รีไฟแนนซ์บ้านล็อกต้นทุนพุ่ง แบงก์แข่งดุ “ดอกเบี้ยพิเศษ”

ตลาดรีไฟแนนซ์บ้านแข่งเดือด ลูกค้าแห่ช็อปดอกเบี้ยถูกล็อกต้นทุนแบงก์ให้ส่วนลดพิเศษหลังไมค์รักษาฐานลูกค้า ขณะที่สินเชื่อบ้านใหม่โตอืด ตลาดแข่งดอกเบี้ย 3 ปีแรก 2.3-2.6% “ทีทีบี” ชี้ไตรมาส 2/65 สินเชื่อรีไฟแนนซ์ทั้งระบบพุ่ง 27% ผู้บริโภควางแผนหนีดอกเบี้ยสูง กรุงศรีฯอัดแคมเปญ “ซุปเปอร์เซฟวิ่ง” สู้

รีไฟแนนซ์บ้านแข่งเดือด

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ธนาคารเห็นสัญญาณการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าที่เข้ามาขออัตราดอกเบี้ยพิเศษกับธนาคารมีเพิ่มขึ้น จากปกติลูกค้ากลุ่มนี้จะมีสัดส่วนเพียง 10-20% ปัจจุบันพบว่ามีลูกค้าขอดอกเบี้ยพิเศษสัดส่วนสูงกว่า 50% ของสินเชื่อรีไฟแนนซ์ หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งคาดว่าการประชุม กนง. วันที่ 28 กันยายนนี้ จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.75% และคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 1-1.25% ต่อปี

โดยปัจจุบันตลาดรีไฟแนนซ์มีการแข่งดอกเบี้ยพิเศษกันเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 2.3-2.6% ซึ่งในแง่ของลูกค้าก็เป็นการล็อกดอกเบี้ยให้ต่ำไว้ก่อน เพราะไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดของดอกเบี้ยแล้ว

“ประเด็นตอนนี้ คือ ลูกค้าเข้ามาขอดอกเบี้ยพิเศษหลังบ้านกับแบงก์เพิ่มขึ้นมาก เช่น ดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์หน้าบ้านเสนออยู่ที่ 2.4-2.5% แต่ลูกค้าก็อาจขอเซลลดเหลือ 2.3% ซึ่งแบงก์ก็ต้องยอม เพราะการแข่งขันที่รุนแรงเพื่อรักษาฐานลูกค้า ซึ่งปกติลูกค้าจะยื่นขอสินเชื่อธนาคาร 3 แห่ง ในกรณีถูกปฏิเสธหนึ่งแห่ง ก็มีอีก 2 แห่งไว้เลือกดอกเบี้ยถูก ขณะที่แบงก์เองก็แข่งขันในตลาดนี้มากขึ้น เพราะสินเชื่อบ้านใหม่ยังโตค่อนข้างช้า”

เร่งหนี้ดอกเบี้ยแพง

นายจเร เจียรธนะกานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารทหารไทยธนชาต และกรรมการผู้จัดการ ทีทีบี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการรีไฟแนนซ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารมีสัญญาณเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20% มาจาก 2 ปัจจัย ทั้งลูกค้าต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายจากสถานการณ์เงินเฟ้อและค่าครองชีพปรับสูงขึ้น

และส่วนหนึ่งมาจากดอกเบี้ยที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น แม้ว่าปัจจุบันทุกธนาคารยังคงดอกเบี้ยไว้ แต่หากการประชุม กนง.ประกาศขึ้นดอกเบี้ยในวันที่ 28 ก.ย.นี้ และธนาคารมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยตระกูล M (MLR-MRR-MOR) ก็น่าจะเห็นตลาดรีไฟแนนซ์เติบโตมากขึ้นเพื่อหนีดอกเบี้ยสูง

ทั้งนี้ หากดูข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ภาพรวมตลาดสินเชื่อรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยในไตรมาส 2/65 มีอัตราการเติบโต 27% โดยมียอดสินเชื่อปล่อยใหม่รีไฟแนนซ์อยู่ที่ 21,526 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ 16,931 ล้านบาท และยอดสินเชื่อรีไฟแนนซ์ในปี 2564 อยู่ที่ 60,812 ล้านบาท คาดว่าระยะข้างหน้าจะเห็นการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยทีทีบีตั้งเป้าสินเชื่อรีไฟแนนซ์ปีนี้อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่ง 8 เดือนแรกทำได้แล้ว 7,000 ล้านบาท ทั้งปีน่าจะทำได้ตามเป้า

