเข้าส่วนหนึ่ง ในขณะที่ค่าเงินสกุลอื่นทั่วโลกได้รับผลกระทบในทางตรงกันข้าม คือ ปรับตัวอ่อนค่าลง และได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อนำเข้าที่เพิ่มขึ้น จนส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจของประเทศตามลำดับ

ในขณะที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ทั่วโลกจำใจต้องขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด ด้วยกลัวว่าค่าเงินจะอ่อนค่าหนัก ดังเช่น บีโอเจที่คงดอกเบี้ยติดลบต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่ปี 1998 จนรัฐบาลญี่ปุ่นต้องประกาศแทรกแซงค่าเงินให้แข็งค่าอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1998

ในท้ายที่สุด อาจนำไปสู่การที่ธนาคารกลางหลายประเทศร่วมกันแทรกแซงค่าเงิน (concert intervention) เหมือนที่เคยเกิด The Plaza Accord ขึ้นในปี 1985