“หากดูสัญญาณอัตราดอกเบี้ยเรตพิเศษที่แข่งขันในตลาดรีไฟแนนซ์ 3 ปีแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7-2.8% ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร และโครงการบ้าน บางรายอาจจะเสนอต่ำกว่าตลาดได้ ส่วนทีทีบีเสนอ 3 ปีแรกอยู่ที่ 2.75% ถือว่าอยู่ในอันดับ 3-5 ของตลาดรีไฟแนนซ์ และมีทั้งลูกค้ารีไฟแนนซ์เข้าและขอรีไปที่อื่น แต่โดยรวมยังเพิ่มขึ้นราว 10-20%”

สินเชื่อบ้านใหม่ชะลอตัว

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มตลาดรีไฟแนนซ์บ้านในช่วง 8 เดือนแรกมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง สะท้อนจากตัวเลขสัดส่วนสินเชื่อปล่อยใหม่ที่อยู่อาศัย พบว่า เป็นลูกค้าที่เข้ามาขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์สูงถึง 75% จากปกติจะอยู่ที่ 60% ส่วนหนึ่งมาจากดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้ลูกค้ารีบตัดสินใจรีไฟแนนซ์ไว้ก่อนที่ดอกเบี้ยจะปรับขึ้น ขณะเดียวกันตลาดบ้านใหม่โตจำกัดจากปัจจัยเงินเฟ้อ-ค่าครองชีพสูง และคนชะลอตัดสินใจซื้อทรัพย์ชิ้นใหญ่

จากแนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้ก่อนเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าภายในสิ้นปีสินเชื่อจะจบอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท (สินเชื่อบ้านใหม่และรีไฟแนนซ์) หรือคิดเป็นการเติบโตประมาณ 70% จากปีก่อน ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อคงค้างจะอยู่ที่ราว 1 แสนล้านบาท

“ดอกเบี้ยขาขึ้น ลูกค้าจึงรีบตัดสินใจรีไฟแนนซ์ดอกเบี้ยต่ำไว้ก่อนดอกเบี้ยจะขึ้น โดยเรามีดอกเบี้ยเสนอในตลาดอยู่ที่ 3 ปีแรกเฉลี่ย 2.49% ซึ่งทั้งปีตลาดรีไฟแนนซ์ยังโตต่อเนื่อง และการแข่งขันของแบงก์จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน”

BAY ให้ส่วนลดดอกเบี้ย 40%

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้กิจกรรมรีไฟแนนซ์บ้านกลับมาขยายตัวมากขึ้น หลังจาก 2 ปีก่อนตลาดค่อนข้างนิ่ง ส่วนหนึ่งมาจากลูกค้าเร่งตัดสินใจก่อนดอกเบี้ยจะปรับขึ้น เพราะถ้าช้าดอกเบี้ยจะยิ่งสูง ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยที่แข่งขันในตลาดเฉลี่ย 3 ปีแรก 2% ปลาย ๆ หรือ 3% บวกลบ อย่างไรก็ดี กรุงศรีฯพยายามปรับตัวออกจากการแข่งขันด้วยดอกเบี้ย จึงเสนอผลิตภัณฑ์ “ซุปเปอร์เซฟวิ่ง” ให้ลูกค้านำเงินมาฝากและสามารถลดภาระดอกเบี้ยสูงสุด 40%


นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายหลัง กนง.มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าในไตรมาส 4 นี้ ธนาคารต่าง ๆ จะเริ่มทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ รวมถึงทยอยออกแคมเปญ สินเชื่อเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ เพื่อขยายฐานลูกค้า เช่นเดียวกับกสิกรไทยยังคงให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้ารีไฟแนนซ์ โดยนำข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้ามาวิเคราะห์ เพื่อจัดทำแคมเปญที่ตรงกับความต้องการ โดยในปีนี้ตั้งเป้าสินเชื่อรีไฟแนนซ์ 5,000 ล้านบาท